×

กนง. ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ห่วงเงินเฟ้อฝังรากลึก ปรับประมาณการ GDP ปีนี้เพิ่มเป็น 3.3%

08.06.2022
  • LOADING...
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (8 มิถุนายน) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% พร้อมปรับคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้เพิ่มจาก 3.2% เป็น 3.3% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกันได้ขยับคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มจาก 4.9% เป็น 6.2% ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. เปิดเผยระหว่างแถลงผลการประชุมว่า แม้การประชุมในครั้งนี้คณะกรรมการจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ทุกคนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น ทำให้การดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจําเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป

 

ปิติระบุว่า การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะพิจารณาใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับสูงนาน และผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยที่มีต่อประชาชนและภาคธุรกิจ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ล่าช้าเกินไปจนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรงจนไปเสริมไฟเงินเฟ้อในปีหน้า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้ กนง. ต้องใช้ยาแรงเพื่อจัดการปัญหาในภายหลัง

 

“สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจจะไปเพิ่มภาระให้กับคนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จากการประเมินของ กนง. นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อทำให้ภาระค่าใช้จ่ายรายได้ของคนไทยเพิ่มขึ้นมาแล้ว 850 บาทต่อเดือน คิดเป็น 3.6% ของรายได้ ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลที่ชี้ว่าในกรณีที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 120 บาทต่อเดือน หรือ 0.5% ของรายได้ ซึ่งน้อยกว่าภาระของเงินเฟ้อ 7-8 เท่า” ปิติกล่าว

 

ปิติกล่าวอีกว่า สิ่งที่ กนง. ไม่อยากให้เกิดคือ เงินเฟ้อที่ยืนสูงนานและฝังตัวในระบบ เพราะยิ่งเงินเฟ้อยืนอยู่นานก็จะยิ่งสร้างภาระในคนไทย อย่างไรก็ดี กนง. ยังประเมินว่าเงินเฟ้อไทยจะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ก่อนจะทยอยปรับลดลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช้วงต้นปีหน้า พร้อมกับเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising