วันนี้ (31 พฤษภาคม) ที่ลานกีฬากรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 กล่าวระหว่างลงพื้นที่แฟลตดินแดง ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ
ระบุว่า วันนี้ตั้งใจมาลงพื้นที่เขตดินแดง ซึ่งระหว่างเดินทางมาได้ยินข่าวว่า กกต. รับรอง เลยถือเป็นการมาฉลองร่วมกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็น ส.ก.ในเขตนี้ อยากขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่เลือกตนเองเข้ามาทำงาน รวมถึงคนที่ไม่ได้เลือกด้วย ซึ่งทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ล้วนเป็นกำลังใจให้ก้าวเดินต่อไป และขอเป็นตัวแทนผู้สมัครทุกคนมาทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน ถือเป็นจุดเริ่มออกเดินทางไกลอีกครั้งหนึ่ง คืออีก 4 ปีจะทำให้เต็มที่ และจะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง
โดยภารกิจในวันพรุ่งนี้ (1 มิถุนายน) จะทำตามขั้นตอน ไปรับเอกสารการรับรองจาก กกต. เวลาประมาณ 11.00 น. และไปยังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ส่วนตัวจะทำพิธีเรียบง่าย เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ไม่มีผลอะไรกับการทำงานให้กับประชาชน ทำให้จบตามประเพณี ไม่มีฤกษ์อะไร เอาฤกษ์สะดวก
ต่อจากนั้นจะประกาศรายนามคณะผู้บริหาร ซึ่งมีทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเลขา-รองผู้ว่าฯ กทม. ทีมคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง และทีมคณะที่ปรึกษาฝ่ายเทคนิค ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่มีเงินเดือน ไม่มีตำแหน่ง แต่เพื่อให้ความมั่นใจในการประสานข้อมูลรายละเอียดในหลายๆ เรื่อง และจะเชิญคณะผู้บริหาร กทม. มาพูดคุยถึงแผนนโยบาย 214 นโยบายที่เสนอเข้าไปว่าคิดเห็นอย่างไร จากนั้นจะตั้งคณะทำงานเพื่อผลักดันเรื่องต่างๆ และเดินหน้าพบปะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ กทม. เปลี่ยนไปเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น ทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพูดคุยกับการทางพิเศษ กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก เพื่อหาความร่วมมือกัน
ชัชชาติระบุว่า ใน 214 นโยบาย นโยบายแรกที่จะเริ่มทำก่อน คือ เรื่องสาธารณสุข เพราะมี 9 เรื่องที่ต้องไปหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานแล้ว ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะนัดคุยทันที ทั้งในส่วนการขยายการให้บริการ, การปรับสิทธิบัตรทอง, การหาเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น, การช่วยประเมินคลินิกชุมชนอบอุ่น และการปรับข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยให้เข้ารักษาที่ไหนก็ได้ ซึ่งหลายๆ หน่วยงานได้นำแผนไปศึกษาแล้ว และมองว่าเมื่อมีแผนชัดเจน ทุกคนตื่นตัวและนำแผนไปวิเคราะห์ นำไปศึกษาได้ เพื่อทำงานล่วงหน้าได้ ซึ่งตนเองก็ดีใจที่จะได้เริ่มในหลายมิติ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การทำมาค้าขาย อย่างตลาดนัดจตุจักรที่จะเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเลย รวมถึงเรื่องหาบเร่แผงลอย, ผู้ค้า, การปรับปรุงตลาด, ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน และสวัสดิการของครูพี่เลี้ยง ที่สามารถดำเนินการได้เลยเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนตรวจสอบตนเองนั้น ชัชชาติมองว่า ตนเองต้องปรึกษาฝ่ายกฎหมายอีกครั้ง แต่ก็ถือเป็นกระบวนการตามระบบ ขอขอบคุณคุณศรีสุวรรณที่ร้องเรียน เพราะถือเป็นการตรวจสอบตามระบบ ไม่มีการลัดขั้นตอน และยืนยันว่าตนเองมาอย่างสง่าและภาคภูมิ ยิ่งตรวจสอบก็ยิ่งทำให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้น ซึ่งก็ไม่มีอะไร และคิดว่ายังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำอีกเยอะ
ส่วนกรณีโซเชียลเริ่มออกมาระบุว่า เมื่อเป็นผู้ว่าฯ แล้วก็ทำให้ตำหนิได้ง่ายขึ้นนั้น ชัชชาติมองว่า ตนเองก็ยินดีรับฟังทุกคำ และคำติก็มีค่าไม่น้อยกว่าคำชม เพราะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนเรา ถ้ามีแต่คำชมอย่างเดียว ฟังแต่คนที่ชมเรา สุดท้ายเราจะทำผิดเยอะแยะเลย ซึ่งเราก็อยากจะได้คำติที่มาจากใจไม่ได้มาจากอารมณ์ คำติที่มาจากเหตุผล ซึ่งจะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ตนเองไปถูกทางมากขึ้น และยินดีให้ประชาชนตำหนิหากเห็นว่าทำอะไรไม่ถูก อยากให้ตำหนิตั้งแต่เนิ่นๆ และขออย่าใช้อารมณ์ อย่าไปเอาความเกลียด ความโกรธ ความแค้นมาเป็นตัวตำหนิตนเอง แต่ให้ดูเนื้อหาแล้วตำหนิกัน เพราะเราพร้อมจะปรับปรุงตัวทุกอย่าง
ในช่วง 5 วันที่ผ่านมาที่ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ถือเป็นบทพิสูจน์ที่ดีมาก เพราะทุกคนมีหวัง และการเชิญ ส.ก. จากทุกพรรคมาลงพื้นที่ด้วยกัน ทำให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้สนใจว่าอยู่พรรคไหน แต่ประชาชนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น และ กทม. เป็นเมืองที่มีความหวังขึ้น รวมถึงดีใจที่นโยบายของตนเองที่เขียนไว้ ข้าราชการ กทม. นำไปปรับใช้เลย
ชัชชาติยังตอบคำถามเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยว่า หลังจากเข้าทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. แล้วก็จะมีการเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและตั้งคณะทำงานที่มีฝ่ายอัยการที่ดูเรื่องสัญญา และทีมงานฝ่ายต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็มีทีมงานที่ศึกษาข้อมูลไว้เกือบหมดแล้ว และย้ำว่าก็เป็นไปตามกำหนด 30 วัน พร้อมระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวตนเองไม่ได้เป็นคนทำ เป็นเรื่องที่ทำกันมาในอดีต ดังนั้นเมื่อเรามาก็มาดูเนื้อหา มาหาทางออก และอำนาจไม่ได้อยู่ที่ตนเองเพราะอำนาจอยู่ที่ ครม. ส่วน กทม. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะให้ความเห็น
ขณะเดียวกันมีนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภายใต้ชื่อกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ประชาธิปไตยเพื่อความหวัง มายื่นหนังสือเพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่นักเรียนใน กทม. พบเจอ ทั้งปัญหาเรื่องเครื่องแบบและทรงผม ซึ่งชัชชาติกล่าวว่า เชื่อว่าทุกเรื่องสามารถพูดคุยกันได้ด้วยเหตุผล สำหรับตัวเองมองว่าการเรียนการศึกษาสำคัญกว่า