×

เจาะข้อมูลอัตราเงินเฟ้อไทย: เมื่อเริ่มกระจายตัวไปในวงกว้าง…

09.06.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

การรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างความประหลาดใจแก่ประชาชนและนักวิเคราะห์มากพอสมควร เนื่องจากการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อที่ 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 ถือเป็นอัตราการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงของอัตราเงินเฟ้อ บ่งบอกชัดเจนมากขึ้นถึงปัญหาความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต และก่อให้เกิดการพิจารณาเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศไทย 

 

เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและผลกระทบที่เกี่ยวข้องในอนาคต จึงขอนำข้อมูลเงินเฟ้อที่มีการรายงานออกมาล่าสุดที่พอจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในหลายๆ ด้านได้เป็นอย่างดี ในภาพรวม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 (%YoY) แต่ก็ถือว่าปรับตัวสูงด้วยเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราการขยายตัวเดือนต่อเดือน (%MoM) อยู่ที่ 1.4% แสดงให้เห็นการปรับตัวที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

ทั้งนี้หากพิจารณาหมวดหมู่สินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อของประเทศไทยจะพบว่า ในตะกร้าเงินเฟ้อสามารถแบ่งสินค้าออกเป็น 3 หมวดหมู่หลัก คือ กลุ่มการเดินทาง กลุ่มอาหาร และกลุ่มที่อยู่อาศัย ซึ่งข้อมูลในเดือนพฤษภาคมแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าในทุกหมวดหมู่ดังนี้ 

 

  1. สินค้ากลุ่มการเดินทาง น้ำมันเชื้อเพลิง ถือเป็นสินค้าสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านราคาค่อนข้างสูงในช่วงปีที่ผ่านมา โดยในเดือนพฤษภาคม ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.9% อันเป็นผลมาจากการยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ 

 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก พบว่าปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการคว่ำบาตรน้ำมันจากประเทศรัสเซีย ส่งผลให้น้ำมันทั่วโลกไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ในปีนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตลอดทั้งปี ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันของไทยยังมีราคาสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศที่ปัจจุบันยังได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันและการลดภาษีสรรพสามิต อาจจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอุดหนุนในอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานส่งผลกระทบต่อสินค้าในหมวดหมู่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น สินค้าในกลุ่มอาหาร ที่คิดเป็นสัดส่วนหลักสูงถึง 40% ของการคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทย พบว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในสินค้ากลุ่มอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.18% สูงกว่าเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 4.83% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าอาหารที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2555 ที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารเพิ่มขึ้น 7.07% 

 

  1. สินค้ากลุ่มอาหาร มีการเปลี่ยนแปลงราคาที่สูงขึ้น และกระจายวงกว้างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสินค้า 3 กลุ่มที่มีการปรับราคาสูงที่สุดในเดือนพฤษภาคม ได้แก่ น้ำมันประกอบอาหาร ปรับเพิ่มขึ้น 26%, เนื้อสัตว์ ปรับเพิ่มขึ้น 21.9% และไข่ไก่ ปรับเพิ่มขึ้น 21.8% และยังมีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น น้ำตาล (ปรับเพิ่มขึ้น 8.1%), เนื้อไก่สด (ปรับเพิ่มขึ้น 7.0%) และอาหารแปรรูป (ปรับเพิ่มขึ้น 6.6%) 

 

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อันเป็นต้นทุนหลักในอุตสาหกรรมอาหาร จึงประเมินได้ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อไป เนื่องจากต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมัน และธัญพืช จะยังคงมีราคาอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารในระดับโลกอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้าประเภทอาหารภายในประเทศ และก่อให้เกิดการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าได้อีกในอนาคต

 

  1. สินค้ากลุ่มที่อยู่อาศัย แม้เบื้องต้นระดับราคาของใช้ภายในบ้านมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1-2% ในขณะที่อัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากระดับเดิมมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงและกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก คือ ค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยดัชนีอัตราค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 45.4% ในขณะที่ดัชนีราคาค่าน้ำประปาปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.4% สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมี 2 ประการ คือ การปรับเพิ่มค่า FT ในปีนี้ที่ส่งผลให้ราคาค่าไฟปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในช่วงการระบาดของโรคโควิดในปี 2564 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลง 

 

หากพิจารณาว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 มีการสนับสนุนราคาค่าสาธารณูปโภคจากรัฐบาลเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด ประกอบกับสถานการณ์ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากปัญหาราคาน้ำมัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ดัชนีราคาค่าสาธารณูปโภคจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยจะส่งผลกระทบไปยังวงกว้าง ทั้งประชาชนผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ก็จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อภายในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่มีสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าในหลากหลายหมวดหมู่อีกด้วย โดยสังเกตได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เติบโต 2.28% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นปัญหาเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงและคงอยู่เป็นเวลายาวนาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และยังเป็นประเด็นความเสี่ยงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ดังนั้น สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในอนาคต ที่จะทำให้ประเทศไทยตามรอยนโยบายทางการเงินของประเทศอื่นๆ ได้ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X