วันที่ 4 มิถุนายนของทุกปี ไม่ว่าฝนตกหรือแดดออก ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนก็จะออกมาชุมนุมกันที่ Victoria Park เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989
เมื่อถึงเวลา 20.00 น. Victoria Park จะกลายเป็นทะเลแห่งแสงเทียน เมื่อผู้ชุมนุมร่วมกันจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเรียกร้องความรับผิดชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สั่งการให้ทหารปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยหลายพันคนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ปราศจากอาวุธในมือ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะลบล้างความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์รายงานข่าว ลบข้อความทั้งหมดที่กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวออกไปจากอินเทอร์เน็ต จับกุมและเนรเทศผู้จัดงานประท้วง ตลอดจนเฝ้าจับตาญาติของผู้เสียชีวิตอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นต่อๆ มาเติบโตขึ้นโดยไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 4 มิถุนายน 1989
แต่ฮ่องกงนั้นแตกต่างจากปักกิ่ง เพราะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ฮ่องกงยังคงเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรที่อยู่ห่างไกลจากการเซ็นเซอร์ของจีน และแม้หลังจากที่สหราชอาณาจักรส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้แก่จีนในปี 1997 ฮ่องกงยังได้รับสถานะกึ่งปกครองตนเอง ทำให้พิธีจุดเทียนรำลึกที่ Victoria Park ยังคงดำเนินต่อไปได้ และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของดินแดนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจีนแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้แสงเทียนใน Victoria Park ริบหรี่ลง เนื่องจากทางการสั่งห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าวในปี 2020 และ 2021 โดยอ้างถึงมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด แม้ว่าชาวฮ่องกงจำนวนมากเชื่อว่านั่นเป็นเพียงข้ออ้างในการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง หลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่เมื่อปี 2019
ในปี 2020 แม้ไม่มีการจัดกิจกรรมจุดเทียนอย่างเป็นทางการ แต่ชาวฮ่องกงหลายพันคนก็ยังคงไปที่ Victoria Park เพื่อต่อต้านคำสั่งห้ามของทางการ ขณะที่เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลสั่งการตำรวจปราบจลาจลมากกว่า 3,000 นาย เตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้สวนสาธารณะแห่งนี้มืดมิดในวันที่ 4 มิถุนายน เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษ
และปีนี้ก็ดูท่าว่าจะไม่แตกต่างไปจากเดิม โดยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวตอบคำถามสื่อมวลชลที่ถามว่า ผู้ที่มารวมตัวกันที่ Victoria Park ในวันที่ 4 มิถุนายน จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่
“มีข้อกำหนดทางกฎหมายมากมายตราบเท่าที่การชุมนุมยังเป็นเรื่องน่ากังวล” ลัมกล่าวกับผู้สื่อข่าว “มีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับสถานที่…เจ้าของสถานที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่ากิจกรรมใดจะได้รับอนุญาตให้จัดที่สถานที่ใด”
ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (1 มิถุนายน) เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงออกมาเตือนผู้ที่ส่งเสริม สนับสนุน และยุยง ให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ Victoria Park ในวันที่ 4 มิถุนายน พร้อมกับแนะนำประชาชนไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการตอกย้ำท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อกิจกรรมจุดเทียนรำลึก
ตำรวจอ้างมาตรการโควิดและกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมกับเตือนผู้ที่โฆษณาหรือจัดการชุมนุมที่ผิดกฎหมายว่าอาจถูกตั้งข้อหาและต้องโทษจำคุก
เหลียวกาไก ผู้กำกับการอาวุโส เปิดเผยว่า จะมีการวางกำลังตำรวจอย่างเพียงพอในพื้นที่ และเสริมว่า ตำรวจยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ขอจัดกิจกรรมรำลึกในที่สาธารณะ
นอกจากนี้เมื่อถูกถามว่า ผู้ที่ถือดอกไม้หรือสวมชุดสีดำ ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของการประท้วงในฮ่องกง เดินทางไปที่ Victoria Park ในวันที่ 4 มิถุนายน จะถูกจับกุมหรือไม่ เหลียวกล่าวว่า ตำรวจจะหยุดและตรวจค้น หากพบบุคคลที่มีลักษณะท่าทางน่าสงสัย และย้ำว่าการชุมนุมที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ขณะที่ผู้ที่มีความผิดฐานยุยงอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 12 เดือน
เหลียวเผยว่า ตำรวจจะจับตาความเคลื่อนไหวเพื่อชักชวนให้ร่วมการชุมนุมทางออนไลน์ด้วย
ขณะเดียวกันทางการฮ่องกงได้ประกาศปิด Victoria Park บางส่วนตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน ถึงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและการจัดกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าชาวฮ่องกงจะกล้าท้าทายรัฐบาลและไปปรากฏตัวที่ Victoria Park หรือไม่ แต่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ แคร์รี ลัม อ้างถึงนั้น เป็นคำขู่ที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นแล้วคือ สังฆมณฑลคาทอลิกฮ่องกงประกาศว่า คริสตจักรต่างๆ จะไม่จัดพิธีมิสซาประจำปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว
กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในฮ่องกงโดยรัฐบาลกลาง และมีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2020 หรือเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ชาวฮ่องกงฝ่าฝืนคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมจุดเทียนรำลึกในปี 2020
นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และนักข่าวหลายราย ถูกจับกุม นอกจากนี้ชาวฮ่องกงจำนวนมากพยายามหนีการถูกข่มเหงและหาที่ลี้ภัยในต่างประเทศ ขณะที่ผู้จัดงานจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินต้องยุติการดำเนินงาน และบางส่วนถูกจำคุกด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนต่างชาติและกระตุ้นให้ผู้คนรำลึกถึงวันครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ฮ่องกงและจัตุรัสเทียนอันเหมินมีความเชื่อมโยงกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นแล้ว โดยในขณะที่นักศึกษาในปักกิ่งใช้จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นสถานที่หลักในการประท้วง เพื่อผลักดันการปฏิรูปรัฐบาลและประชาธิปไตยในประเทศ ชาวฮ่องกงก็จะจัดการชุมนุมด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หลายคนถึงกับเดินทางไปเมืองหลวงของจีนเพื่อร่วมการประท้วง
และเมื่อปักกิ่งตัดสินใจส่งทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนพร้อมรถถังและปืนไรเฟิล เพื่อปราบปรามการประท้วงดังกล่าว ซึ่งมีนักเรียน-นักศึกษาเข้าร่วมหลายหมื่นคนในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ชาวฮ่องกงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เสนอความช่วยเหลือผู้ประท้วง
ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่มีการประมาณการว่าน่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่หลายร้อยถึงหลายพันคน นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากมาย ขณะที่มีการประมาณการด้วยว่า มีผู้ถูกจับกุมมากถึงหมื่นคนในระหว่างและหลังจากการประท้วง และผู้ประท้วงหลายสิบคนถูกประหารชีวิต
ในบรรดาผู้ที่หลบหนี มีประมาณ 500 คนรอดชีวิต โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายใต้ดินที่มีชื่อว่า ‘ปฏิบัติการนกเหลือง’ (Operation Yellow Bird) ซึ่งช่วยลักลอบนำผู้จัดการประท้วงและคนอื่นๆ ที่เสี่ยงถูกทางการปักกิ่งจับเข้าสู่ฮ่องกง ซึ่งยังคงเป็นดินแดนของอังกฤษในขณะนั้น
ในปีถัดมา แนวร่วมฮ่องกงสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยรักชาติ (Hong Kong Alliance in Support of Patriotic Democratic Movements of China) เริ่มจัดกิจกรรมจุดเทียนประจำปีที่ Victoria Park และกิจกรรมดังกล่าวดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 2019 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 180,000 คน จากการประมาณการของผู้จัดงาน
ภาพ: Jessica Hromas / Getty Images
อ้างอิง: