×

หุ้นค้าปลีกไทยระยะสั้นยังแกร่ง รับอานิสงส์เปิดเมือง แต่ห่วงปลายปีส่อโดนผลกระทบจาก ศก.โลกชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง

25.05.2022
  • LOADING...
หุ้นค้าปลีกไทย

นักวิเคราะห์มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีกในระยะสั้น พร้อมประเมินแนวโน้มผลประกอบการยังเติบโตต่อรับการบริโภคในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่การเปิดประเทศจะส่งเสริมกำลังซื้อ แต่ยังติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัจจัยเงินเฟ้อทั้งในและต่างประเทศที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ห่วงกระทบต้นทุนสินค้าและการกำหนดราคาขาย แนะลงทุนหุ้นค้าปลีกสินค้าจำเป็น หลีกค้าปลีกสินค้าไอที-ฟุ่มเฟือย 

 

การดิ่งลงอย่างหนักของหุ้นกลุ่มค้าปลีกในสหรัฐฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มนี้ที่ออกมาน่าผิดหวัง โดยมีสาเหตุจากต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาพลังงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้เกิดความกังวลต่อเนื่องมายังหุ้นกลุ่มค้าปลีกในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยว่า จะเผชิญชะตากรรมในรูปแบบเดียวกันหรือไม่ 

 

ค้าปลีกสินค้าจำเป็นยังโตได้

มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า เงินเฟ้อของไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกของไทยบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มาก โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเริ่มปรับขึ้นราคาสินค้า และกดดันกำลังซื้อให้ลดลง 

 

ทั้งนี้ สินค้าที่จะได้รับผลกระทบเร็วสุดคือสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่สินค้าจำเป็น เช่น อาหารและวัตถุดิบ และของใช้ในชีวิตประจำวันจะไม่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลงมากนัก 

 

สำหรับค้าปลีกกลุ่มห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะส่วนมากขายสินค้าจำเป็น

 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อฝั่งผู้บริโภคเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 

 

“โดยรวมยังมองว่ากลุ่มค้าปลีกยังน่าลงทุนอยู่ ปัจจัยสนันสนุนคือกำลังซื้อในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อภาคการท่องเที่ยวที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปลายไตรมาส 2 ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี โดยหุ้นค้าปลีกที่น่าสนใจลงทุน คือ ค้าปลีกสินค้าจำเป็น คือหุ้น CPALL และ CRC ส่วนค้าปลีกที่เป็นสินค้าไอที วัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้าน ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะไม่ได้รับอานิสงส์ด้านกำลังซื้อ ขณะเดียวกันยังได้รับแรงกดดันจากต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น จึงแนะนำหลีกเลี่ยง” มงคลกล่าว 

 

คาดเห็นแรงกดดันเงินเฟ้อปลายไตรมาส 3 

เบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า กลุ่มค้าปลีกไทยน่าจะได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวระดับสูงในปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไป โดยจะเป็นแรงกดดันทั้งเชิง Sentiment และเชิงปัจจัยพื้นฐาน

 

ทั้งนี้ จากกรณีที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างหนักหลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/22 เป็นเพราะนักลงทุนมีความกังวลต่อแนวโน้มกำลังซื้อที่จะถูกกดดันจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวระดับสูง และจะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขายเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร

 

จากปรากฏการณ์ความกังวลที่เกิดขึ้น ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ค้าปลีกไทยจะได้รับแรงกดดันไปด้วยในปลายไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเป็นผลกระทบฝั่งกำลังซื้อภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะไม่ฟื้นตัวตามคาด หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มซบเซา ซึ่งทำให้กำลังซื้อนักท่องเที่ยวลดลงจากแรงกดดันเงินเฟ้อ 

 

“หลังประชุม Fed ในอีก 2 ครั้ง คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ๆ 1-1.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เป็น 1.75-2% และจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในขณะที่เงินเฟ้อยังสูงอยู่ ซึ่งจะเริ่มส่งผลกระทบมาถึงไทยในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีน้ี” เบญจพลกล่าว

 

เบญจพลกล่าวเพิ่มว่า จากปัจจัยเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า น่าจะทำให้ผู้ประกอบการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าซึ่งจะกดดันยอดขาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากลุ่มค้าปลีกที่เน้นสินค้าจำเป็นจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่กลุ่มค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือยและไอทีน่าจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง

 

ทั้งนี้ แนะนำลงทุนหุ้น CPALL, MAKRO และ MBK 

 

กสิกรไทยจับตาขึ้นค่าแรงกระทบต้นทุน 1.3% 

 

บล.กสิกรไทย ระบุว่า ประเมินแนวโน้มผลประกอบการกลุ่มค้าปลีกในไตรมาส 2 จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 เนื่องจากยอดทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นสัญญาณชัดขึ้นมาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม กลุ่มค้าปลีกจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนและทำให้ต้องปรับราคาขาย และส่งผลต่อยอดขายในที่สุด แต่ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบไม่มาก 

 

“แนวโน้มไตรมาส 2/22 จะเห็นการปรับราคาขายตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น และมาร์จินที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยเฉพาะค่าขนส่ง แต่โดยรวม ณ ระดับราคาน้ำมันปัจจุบัน ฝ่ายวิจัยประเมินว่าผู้ประกอบการจะสามารถบริหารจัดการมาร์จินได้ เนื่องจากทราฟฟิกที่ปรับดีขึ้นในต้นไตรมาส 2” 

 

ทั้งนี้ กลุ่มค้าปลีก (ภายใต้การวิเคราะห์) มีผลประกอบการไตรมาส 1/22 ที่เติบโต โดยรายได้ปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 6% และคิดเป็น 24% ของคาดการณ์กำไรทั้งปี 2022 โดยสาเหตุหลักของการเติบโตมาจากการขยายตัวของรายได้จากสาขาเดิม (SSSG) และการมี Product Mixed ที่ดี 

 

สำหรับปัจจัยความกังวลเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำในอนาคต แม้ขณะนี้ยังไม่มีกรอบที่แน่ชัด แต่ถ้าพิจารณาจากค่าใช้จ่ายพนักงาน ซึ่งส่วนมากอยู่ที่ 6-10% ของยอดขาย ประเมินว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกระทบต่อกำไรสุทธิของผู้ประกอบการค้าปลีกประมาณ 1-3% 

 

อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยดังกล่าวก็มีผลเชิงบวก คือทำให้ชนชั้นแรงงานมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ ระยะสั้นมองเป็นบวก เนื่องจากมองเห็นโมเมนตัมฟื้นตัวในไตรมาส 2/22 ที่ชัดเจน โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นค้าปลีกสินค้าจำเป็น โดยหุ้นเด่นคือ CPALL และ BJC

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X