กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 7.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น 37.24% และ 6.18% ตามลำดับ รวมถึงการยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้เร่งตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นหลายรายการ เช่น ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 สูงขึ้น 1.40% จากการสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน ผลไม้สด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคล ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 5.19%
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้น 13.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจากราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่าและต้นทุนการผลิตอื่นๆ
ขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 6.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เช่น สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา โดยต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอะลูมิเนียม
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร
นอกจากนี้สินค้าอุปโภค-บริโภคโดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและฐานเงินเฟ้อที่ต่ำในปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับสูงไปจนถึงไตรมาส 3 ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 4 ตามฐานการคำนวณที่สูงขึ้น ทำให้เชื่อว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีคงไม่น่าจะเกิน 6-7%” ผอ.สนค. กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP