×

ตลาด Wall Street ยังผันผวน ฉุดหุ้นร่วงต่อเนื่อง นักลงทุนชะลอซื้อ-ขาย รอดูท่าทีเงินเฟ้อ-นโยบาย Fed

20.05.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

ถือเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ของการทดสอบวัดใจบรรดานักลงทุนในตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับการเทขายล็อตใหญ่ ฉุดดัชนีในตลาดร่วงระนาว ทำสถิติแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายสัปดาห์ โดยที่แนวโน้มของตลาดยังคงส่งสัญญาณขาลงได้อีก ท่ามกลางเงินเฟ้อพุ่งและนโยบายทางการเงินที่รัดกุมและเข้มงวด เบรกนักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาด และหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรและทองคำ

 

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (19 พฤษภาคม) แม้จะกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในแดนลบ โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับตัวลดลงมากกว่า 235 จุด หรือ 0.8% หนึ่งวันหลังจากที่ร่วงไปเกือบ 475 จุด ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลงแล้ว 14% และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์เรียบร้อยแล้ว

 

ด้านดัชนี S&P 500 แม้จะฟื้นกลับขึ้นมาได้ในช่วงเปิดตลาด แต่ก็พลิกร่วงในชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขายที่ 0.6% ปิดตลาดปรับตัวในแดนลบต่อเนื่อง หลังเพิ่งทำสถิติทิ้งดิ่งรอบวันหนักสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 เมื่อวันก่อน เข้าสู่ภาวะตลาดหมีอย่างสมบูรณ์ และสูญมูลค่าตลาดไปแล้วกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนดัชนี Nasdaq ดูจะเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยที่ 0.3% แต่ก็เข้าสู่ภาวะตลาดหมีเรียบร้อยแล้วเช่นกัน โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลดลงไปแล้วถึง 27%

 

หุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีถือเป็นหุ้นที่ร่วงหนักที่สุดในการซื้อ-ขายวานนี้ (19 พฤษภาคม) นำโดย Cisco ที่ร่วงลงถึง 14% หลังรายงานยอดขายพลาดเป้าจากที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่หุ้นห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Walmart และ Target ต่างก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลลบต่อแนวโน้มการเติบโตและรายได้ของธุรกิจค้าปลีก

 

รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทที่ทยอยเปิดเผยออกมา และส่วนใหญ่ก็แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ กลายเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักต่างออกมาประเมินภาพรวมของตลาดหุ้นในปีนี้ น่าจะอยู่ในช่วงขาลงลากยาวไปจนถึงต้นปีหน้าแน่แล้ว

 

ขณะเดียวกันการเทขายหุ้นในสัปดาห์นี้ทำให้ดัชนี S&P 500 ใกล้จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ซึ่งถือเป็นการลดลงที่ยาวที่สุดนับตั้งแต่ฟองสบู่ดอทคอมแตกเมื่อ 20 ปีก่อน

 

เจเจ คินาฮาน หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาด ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยหรือตัวกระตุ้นที่จะดึงดูดให้เหล่านักลงทุนเข้าไปลงทุนในตลาดหรือสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนแม้แต่น้อย

 

ทั้งนี้ ดัชนี VIX ซึ่งเป็นมาตรวัดความผันผวนของตลาด Wall Street ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% แล้ว ขณะที่ดัชนี CNN Business Fear & Greed เพื่อวัดอารมณ์และความรู้สึกของนักลงทุนในตลาด พบว่า นักลงทุนในเวลานี้กำลังอยู่ในความกลัวสุดขีด หรือ Extreme Fear

 

ขณะเดียวกันบรรดานักลงทุนก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า รายงานรายได้และผลประกอบการของบรรดาบริษัทในตลาดที่แข็งแกร่ง จะเพียงพอพานักลงทุนฝ่าฟันความปั่นป่วนของตลาดในปีนี้ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะเมื่อพลิกดูรายงานเกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีนี้ดูค่อนข้างไร้ความหวัง เพราะภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผู้บริโภคภายในสหรัฐฯ แล้ว

