‘ถ้าโลกคือบ้านหลังใหญ่ ใน 1 วัน เราทำอะไรให้กับโลกได้บ้าง’ พอในคีย์เวิร์ดมีคำว่า ‘โลก’ เราอาจจินตนาการไปไกลว่าคงต้องทำสิ่งยิ่งใหญ่และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เพราะภาวะโลกร้อน ขยะล้นโลก มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่อยู่กับเรามานานจนดูเหมือนว่า ต่อให้เริ่มตอนนี้ก็คงไม่ทันการณ์
แต่ เนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก เชื่อว่า ‘เล็กน้อย เปลี่ยนโลกได้’ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Virtual Talk Live ในหัวข้อ ‘ถ้าโลกคือบ้านหลังใหญ่ ใน 1 วัน เราทำอะไรให้กับโลกได้บ้าง’ พร้อมเชิญแขกคนพิเศษ อเล็กซ์ เรนเดลล์, เต้ย จรินทร์พร, เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป และ จิรพัฒน์ ฐานสันโดษ ผู้จัดการบรรจุภัณฑ์ เนสท์เล่ อินโดไชน่า มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมแชร์ไอเดียดูแลโลกง่ายๆ แค่เริ่มจากสิ่งเล็กน้อยใกล้ตัวก็ช่วยดูแลโลกใบนี้ได้ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ผ่านทางเพจ goodfoodgoodlife by Nestlé Thailand
มากไปกว่าแรงบันดาลใจและไอเดียรักษ์โลก บางหัวข้อการเสวนาเหมือนกำลังโดนสะกิดเตือนว่าตัวเราเองก็อาจมีส่วนทำลายโลกไม่มากก็น้อยทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ได้
และนี้คือ บทสรุปที่ THE STANDARD ได้จากการฟัง Talk ครั้งนี้
ชีวิตยังมีแผนสองแต่เรามีโลกใบเดียว
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด บริษัทเรียกประชุมทีมเพื่อทำแผนสำรองมากมาย จนถึงวันนี้ เนสท์เล่อาจจะหยิบ Plan B มาใช้มากกว่า Plan A แล้วก็ได้ เพราะโลกการทำธุรกิจเรามีโอกาสใช้แผนสำรองตลอด
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า
“แต่เราไม่มีโลกสำรองหรือ Planet B เรามีโลกเพียงใบเดียว หากเราไม่ดูแลโลก โลกก็คงช่วยดูแลเราไม่ได้เช่นกัน การจัดงานครั้งนี้เป็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยได้มีส่วนร่วมปกป้องโลกของเรา เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนมุมมองความคิดและการกระทำของเราในทุกๆ วัน แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่หากช่วยกันก็สามารถสร้างโลกที่ยั่งยืนเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง เนสท์เล่ดำเนินธุรกิจภายใต้พันธกิจด้านความยั่งยืน ทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ลดการใช้พลาสติก และอีกหลายด้านเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050”
เราทุกคนก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน?
เวลาพูดถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สัตว์ต้องอพยพย้ายถิ่น ฝนตกผิดฤดูกาล อากาศแปรปรวน ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัวเกินกว่าที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราจะเข้าใจว่ามันส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
อเล็กซ์ เรนเดลล์ ชี้ให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก โดยเฉพาะเมืองไทยที่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศเพื่อการอยู่รอดในหลายมิติ ทั้งการเกษตร การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการท่องเที่ยว “ปกติทำค่ายดำน้ำช่วงเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่ทะเลสวยที่สุด แต่กลายเป็นว่าทริปล่าสุดเราไม่สามารถดำน้ำได้เพราะฝนตก เมื่อก่อนสภาพอากาศมันทำงานเป็นระบบ หน้าร้อน หน้าฝน แต่ตอนนี้ระบบนิเวศรวนหมด”
เต้ย จรินทร์พร เสริมประเด็นเรื่องเต่าทะเลหลังจากเริ่มศึกษาจริงจัง พบว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้น้ำทะเลหนุนเยอะกว่าปกติ เมื่อน้ำทะเลท่วมหน้าหาดน้อยลง แทนที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวัดหาดก่อนวางไข่ตามฤดูกาลก็ขึ้นไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเต่าทะเลอาจจะสูญพันธุ์
ด้าน เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เสริมว่า ในฐานะคนเชียงใหม่เราอาจไม่เห็นท้องฟ้าที่สดใสและวิวดอยสุเทพจากระยะไกลได้อีกเลย “ตอนเด็กจำได้ว่าช่วงหน้าหนาวท้องฟ้าจะใสมาก เดี๋ยวนี้ฤดูหนาวมองขึ้นไปไม่เห็นอะไรเลย เมื่อก่อนเวลาขับขึ้นไปดอยสุเทพ จะมีวิวที่สวยมากเห็นดอยสุเทพ ทุกวันนี้ต้องลุ้นว่าไปแล้วจะเห็นหรือเปล่า เพราะฝุ่นที่มันปกคลุม ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาป่า เวลาป่าแห้งแล้งมากๆ พอเกิดไฟป่าก็รุนแรงทำให้เกิดฝุ่นหนักขึ้น”
จิรพัฒน์ ฐานสันโดษ ผู้จัดการบรรจุภัณฑ์ เนสท์เล่ อินโดไชน่า บอกว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยอย่างมาก พอฤดูกาลเพี้ยน ผลผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนไป บางคนทำเกษตรไม่ได้ก็ต้องไปทำอาชีพอื่น
จิรพัฒน์ ฐานสันโดษ ผู้จัดการบรรจุภัณฑ์ เนสท์เล่ อินโดไชน่า
ก้าวเล็กๆ แต่สร้างการเปลี่ยนยิ่งใหญ่
การจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างอิมแพ็กในวงกว้าง แม้จะช่วยได้แต่ก็ต้องใช้เวลา เนสท์เล่ในฐานะผู้ผลิตอาหารใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นองค์กรกลุ่มแรกๆ ที่นำร่องสร้างการเปลี่ยนแปลงจากต้นน้ำ บอกกับผู้บริโภคทั่วโลกว่า พวกเขาไม่เคยนิ่งนอนใจและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกเช่นกัน สามารถทำได้สะดวกขึ้นผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก
จิรพัฒน์บอกถึงเหตุผลสำคัญที่บริษัทให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพราะเนสท์เล่เชื่อว่านี่คือหน้าที่ของทุกคน “เราเป็นบริษัทที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใน 1 วัน มีผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์ของเนสท์เล่มากกว่า 1 พันล้านคน ดังนั้นการที่เนสท์เล่ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างแม้เพียงเล็กน้อย เชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อโลกใบนี้”
จากความเชื่อนำไปสู่ผลลัพธ์มากมาย ตั้งแต่การลดขยะบรรจุภัณฑ์ ลดผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ ดูไปถึง Supply Chain การผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง ออกแบบบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ ไปจนถึงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์
“ด้านบรรจุภัณฑ์เราทำอยู่สองอย่างคือ ทำแพ็กเกจจิ้งให้รีไซเคิลได้ และลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ในบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2025 เพราะบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้นถ้าเนสท์เล่ลงมือทำเรื่องนี้อย่างจริงจังจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เยอะมาก”
บรรจุภัณฑ์ที่ทำออกมาแล้วและน่าจะคุ้นตาคุ้นมือพวกเราอยู่บ้าง เช่น ซองกาแฟของเนสกาแฟ โพรเทค โพรสลิม หรือหลอดกระดาษของไมโล ยูเอสที และกระป๋องกาแฟอะลูมิเนียม และฟิล์มหุ้มขวดน้ำดื่มเนสท์เล่ที่นำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้
จิรพัฒน์ยังบอกด้วยว่า ที่เนสท์เล่เลือกเปลี่ยนหลอดพลาสติกเป็นหลอดกระดาษ เพราะหลอดเป็นวัสดุชิ้นเล็กที่สามารถหลุดไปในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย อาจเป็นอันตรายกับสัตว์ทะเล และแม้จะย่อยสลายได้ในเวลาหลายร้อยปี แต่มันก็ไม่เคยหายไปไหนกลายเป็นไมโครพลาสติกและแทรกซึมเข้าไปอยู่ในสัตว์ทะเลต่างๆ ที่มนุษย์นำมาเป็นอาหาร เท่ากับว่าเราเองก็ได้รับผลกระทบทางอ้อม
เต้ยเล่าในฐานะผู้บริโภคที่ใช้หลอดกระดาษว่า “พูดตรงๆ มันก็คงดูดไม่ลื่นเหมือนหลอดพลาสติกที่คุ้นเคย แต่เราต้องการสนับสนุนองค์กรแบบนี้ ก็เลยเปลี่ยน Mindset ลดความเคยชินของตัวเองแล้วเปิดใจ ที่สุดแล้วเราก็ได้ความภูมิใจนะที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลง”
ใน 1 วัน คนตัวเล็กๆ อย่างเราทำอะไรเพื่อโลกได้บ้าง
สำหรับไฮไลต์ของงานเสวนาครั้งนี้เห็นจะเป็นช่วงที่แขกทุกคนร่วมกันแชร์ไอเดียเล็กน้อยทำเพื่อโลกได้ เริ่มจากอเล็กซ์ให้แง่คิดที่ว่า การตัดสินใจเล็กน้อยในแต่ละวันก็มีผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไอเดียของเขาคือ การทำทุกอย่างทีละเล็กละน้อย “เช่น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน นั่นคือการทำสิ่งเล็กๆ ด้วยการสนับสนุนบริษัทที่ทำสิ่งเหล่านี้ นอกจากการได้สนับสนุนแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาภายใต้กระบวนการรักษ์โลกส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทิ้งภาระให้กับโลกด้วยเช่นกัน หากทุกคนเริ่มต้นทำพร้อมกันจะสร้างอิมแพ็กได้มหาศาล”
เต้ยแชร์ไอเดียเล็กน้อยเปลี่ยนโลกที่น่าจะถูกใจสาวๆ เพราะไม่เพียงช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากการผลิตเสื้อผ้า วิธีนี้ยังเซฟเงินได้อีกเยอะ “ช่วงย้ายบ้านต้องเคลียร์ตู้เสื้อผ้าทั้งหมดแล้วพบว่า ตัวเองมีเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ที่เยอะมากๆ หลังจากนั้นก็เริ่มลดการช้อปปิ้ง วิธีของเต้ยคือคิดก่อนซื้อมากขึ้นว่าชิ้นไหนที่ซื้อแล้วจะอยู่กับเราไปได้นานๆ หรือไม่ได้เป็น Fast Fashion ใส่ได้ครั้งเดียว”
ส่วนไอเดียของเปรมก็ง่ายๆ แค่เตือนตัวเองบ่อยๆ ว่าเราทำเพื่อโลกได้นะ “คนชอบคิดว่าการทำเพื่อโลกต้องทำสิ่งยิ่งใหญ่ ต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่ จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันเราสามารถช่วยโลกได้ เช่น จะขึ้นชั้น 2 แทนที่จะใช้ลิฟต์ก็ขึ้นบันไดแทน หรือปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้ เล็กน้อยก็ช่วยโลก”
แยกแล้วไปไหน?
อีกประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาหาคำตอบเพราะเชื่อว่ายังมีคนไม่น้อยที่สงสัยเช่นกันคือ “แยกขยะจากที่บ้านไปทำไม สุดท้ายก็โยนไปกองร่วมกันอยู่ดี?” เปรมย้ำว่า แม้ระบบจัดการขยะในเมืองไทยจะไม่สมบูรณ์ แต่การแยกขยะจะช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบได้จริง
“เนื่องจากระบบการเก็บขยะของเมืองไทยเป็นระบบร่วมศูนย์ ส่วนใหญ่จุดคัดแยกไม่สามารถแยกละเอียดได้มันจึงไปจบที่บ่อฝังกลบ วิธีง่ายๆ ที่เราจะช่วยให้ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ไม่ไปจบที่ฝังกลบคือ การแยกขยะจากต้นทาง เช่น ขวดน้ำ กระป๋องอะลูมิเนียม เพราะคนแยกขยะจะมองว่า ขยะอะไรขายได้หรือมีค่าก็จะแยกออกมาเพื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจรีไซเคิล ดังนั้นมันเริ่มจากมือเรา ถ้าเราทิ้งปนกันโอกาสไปสู่บ่อฝังกลบสูงมาก แต่ถ้าเราแยกเมื่อไรมันก็จะไปส่งให้คนที่เขาต้องการ”
อเล็กซ์แชร์ไอเดียแยกขยะในแบบตัวเอง “เริ่มแยกแค่ขยะแห้งขยะเปียกก่อน เพราะถ้าเราเอาขยะไปปนกัน แทนที่บางอย่างสามารถไปรีไซเคิลได้ แต่มันทำได้ยากเพราะมันเปียกไปแล้ว แค่แยกขยะเปียก-แห้ง ก็ช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลมันเดินหน้าต่อได้”
เต้ยเสริมไอเดียต่อว่า “ลองเริ่มง่ายๆ แค่แยกกระป๋อง ขวดพลาสติก กล่องพัสดุ เล็กน้อยเท่านี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว”
เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
เปรมบอกว่า สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นแยกขยะ “จากเดิมที่แยกแล้วไม่รู้จะจัดการกับขยะที่แยกแล้วอย่างไร เปลี่ยนเป็นหาปลายทางของขยะที่จะไปก่อน แล้วค่อยนำไปให้ มันจะเริ่มมีกำลังใจแล้วว่าสิ่งที่เราทำมันเห็นผลนะ หรือถ้าไม่รู้จะหาข้อมูลจากไหน สามารถใช้แอปพลิเคชัน Green2Get เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะขึ้นข้อมูลเลยว่าเป็นขยะประเภทไหน และรอบๆ ตัวระยะทาง 20 กิโลเมตร ใครรับขยะประเภทนั้นบ้าง ทำให้เราแยกและหาที่ไปให้มันได้”
ด้านจิรพัฒน์แชร์ไอเดียแยกขยะด้วยการตั้งเป้าลดไซส์ถุงขยะจากไซส์ M เป็นไซส์ S “ขั้นตอนแรกพยายามให้มีเพียงขยะเศษอาหาร ส่วนอื่นๆ บรรจุภัณฑ์จะแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล จุดสำคัญคือพวกบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารมามันไม่ควรมีเศษอาหารปนเพราะจะเน่า แต่ถ้าจะให้ล้างทุกอันก็อาจจะยาก วิธีของผมคือ เวลาล้างจานก็เอาบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นวางในซิงค์ จะได้ล้างเศษอาหารคร่าวๆ ออกไปก่อนที่เราจะแยกเพื่อส่งต่อ”
เล็กน้อย เปลี่ยนโลกได้จริงหรือ?
ก่อนจะปิดจบ Virtual Talk Live เผื่อคนที่ยังคลางแคลงใจว่าพฤติกรรมเล็กน้อยที่เราทำ เช่น แยกขยะ ปิดไฟ ใช้ถุงผ้า หรือสนับสนุนแบรนด์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะเปลี่ยนโลกได้อย่างไร เปรมอธิบายว่า แม้ว่าการรีไซเคิลไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการลดก๊าซเรือนกระจก แต่กระบวนการรีไซเคิลต่างหากที่ช่วยลดการผลิตใหม่ เพราะการผลิตใหม่ต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานมากกว่านั้นเอง เปรียบเทียบง่ายๆ แค่หันมาพกถุงผ้าเพียง 1 คน ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก HDPE 3 ใบต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 ปี เท่ากับลดคาร์บอนได้ 2.32 กิโลกรัม ถ้า 1 ล้านคนหันมาพกถุงผ้า ลดคาร์บอนได้ 2.3 ล้านกิโลกรัม
ง่ายกว่านั้น แค่คุณแยกขยะกระป๋องอะลูมิเนียมเพื่อนำไปรีไซเคิลแค่วันละ 1 กระป๋อง เป็นเวลา 1 ปี จะช่วยลดขยะได้ 33.32 กิโลกรัม แล้วถ้า 1 ล้านคนทำสิ่งเล็กน้อยนั้นพร้อมๆ กัน จะลดขยะได้มากถึง 33 ล้านกิโลกรัมเลยทีเดียว
อเล็กซ์ย้ำว่า เรื่องแบบนี้อยู่ที่ Mindset ถ้าเราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดแบบยั่งยืนให้ได้ เราจะเห็นภาพชัดว่าสุดท้ายแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย คนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือตัวเราเอง ครอบครัว หรือลูกหลานของเรา
เต้ยขอพูดในฐานะผู้บริโภค อยากชวนให้ทุกคนเปิดใจให้มาใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก แค่ปรับพฤติกรรมหรือความเคยชินของตัวเองเพียงเล็กน้อยก็เหมือนได้พาตัวเองเข้าไปเป็นหนึ่งในขบวนการรักษ์โลก “สิ่งสำคัญคือ เราสามารถให้ฟีดแบ็กกับองค์กรหรือบริษัทผู้ผลิตได้ แต่ควรจะเป็นความคิดเห็นเชิงบวก เพราะคำพูดเล็กน้อยของเราเป็นได้ทั้งกำลังใจให้เขาทำสิ่งดีๆ ต่อไป หรืออาจจะกลายเป็นสิ่งบั่นทอนให้การพัฒนาหยุดลงก็ได้”
จิรพัฒน์ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า “เนสท์เล่ไม่หยุดพัฒนาอย่างแน่นอน ทุกความคิดเห็นของทุกคนมีค่า ช่วยให้เรานำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีๆ คืนกลับสู่ผู้บริโภค ก็อยากจะชวนทุกคนมาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ร่วมเปลี่ยนแปลงสิ่งเล็กน้อยที่สามารถช่วยโลกใบนี้ได้”
นอกจากไอเดียง่ายๆ ที่ได้จากแขกรับเชิญ ใครที่ติดตาม Virtual Talk Live ตั้งแต่ต้นจนจบ น่าจะได้ไอเดียดีๆ จากผู้ชมทางบ้านที่แชร์วิธีดูแลโลกเพื่อส่งต่อโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นหลัง คลิกชมเพื่อชมไอเดียดีๆ และเปิดรับแรงบันดาลใจดูแลบ้านหลังใหญ่แบบเต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/3FBOpkb