×

ประธาน ‘สหพัฒน์’ ห่วงวิกฤตเงินเฟ้อ สงครามยืดเยื้อ วอนรัฐไฟเขียวขึ้นราคา ‘มาม่า-ผงซักฟอก’

10.06.2022
  • LOADING...
สหพัฒน์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากว่า 2 ปีเต็ม แม้จะเริ่มคลี่คลายไปแล้ว ยังมีปัจจัยของวิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ในไทย กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดงาน ‘สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26’ ว่าสถานการณ์ความขัดแข้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน สหพัฒน์ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบะหมี่สำเร็จรูป ‘มาม่า’ ที่ผลิตจากแป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แน่นอนว่าหากไม่ขยับราคา สหพัฒน์ต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างรออนุญาตจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้ได้ขอปรับราคาสินค้า โดยสินค้าหลายรายการ เช่น มาม่า และผงซักฟอก รวมถึงสินค้าอีกหลายรายการที่เป็นสินค้าควบคุม

 

โดยหากรัฐควบคุมการขึ้นราคาสินค้านานเกินไป ผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลงหรือชะลอการผลิต อาจทำให้เกิดการกักตุนสินค้า และท้ายที่สุดสินค้าก็ขาดตลาด แต่หากปล่อยให้ทยอยปรับขึ้นก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น โดยสหพัฒน์ได้พยายามสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องทำทีละสเต็ป เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับได้ และยอมรับว่าราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในต่างประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ขึ้นราคาหมดแล้ว ส่วนไทยคาดว่าเร็วๆ นี้ สินค้ากลุ่มบะหมี่สำเร็จรูป รวมถึง ‘มาม่า’ จะได้ปรับขึ้นแน่นอน แต่จะปรับขึ้นราคาเท่าไรนั้นต้องพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งขณะนี้ราคาวัตถุดิบยังมีความผันผวนต่อเนื่อง

 

ประธานเครือสหพัฒน์กล่าวต่อไปว่า วิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครนครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อ 26 ปีที่แล้วที่เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง และหนักกว่าโควิด เพราะโควิดคลี่คลายเร็ว 1-2 ปี แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วงมากที่สุดคือภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องตองจับตาดูต่อไป เพราะขึ้นอยู่กับสงครามยูเครนและรัสเซียจะจบเร็วหรือช้า ทั่วโลกต้องคอยรับมือหาหนทางแก้ไขปัญหา 

 

ขณะที่ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบ เพราะเศรษฐกิจไทยยังดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับต้นๆ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับตัวต่างๆ รวมไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคไทยมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น เพราะคนไทยปรับตัวได้ดี แต่จะฟื้นตัวช้าหรือเร็วนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้าน 

 

สำหรับแผนการลงทุนเครือสหพัฒน์ ต้องรอจังหวะ โฟกัสการลงทุนรูปแบบใหม่ให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ ซึ่งยังไม่ได้วางตัวเลขงบลงทุนเอาไว้ เพราะวิกฤตสงครามยังไม่จบ ต้องประเมินให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยตั้งแต่เจอโควิดมา สหพัฒน์ไม่มีการเซ็นสัญญาโปรเจ็กต์ใหม่ๆ กับนักลงทุนต่างชาติเลย จากก่อนโควิดจะมีการลงทุนใหม่เกิดขึ้นทุกปี ส่วนด้านการพัฒนาสินค้าต้องทำต่อเนื่อง จากนี้จะเน้นสินค้ากลุ่มเฮลท์แคร์และเวลเนส เพื่อสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ภาพรวมสหพัฒน์เริ่มกระเตื้องขึ้น แต่ยังไม่มาก ซึ่งรายได้ปี 2565 คาดว่าคงยังไม่กลับมาเทียบเท่ากับปีก่อนวิกฤตโควิด แม้ไตรมาส 1 จะเริ่มมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ก็มาจากอาหารการกินที่เติบโตเล็กน้อย ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ถึงจะกลับไปสร้างรายได้เท่ากับปีก่อนโควิดได้ เนื่องจากปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง ภาครัฐเปิดประเทศ ทำให้ครึ่งปีหลังเป็นต้นไปบรรยากาศการจับจ่ายจะเริ่มดีขึ้น 

 

และเพื่อช่วยลดค่าครองชีพผู้บริโภค ล่าสุดสหพัฒน์เตรียมจัดงาน สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 ภายใต้คอนเซ็ปต์  ‘ปลดล็อก ช้อปสวนกระแส’ ยกทัพสินค้าให้ช้อปทั้งออนไซต์และออนไลน์ โดยมีสินค้าแบรนด์ดังมาจำหน่ายราคาพิเศษ งานจะจัดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2565 ที่ไบเทค บางนา 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising