×

ใบหน้าอัมพาตเกิดจากโรคอะไรได้บ้าง รู้จักโรค Ramsay Hunt ที่นักร้องดังต้องเลื่อนคอนเสิร์ต

13.06.2022
  • LOADING...
โรค Ramsay Hunt

หลัง จัสติน บีเบอร์ นักร้องชาวแคนาดาต้องเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ต 3 งานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 เขาโพสต์คลิปชี้แจงผ่านอินสตาแกรมว่าเขาป่วยเป็นโรคที่ชื่อว่า ‘Ramsay Hunt Syndrome’ (รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม) ทำให้ไม่สามารถขยับใบหน้าข้างขวาได้ โรคนี้เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่ และอาการแบบนี้เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง

 

  1. หากใบหน้าอัมพาตหรือกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ซึ่งมักสังเกตได้จากอาการปากเบี้ยว โรคที่ต้องระวังเป็นอย่างแรกคือ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพราะเป็นโรคที่ต้องรีบรักษา โดยผู้ป่วยจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคนี้ออกไปก่อน หากไม่ใช่จะยังมีอีกหลายโรคที่เป็นไปได้

 

  1. โรคอื่นที่เป็นไปได้อาจแบ่งตามกลไกการเกิดโรค ได้แก่ โรคภูมิต้านตนเอง อุบัติเหตุที่กะโหลกศีรษะ หรือเนื้องอก แต่ที่พบบ่อยคือโรคติดเชื้อ ทำให้เส้นประสาทใบหน้าอักเสบ เช่น Bell’s Palsy (เบลล์พัลซี) ซึ่งสัมพันธ์กับไวรัสโรคเริม และ Ramsay Hunt Syndrome ซึ่งสัมพันธ์กับไวรัสโรคอีสุกอีใส/งูสวัด

 

  1. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 จัสติน บีเบอร์ นักร้องชาวแคนาดาวัย 28 ปีชี้แจงผ่านอินสตาแกรมว่า เขาไม่สามารถขยับใบหน้าข้างขวาได้ “เหมือนที่คุณเห็น ผมกะพริบตาข้างหนึ่งไม่ได้ ผมยิ้มข้างหนึ่งของใบหน้าไม่ได้ จมูกข้างหนึ่งก็ขยับไม่ได้ โดยตอนนี้ผมอัมพาตครึ่งหน้า” เขากล่าวผ่านคลิปหลังต้องเลื่อนทัวร์คอนเสิร์ตในช่วงนี้เพื่อรักษาตัว

 

  1. ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น Ramsay Hunt Syndrome คือ ‘โรคงูสวัดที่บริเวณหู’ โรคงูสวัดเป็นการกำเริบของไวรัสอีสุกอีใสที่เคยติดมาก่อนหน้า ซึ่งไวรัสจะแฝงอยู่ตามปมประสาทแล้วกำเริบขึ้นมาในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นผื่นขึ้นตามผิวหนังที่เชื่อมกับปมประสาทนั้นๆ มักพบตุ่มน้ำใสเป็นปื้นตามลำตัว แต่ Ramsay Hunt Syndrome จะพบที่หู

 

  1. บริเวณนี้มีปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า รับรู้ความรู้สึกบริเวณหูและรับรสจากลิ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ปวดหู และตุ่มน้ำใสในรูหู/ใบหู อาการอื่น เช่น เสียงดังในหู หูหนวก คลื่นไส้/อาเจียน/บ้านหมุน เพราะปมประสาทนี้อยู่ใกล้กับเส้นประสาทคู่ที่ 8 (รับรู้การได้ยินและการทรงตัว) 

 

  1. การกำเริบของไวรัสมีสมมติฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกับโรคงูสวัดที่ตำแหน่งอื่น ได้แก่ ความเครียด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง อายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามโรคนี้พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 5 รายต่อประชากร 1 แสนราย ในขณะที่โรค Bell’s Palsy พบได้บ่อยกว่า (15-30 รายต่อประชากร 1 แสนคน)

 

  1. ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายกลับมาเป็นปกติ โดยการรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) การรักษาด้วยยา แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัส 7-10 วัน และยาลดการอักเสบ และ 2) การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด การใช้น้ำตาเทียมและเทปปิดเปลือกตาเวลานอนเพื่อป้องกันกระจกตาบาดเจ็บ การทำกายภาพบำบัดหรือกระตุ้นด้วยไฟฟ้าเพื่อลดอาการกล้ามเนื้อลีบ 

 

  1. การป้องกันโรคนี้สำหรับทุกคนคือดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จัดการความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เด็กโตและผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใส ซึ่งในประเทศไทยยังเป็นวัคซีนทางเลือกและมีราคาแพง ส่วนผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปอาจฉีดวัคซีนโรคงูสวัด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising