×

หุ้นกลุ่มธนาคาร-ผลกระทบจากการปรับสมมติฐานดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น

10.06.2022
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มธนาคาร

เกิดอะไรขึ้น:

SCBS ปรับสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 1% ณ สิ้นปี 2565 (ปรับขึ้น 50 bps ใน 2H65) และจาก 1% เป็น 2% ณ สิ้นปี 2566 (ปรับขึ้น 100 bps ในปี 2566) เพื่อสะท้อนโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงกว่าคาด ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด 

 

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ในการประชุมวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่มีสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงกว่าคาด เนื่องจากในการประชุมครั้งนี้ กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม โดย กนง. ระบุว่า ‘การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า’ และ ‘คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย’

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 4.9% เป็น 6.2% และปรับประมาณการ GDP ปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 3.2% เป็น 3.3% (หลักๆ เกิดจากอุปสงค์ภายในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ซึ่งเอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

SCBS คาดว่าธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่เท่ากัน สำหรับ 2H65 ใช้สมมติฐานการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 bps, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR, MOR และ MRR) 25 bps, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 50 bps และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 25 bps 

 

สำหรับปี 2566 ใช้สมมติฐานการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 100 bps การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR, MOR และ MRR) 50 bps, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 100 bps และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เปลี่ยนแปลง 

 

โดยรวมแล้ว คาดว่าธนาคารขนาดใหญ่ (BBL, KTB, SCB และ KBANK) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่จะส่งผลกระทบค่อนข้างเป็นกลางต่อ Net Interest Margin (NIM) และธนาคารอื่นๆ จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตาม ในปี 2566 อัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะเพิ่มขึ้น 23 bps กลับสู่อัตราปกติที่ 0.46% ดังนั้น SCBS จึงคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้ครอบคลุมอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในปี 2566

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นบวกสำหรับธนาคารขนาดใหญ่ แต่จะเป็นลบสำหรับธนาคารที่มีเงินให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ (สินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล) ในสัดส่วนสูง และเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (CASA) ในสัดส่วนต่ำอย่าง TISCO, KKP และ BAY 

 

SCBS คาดว่า KTB และ KBANK จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะมีสัดส่วน CASA สูงกว่าธนาคารอื่นๆ สำหรับปี 2565 จึงคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีผลกระทบต่อกำไรของธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง แต่จะส่งผลกระทบ 1-2% ต่อกำไรของ TISCO, KKP, TTB และ BAY สำหรับปี 2566 ปรับประมาณการกำไรของธนาคารส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 2-10% แต่ปรับประมาณการกำไรของ BAY, KKP และ TISCO ลดลง 2-7%

 

กระทบอย่างไร: 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับเพิ่มขึ้น 0.59%MoM ขณะที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 0.84%MoM

 

กลยุทธ์การลงทุน:

SCBS มองว่าหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ (BBL, KTB, SCB และ KBANK) มี Valuation ไม่แพง ซึ่งปัจจุบันเทรดที่ระดับ -2SD P/BV และ -1SD P/E เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ขณะที่กำไรสุทธิของธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีแนวโน้มเติบโตดีในระดับ 19-34%YoY ในปี 2565 อย่างไรก็ดี คำแนะนำและราคาเป้าหมายยังคงเดิมไม่เปลี่ยนเปลง โดยจะรอดูผลประกอบการ 2Q65 และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนมาใช้ราคาเป้าหมายปี 2566

 

สำหรับหุ้นเด่นกลุ่มธนาคารยังคงเป็น BBL (มีความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่ำที่สุดและเป็นหุ้น Laggard Play) และ KBANK (ผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและสินเชื่อเติบโตโดดเด่น)

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X