×

จะเกิดอะไรขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ชัตดาวน์

21.01.2018
  • LOADING...

สหรัฐอเมริกา เริ่มวันแรกของการ ‘ชัตดาวน์’ หน่วยงานรัฐบาลเมื่อวานนี้ หลังวุฒิสภาไม่สามารถผ่านงบประมาณชั่วคราวได้ทันเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น เนื่องจาก ส.ว. จากพรรคเดโมแครตต้องการพ่วงข้อตกลงคุ้มครองผู้อพยพผิดกฎหมายที่อาศัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่เด็ก หรือ Deferred Action for Childhood Arrivals (DACA) เข้าไปในร่างกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรครีพับลิกันและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ยอมประนีประนอมด้วย

 

และหลังจากที่รัฐบาลกลางไม่สามารถจัดสรรงบประมาณชั่วคราวแก่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงกองทัพเพื่อนำไปใช้จ่ายจนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ จึงทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะชัตดาวน์อย่างเป็นทางการ

 

ชาวอเมริกันจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากวิกฤต ‘ชัตดาวน์’

 

 

พนักงานรัฐถูกพักงาน หรือทำงานโดยไม่มีค่าจ้าง

การชัตดาวน์ของรัฐบาลจะส่งผลให้ทำเนียบขาวต้องหยุดทำการบางส่วนตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป โดยพนักงานจำนวน 1,056 คนจะถูกพักงานชั่วคราว มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นจำนวน 659 คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้มาปฏิบัติงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้จะมีพนักงานที่ถูกพักงานบางส่วนกลับมาทำงานเพื่อสะสางและถ่ายโอนงานสำคัญให้แก่เจ้าหน้าที่บางคน แต่พวกเขาจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงเท่านั้น

 

นอกจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวแล้ว พนักงานและเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานของรัฐบาลหลายพันคนก็จะถูกพักงานชั่วคราวด้วย โดยในบางกรณี เจ้าหน้าที่บางส่วนอาจทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างจนกว่ารัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณส่วนกลางก้อนใหม่ได้

 

สำหรับหน่วยงานที่จะปิดทำการนั้นประกอบด้วย สำนักงานและที่ทำการกระทรวงที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นน้อยที่สุด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในสังกัดกระทรวงการเคหะ กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ครึ่งหนึ่งของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงกลาโหม จะถูกพักงานชั่วคราวด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็กและพิจารณาคำร้องขอพาสปอร์ตก็จะหยุดทำการด้วย ส่งผลให้กระบวนการขอหนังสือเดินทางและวีซ่าอาจล่าช้าออกไป

 

ส่วนประชาชนที่ต้องการยื่นขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนต่อสำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์ ยาสูบ อาวุธปืน และวัตถุระเบิดแห่งชาติของสหรัฐฯ ก็จะต้องรอไปจนกว่าหน่วยงานจะเปิดทำการอีกครั้งหลังสิ้นสุดการชัตดาวน์

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่จำเป็นต่อการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะเปิดทำการตามปกติ ประกอบด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ ที่ทำการไปรษณีย์ หอควบคุมการจราจรทางอากาศ ศูนย์การแพทย์ผู้ป่วยใน เรือนจำ สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติ กรมสรรพากร และโรงไฟฟ้า

 


ปิดสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง

นอกจากหน่วยงานรัฐแล้ว อนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ และสวนสัตว์บางแห่งก็จะปิดไม่ให้ประชาชนเที่ยวชมด้วย ซึ่งรวมถึงอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพในนิวยอร์ก ที่ปิดไม่ให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าชมตั้งแต่เมื่อวานนี้

 

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัย สวนสัตว์ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะยังเปิดให้บริการตามปกติในวันจันทร์ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลง ทางสถาบันจะแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ

 

ย้อนดูวิกฤตชัตดาวน์ในอดีต

Government Shutdown ไม่ใช่ปรากฏการณ์การเมืองที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 17 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1976 โดยครั้งล่าสุดคือปี 2013 ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ชัตดาวน์ส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์มักเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และกินระยะเวลาไม่นาน ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก


และหากนับเฉพาะเหตุการณ์ชัตดาวน์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อชาวอเมริกันจะมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือในปี 1995-1996 ในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งมีการปิดทำการหน่วยงานรวม 26 วัน

 

ส่วนครั้งที่ 3 คือปี 2013 ในสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งกินเวลานาน 16 วัน โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารจัดการงบประมาณของสหรัฐฯ ระบุว่า การชัตดาวน์ครั้งนั้นส่งกระทบต่อพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐบาลประมาณ 850,000 คน

 

รีพับลิกันเร่งกอบกู้วิกฤต

เดิมสภาคองเกรสของสหรัฐฯ จะต้องโหวตอนุมัติร่างงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2018 ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาคองเกรสซึ่งมีรีพับลิกันครองเสียงข้างมากกลับยังไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องเลื่อนการพิจารณาจนข้ามปี แต่ในช่วงที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณชั่วคราวให้กับรัฐบาลแทนไปก่อน

 

ล่าสุด มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ได้ขอให้วุฒิสภาเปิดการอภิปรายในวันพรุ่งนี้เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณชั่วคราวที่จะทำให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายไปจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ จากเดิมที่พิจารณาเบิกจ่ายงบประมาณไปจนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตยังต้องต้องถกเถียงกันต่อในประเด็นการคุ้มครองผู้อพยพผิดกฎหมายที่อาศัยในสหรัฐฯ ตั้งแต่เด็ก หรือกลุ่ม Dreamer ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์คัดค้านมาตลอด ส่งผลให้วิกฤตชัตดาวน์อาจดำเนินยืดเยื้อต่อไปอีก

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X