×

สำรวจตลาด ‘งานศิลปะ’ ของสะสมขวัญใจมหาเศรษฐี

11.06.2022
  • LOADING...
งานศิลปะของมหาเศรษฐี

หนึ่งในของสะสมของมหาเศรษฐีทั่วโลกจะต้องมีงานศิลปะรวมอยู่ในนั้น เหตุผลไม่ใช่แค่เพราะมันสร้างความสุนทรีย์และแสดงถึงรสนิยมชั้นดีของผู้เป็นเจ้าของ แต่ยังเป็นสินทรัพย์แหล่งพักเงินที่ทำกำไรได้ดี โดยสถิติจาก Wealth-X บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและหลักทรัพย์ รายงานว่ามหาเศรษฐีระดับพันล้านจะเป็นเจ้าของผลงานศิลปะโดยเฉลี่ย 0.5% ของทรัพย์สินทั้งหมด และเมื่อดูสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา งานศิลปะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.9% ต่อปีตามรายงานของ Artprice.com

 

อย่างไรก็ดีตามรายงานของ Art Basel ในปี 2020 สถานการณ์โรคระบาดทำให้ยอดขายงานศิลปะทั่วโลกลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี และกลับมาสดใสอีกครั้งเมื่อปีที่แล้วด้วยยอดขาย 2.24 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 29% จากปี 2020 และสูงกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดเสียอีก โดยในปัจจุบันตลาดที่ใหญ่ที่สุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 43% ของยอดขายทั่วโลก ตามมาด้วยจีนที่ประมาณ 20% และสหราชอาณาจักร 17% โดยการสำรวจของ Arts Economics และ UBS Investor Watch จากกลุ่มตัวอย่างนักสะสม 2,339 คน พบว่าในปี 2021 นักสะสมใช้เงินไปกับงานศิลปะและวัตถุโบราณเฉลี่ยสูงถึง 9.4 โดยกลุ่มมิลเลนเนียลจะใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ 8.6 ล้านบาท กลุ่ม Gen X ที่ราวๆ 10.2 ล้านบาท ส่วนบูมเมอร์ซื้อน้อยแต่ซื้อหนักอยู่ที่ราวๆ 11.9 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าถึงจะเป็นของสะสมเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เป็นกลุ่มที่กระเป๋าหนักทีเดียว 

 

J. Tomilson Hill อดีตผู้บริหารบริษัทกองทุน Blackstone Group คือหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในงานศิลปะ โดยเป็นเจ้าของคอลเล็กชันงานศิลปะที่มีมูลค่าสูงกว่าที่เขาเคยซื้อมา 2-3 เท่าตัว และหนึ่งในคอลเล็กชันของเขาคือภาพ Soup Can วาดด้วยมือของ Andy Warhol ที่ซื้อมาในปี 1996 ด้วยราคา 11.7 ล้านบาท แต่ในปี 2010 ภาพนี้มีราคาพุ่งขึ้นไปสูงถึง 310 ล้านบาท เขาแนะนำนักสะสมมือใหม่เลือกซื้อภาพจากภาพที่ชอบ และอย่าคิดแค่จะลงทุนเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้วิตกอยู่กับราคาที่ขึ้น-ลงจนเผลอปล่อยขายไปในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ในขณะเดียวกันเขาก็เลือกที่จะรวบรวมผลงานของศิลปินคนเดียว ดีกว่ากว้านซื้อภาพของศิลปินชื่อดังทุกๆ คน และที่สำคัญคือต้องรู้ว่ามีใครที่สะสมผลงานของศิลปินคนนั้นๆ อยู่บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในวันที่คิดจะขายต่อ 

 

สำรับคนที่ยังมีทุนน้อย การหาข้อมูลและมองการณ์ไกลก็อาจทำกำไรมหาศาลได้จากงานศิลปะ อย่างเช่น Uli Sigg อดีตนักการทูตชาวสวิสที่ทำงานอยู่ในประเทศจีนในช่วงปลายยุค 90 จึงเริ่มสะสมผลงานศิลปะร่วมสมัยของจีน โดยเป็นเจ้าของผลงานกว่า 2,500 ภาพ ในจำนวนนั้นเป็นผลงานชื่อดังอย่าง Ai Weiwei, Zhang Xiaogang และ Zeng Fanzhi ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีชื่อเสียง โดยภาพที่แพงที่สุดที่ซื้อมีราคาราวๆ 3 แสนบาท แต่ปัจจุบันภาพเหล่านั้นเป็นที่ต้องการทั้งในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง และในจีนเอง ทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปสูงถึงหลักหลายสิบล้านบาท ดังนั้นสำหรับนักสะสมชาวไทยมือใหม่อาจลองมองหาผลงานดีๆ จากฝีมือนักศึกษา ก็ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งภาพนั้นอาจทำกำไรให้คุณได้มหาศาลเหมือนกัน 

 

David Geffen 

ผู้ร่วมก่อตั้ง DreamWorks SKG

 

งานศิลปะของมหาเศรษฐี

 

David Geffen คือมหาเศรษฐีที่อยู่เบื้องหลังบริษัทบันเทิงใหญ่ๆ ของฮอลลีวูด ในปี 2006 เขาเคยสร้างความฮือฮาด้วยการขายภาพจำนวน 4 ภาพด้วยมูลค่าสูงถึง 1.45 หมื่นล้านบาท และหนึ่งในภาพนั้นก็คือ Number 5, 1948 ของ Jackson Pollock ที่ขายไปในราคา 4.8 พันล้านบาท นับเป็นภาพเขียนที่ราคาสูงที่สุดติดอันดับท็อปของโลก ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นเจ้าของคอลเล็กชันงานศิลปะที่มีมูลค่าสูงถึง 7.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของเขา 

 


 

François Pinault

ประธานและซีอีโอ Kering Group เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Gucci, Saint Laurent, Balenciaga ฯลฯ 

 

งานศิลปะของมหาเศรษฐี

 

มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสเจ้าของทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท เขาขึ้นชื่อว่าหลงใหลในงานศิลปะเอามากๆ โดยใช้เวลาสะสมมายาวนานมากกว่า 30 ปี และเป็นเจ้าของงานศิลปะกว่า 10,000 ชิ้นจากศิลปินราว 380 คน ทั้งผลงานของศิลปินดังๆ อย่าง Charles Ray, Damien Hirst, Jeff Koons และ Marlene Dumas รวมๆ แล้วมีมูลค่ากว่า 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราวๆ 3.7% ของทรัพย์สินทั้งหมด ปัจจุบันคอลเล็กชันงานศิลปะบางส่วนถูกจัดแสดงในแกลเลอรีส่วนตัวของเขาทั้งในเวนิสและฝรั่งเศส โดยเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชม นอกจากนี้ François Pinault ยังเป็นเจ้าของสถาบันการประมูลยักษ์ใหญ่อย่าง Christie’s อีกด้วย

 


 

Uli Sigg 

อดีตนักการทูต เจ้าของคอลเล็กชันภาพศิลปินจีนร่วมสมัย

 

งานศิลปะของมหาเศรษฐี

 

Uli Sigg เป็นนักธุรกิจ นักการทูต และนักสะสมงานศิลปะชาวสวิส เคยทำงานเป็นทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศจีน เกาหลีเหนือ และมองโกเลีย ตั้งแต่ปี 1995-1998 ปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ เขาเป็นเจ้าของคอลเล็กชันงานศิลปะร่วมสมัยของจีนกว่า 2,000 ชิ้น ต่อมาในปี 2012 ได้บริจาคผลงานจำนวน 1,463 ชิ้น มูลค่าราวๆ 5 พันล้านบาท ให้กับพิพิธภัณฑ์ M+ ในฮ่องกง และเก็บผลงานเอาไว้เพียง 300 ชิ้น

 


 

Bernard Arnault 

ประธานและซีอีโอของ LVMH เจ้าของแบรนด์ดัง Louis Vuitton, Dior, Moet & Chandon ฯลฯ

 

งานศิลปะของมหาเศรษฐี

 

มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศสและยุโรปด้วยทรัพย์สินมูลค่า 4.7 ล้านล้านบาท ขึ้นชื่อว่าเป็นนักสะสมงานศิลปะตัวยง แม้จะไม่เปิดเผยว่ามีจำนวนเท่าไร และไม่ค่อยได้ถูกนำมาออกแสดง ต่อมาในปี 2014 เขาเปิด Fondation Louis Vuitton เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์และการดูแลศิลปะร่วมสมัย จึงทำให้คนทั่วไปได้เห็นบางส่วนของคอลเล็กชันของเขา โดยในเว็บไซต์มีการจัดแสดงผลงานราวๆ 360 ชิ้นจาก 120 ศิลปิน โดยในจำนวนนั้นมีผลงานของศิลปินดังๆ อย่าง Claude Monet, Pablo Picasso, Andy Warhol, Yves Klein และ Henry Moore 

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising