วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE CANDIDATE BATTLE พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชันวิสัยทัศน์ และตอบคำถามจาก 16 ตัวแทนคน กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาแบบสดๆ และไฮไลต์สำคัญคือการแบตเทิล ตอบคำถามระหว่างผู้สมัคร
สำหรับรอบที่ 3: THE BATTLE FOR THE BETTER จับคู่ดวลความคิดกันตัวต่อตัว สู้กันด้วยวิสัยทัศน์และจุดยืน คำถามที่ใช้แบตเทิลคือ “สมมติว่าวันหนึ่งคุณเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้ววันหนึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีแนวคิดที่อาจจะกระทบใจคนใดคนหนึ่งในสังคม มาชุมนุมที่จุดที่มีความสำคัญในเชิงค่านิยมประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ คุณในฐานะผู้ว่าฯ คุณจะทำอย่างไร”
และคู่แบตเทิลในคำถามนี้ได้แก่ โฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 24 และ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 หลังการเป่ายิงฉุบ รสนาให้โฆสิตเริ่มตอบก่อน
โฆสิตตอบว่า ถ้ามีการชุมนุมขึ้นในหลักของประชาธิปไตย ไม่ผิดกฎหมาย เป็นการชุมนุมโดยสงบและไม่เดือดร้อนใคร ถ้าตนเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตนส่งเสริมประชาธิปไตยอยู่แล้ว และต้องอำนวยความสะดวกให้ทั้งเรื่องห้องน้ำ การทำความสะอาด แม้กระทั่งเรื่องความปลอดภัย ผู้ว่าฯ ต้องดูแลอย่างดี และอยากหาที่ให้ด้วย เพื่อความปลอดภัยและไม่เดือดร้อนคนอื่น พร้อมนำสื่อมาถ่ายทอดด้วย
นอกจากนี้ หากเรียกร้องอะไรที่เกี่ยวกับ กทม. ต้องจัดการทันที แต่หากไม่อยู่ในอำนาจ กทม. แต่อยู่ในอำนาจภาครัฐและเห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆ ผู้ว่าฯ กทม. ควรไปประสานกับภาครัฐเกี่ยวกับความเดือดร้อนดังกล่าว นอกจากนี้ ตนมีประสบการณ์การทำงานที่หน่วยงานระดับกรมด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของกระทรวงยุติธรรม ตนจะรณรงค์ให้คนมีความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนด้วยในทุกระดับ
ด้านรสนาระบุว่า การชุมนุมของประชาชนส่วนใหญ่เกิดจากความเดือดร้อน และการชุมนุมก็เป็นไปเพื่อบีบคั้นให้รัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะต้องพยายามยึดถนนเพื่อให้รถเดินทางลำบาก เพื่อบีบบังคับรัฐบาลให้เข้ามาแก้ปัญหา ในฐานะผู้ว่าฯ ก็ต้องดูแลทั้งผู้ที่มาชุมนุมและในเรื่องทางสัญจร อย่างไรก็ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุม ทั้งห้องน้ำ ความปลอดภัย และควรต้องเข้ามาดูประเด็นที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง
รสนาระบุว่า มั่นใจว่าสิ่งที่ กทม. จะสามารถประสานกับรัฐบาลว่าจะตอบสนองต่อประชาชนให้เกิดความพึงพอใจอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับสู่ฐานที่มั่นและเจรจาบนโต๊ะ ซึ่งผู้บริหารทั้ง กทม. และรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องเจรจา เพราะประชาชนคือเจ้าของประเทศ และการชุมนุมหมายถึงต้องมีประเด็นปัญหาที่เขาไม่พอใจ หรือรัฐบาลไม่ยอมตอบ แต่ถ้าเป็นเรื่องของ กทม. ตนไม่ต้องรอเขามาชุมนุม แต่จะฟังเขาเลย
ต่อมาในรอบโต้เป็นเวลา 30 วินาที โฆสิตระบุว่า จากประสบการณ์ในหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมดังกล่าว รวมถึงเรื่องศูนย์ไกล่เกลี่ยที่ตนตั้งมา 260 แห่ง และการศึกษาด้านการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมา ตนจะใช้กระบวนการยุติธรรมและไกล่เกลี่ย ตลอดจนทำความเข้าใจให้คนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน
ส่วนรสนาโต้กลับว่าต้องถามว่าไกล่เกลี่ยกับใคร และย้ำว่าต้องไกล่เกลี่ยกับรัฐบาล เพราะรัฐบาลเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาที่เขาต้องมาชุมนุม แต่ไม่ใช่ไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้คนที่มาชุมนุมเลิกกันไป เธอระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุด ปัญหาที่คนมาชุมนุมเพราะรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาของเขา “คุณจะแก้ปัญหายังไง” เธอตั้งคำถาม