วันนี้ (19 พฤษภาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 ร่วมเวทีประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ‘ปราบโกง กทม. ผู้ว่าฯ ในอนาคตและอนาคตของผู้ว่าฯ’ โดยระบุว่า กทม. ‘เอาจริง โปร่งใส ไม่ส่วยเส้น’ ตอกย้ำนโยบายบริหารจัดการดี เพื่อกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา จุดเดียวจบ มีระบบติดตาม เปิดเผยข้อมูล ชี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด คือหลุมดำขนาดใหญ่ของปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน กทม. เพราะไม่เปิดเผยข้อมูล ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้
โดยชัชชาติกล่าวว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากเป็นวิสาหกิจของ กทม. ที่มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยปรากฏในงบประมาณ กทม. เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ให้เดินรถถึงปี 2585 แต่ไม่มีการเปิดเผยสัญญาจ้างให้เห็นรายละเอียด ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งที่มูลค่าของรถไฟฟ้าเกินข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ดังกล่าว อีกตัวอย่างหนึ่งคือสัญญาสัมปทานโฆษณาของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ปัจจุบันได้รับสัมปทานเพียงบางสถานี แต่ขบวนรถที่ติดโฆษณากลับวิ่งประชาสัมพันธ์ทุกสถานีรวมส่วนสถานีที่ กทม. ลงทุนด้วย แต่ไม่มีข้อมูลว่า กทม. ได้รับส่วนแบ่งค่าโฆษณาหรือไม่
ชัชชาติยังได้ยกตัวอย่างโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ที่กรุงเทพธนาคมได้รับสิทธิ์ดำเนินการประมาณ 2,500 กิโลเมตร รวมมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ไม่มีการระบุว่านำงบประมาณจากส่วนไหนมาดำเนินการ และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่อเรื่องดังกล่าว
“กทม. มีหลุมดำหลุมงบประมาณก้อนเบ้อเริ่มคือ กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม. ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท แต่ทำสัญญาโครงการเป็นแสนล้าน มีหนี้อีกประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระต่อเนื่องที่เกิดจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวต่อไปอีกว่า คนที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเข้าไปศึกษาสัญญาและเงื่อนไขทั้งหมดเพื่อหาทางออกโดยยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง อีกทั้งยังต้องมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน ครอบคลุมทั้งหน่วยงานใน กทม. และอื่นๆ เช่น กรุงเทพธนาคม ครอบคลุมถึงรายละเอียดตั้งแต่การวางแผนโครงการ การยื่นซองเสนอราคา การตัดสินผู้ชนะ การจัดทำสัญญา และการดำเนินโครงการที่จะเกิดขึ้นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบการดำเนินงานด้านบริการสาธารณะของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนด้านการบริการประชาชนให้ปลอดคอร์รัปชัน ชัชชาติระบุว่า กทม. ต้องพัฒนาระบบจุดเดียวจบ (One Stop Service) ยื่นขออนุญาตทางดิจิทัล ผู้ขออนุญาตและผู้ให้อนุญาตไม่ต้องพบกัน ไม่มีโอกาสในการจ่ายใต้โต๊ะ ควบคู่กันไปต้องใช้ระบบติดตาม (Tracking System) เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเรื่องถึงขั้นตอนไหน เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ การส่งข้อมูลเป็นดิจิทัลจะทำให้ กทม. นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการตรวจสอบการขออนุญาตที่มีความถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ระยะร่น ระยะเว้น ทำให้สามารถลดการใช้ดุลยพินิจของคนได้
ชัชชาติยังได้กล่าวเพิ่มเติมข้อเสนออีกประเด็นสำคัญ คือกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการ รวมทั้งการซื้อตำแหน่ง ที่จำเป็นต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เสนอให้นำระบบคุณธรรมเข้ามาดำเนินการ เช่น มีผู้ตรวจสอบคุณธรรมเข้าไปร่วมในกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการ เพื่อช่วยยุติปัญหาคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นตอ