 

ทอม กัลวิน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนแห่ง City National Rochdale แนะว่า สิ่งที่นักลงทุนทั้งหลายควรทำในเวลานี้คือ การคาดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นหนาและรัดกุม เพราะภาวะผันผวนของตลาดยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และรถไฟเหาะขบวนนี้ยังต้องไปต่อ ท่ามกลางสารพัดความไม่แน่นอนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ภาวะเงินเฟ้อสูง, ความกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ของโควิด, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการ Zero COVID และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อลากยาวกว่าที่คาดกันไว้

 

นอกจากนี้สัญญาณเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ เองก็ดูจะไม่ค่อยดีสักเท่าไรนัก เช่น อัตราการขอรับสวัสดิการการว่างงานในสหรัฐฯ

 

คำแนะนำของกัลวินถึงบรรดานักลงทุนที่ต้องการอยู่ดีมีสุขในเวลานี้คือ ให้หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นยุโรป เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าที่เกินจากความเป็นจริง และความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมแนะให้ลงทุนในหุ้น Blue Chip คุณภาพ ที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอแทน

 

นอกจากนี้บรรดานักลงทุนอาจรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความปั่นป่วนของตลาด ที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่และบริษัทการลงทุนสถาบันอื่นๆ โดยมีรายงานว่า Melvin Capital หนึ่งในเฮดจ์ฟันด์ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่ง ประกาศแผนการที่จะปิดตัวลง หลังอกหักจากการเดิมพันในหุ้นมีมที่พุ่งแรงอย่าง GameStop ในปี 2021 และเข้าช้อนซื้อหุ้นในกลุ่มการเดินทางเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ เหล่าเทรดเดอร์ทั้งหลายต่างบาดเจ็บไปตามๆ กัน เพราะการเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและคริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin รวมถึงหุ้นในกลุ่มที่จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายตลาดก็ไม่ได้ฟื้นตัวตามที่คาดกันไว้

 

แดน พีพีตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ร่วมก่อตั้ง TradeZero กล่าวว่า นักลงทุนในห้วงเวลานี้ตกอยู่ในความกลัวและกังวลมากขึ้น ขณะที่ภาวะ Crypto Crash ล่าสุด ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนผวาหนักกว่าเดิม จนตัดสินใจชะลอการลงทุนเป็นทิวแถว และสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็คือการ ‘รอดู’ อย่างน้อยที่สุดก็คือรอให้เห็นภาพทิศทางตลาดที่ชัดเจนมากกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่ยังคงมองหาโอกาสเก็บเกี่ยว บรรดานักลงทุนส่วนหนึ่งต่างแห่กันไปซื้อหุ้นที่มองว่าสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ดีกว่า และในบางกรณีก็ได้รับผลประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 0.4% มาอยู่ที่ 2.85% ส่วนราคาทองคำในตลาดฟิวเจอร์สปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4% มาอยู่ที่ 1,847.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวขึ้น 1.7% ปิดที่ 111.44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ในที่สุดแล้วหุ้นน้ำมันถือเป็นผู้ชนะตลาดรายใหญ่ในปีนี้ ยกตัวอย่างเช่น Chevron (CVX) ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% กลายเป็นหุ้นในกลุ่มดัชนี Dow Jones อันดับต้นๆ อีกทั้งยังเป็นหุ้นที่ Berkshire Hathaway ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือครองไว้ถึง 1 ใน 4 ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทำให้ Berkshire เป็นบริษัทลงทุนยืนหนึ่งที่สามารถยืนหยัดเอาชนะความผันผวนของตลาดในปีนี้ได้

 

นอกจากนี้ Berkshire ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ใน Occidental Petroleum (OXY) ซึ่งราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีนี้ และกลายเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในดัชนี S&P 500

 

ในส่วนของนักลงทุนที่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า บางครั้งการอยู่เฉยๆ ก็อาจเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยต้องไม่ลืมติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ Fed และภาวะเงินเฟ้อ เพื่อรอจังหวะลงทุนต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X