รายงานการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ครั้งล่าสุด ระบุว่า เจ้าหน้าที่ Fed ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและอาจมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
โดยบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ไม่เพียงแต่เห็นความจำเป็นในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอีก 0.50% เท่านั้น แต่ยังเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกบี้ยในลักษณะเดียวกันนี้น่าจะมีความจำเป็นในการประชุมอีกหลายครั้งต่อไปนับจากนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า นโยบายอาจจำเป็นต้องก้าวผ่านจุดยืนเป็นกลางแม้จะไม่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
รายงานการประชุด Fed ระบุอีกว่า คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสมสำหรับการประชุมครั้งถัดๆ ไป ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาสมาชิกคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ Fed ยังแง้มว่า Fed มีโอกาสออกนโยบายคุมเข้มทางการเงินเพื่อความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและสารพัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
สำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 3-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินได้เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และจัดทำแผนเพื่อลดงบดุล 9 ล้านล้านดอลลาร์ของธนาคารกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง หรือ Mortgage-Backed Securities (MBS)
นับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 22 ปี และเกิดขึ้นในขณะที่ Fed กำลังพยายามฉุดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปีให้ปรับลดลงมา โดยมีการคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดในปีนี้ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขยับขึ้นมาที่ประมาณ 2.5-2.75% ภายในสิ้นปี ซึ่งสอดคล้องกับที่ธนาคารกลางหลายแห่งคาดการณ์ไว้ กระนั้น ทางคณะกรรมการฯ ระบุว่า Fed มีการเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่า 0.50%
รายงานผลสรุปการประชุมระบุว่า ทางคณะกรรมการฯ ทั้งหมดมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพของราคา ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันว่าคณะกรรมการฯ ควรเร่งเปลี่ยนจุดยืนของนโยบายการเงินให้เป็นกลางด้วยการเพิ่มตัวเลขเป้าหมายสำหรับอัตราดอกเบี้ย และลดขนาดของงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวระบุอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อถึง 60 ครั้ง สะท้อนให้เห็นความกังวลของทางคณะกรรมการฯ ที่มีต่อเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น แม้จะอยู่ท่ามกลางความเชื่อมั่นว่านโยบายของ Fed และการผ่อนปรนปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวหลายประการ เช่น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่สงครามในยูเครนและการล็อกดาวน์ที่เกี่ยวข้องกับโควิดในจีนจะทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น
วันเดียวกัน ทาง คลาสส์ น็อต หนึ่งในสมาชิกของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เผยว่า ECB ยังคงพิจารณาถึงโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ในการประชุม ECB ครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยระหว่างนี้ ทาง ECB จะเฝ้าติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อซึ่งวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคต่อไปอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หลังจากยืนยันการยุติโครงการซื้อคืนพันธบัตรภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ตลาดต่างคาดหวังมากขึ้นว่า ECB จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง ท่ามกลางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้กำหนดขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้
ด้าน คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 พฤษภาคม) ว่า ธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ -0.5% ให้หลุดพ้นจากแดนลบภายในสิ้นเดือนกันยายนปีนี้
ทั้งนี้ นอท ประธานธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์กล่าวกับ CNBC ที่ World Economic Forum ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าตนเองกำลังมองหาพลวัตพื้นฐานของอัตราเงินเฟ้อที่อาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ
ขณะที่ ฟรองซัวส์ วิลรอย เดอ กัลโฮว์ ระบุว่า ECB มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น หลังจากที่ดัชนีราคาผู้ผลิตในเยอรมนีพุ่งขึ้น 33.5% ต่อปีในเดือนเมษายน
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/05/25/fed-minutes-may-2022.html
- https://www.cnbc.com/2022/05/25/ecb-member-knot-says-a-50-basis-point-hike-in-july-is-not-off-the-table.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP