วันนี้ (15 พฤษภาคม) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE CANDIDATE BATTLE พลิกโฉมดีเบต ศึกดวลความคิด พิชิตโหวต ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชันวิสัยทัศน์ และตอบคำถามจาก 16 ตัวแทนคน กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาแบบสดๆ และไฮไลต์สำคัญคือการแบตเทิลตอบคำถามระหว่างผู้สมัคร
สำหรับ ROUND 2: YOUR QUESTION YOUR VOICE วัดไหวพริบ ชิงกันตอบคำถามสดจากตัวแทนคนกรุงเทพฯ ของผู้สมัครด้วยเวลาจำกัด 3 นาที รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ได้ตอบคำถาม 3 ข้อ เริ่มต้นที่หัวข้อ สวัสดิภาพเด็กและครอบครัว จาก ทิชา ณ นคร ตัวแทนเด็กและครอบครัว
คำถาม ‘แนวทางจัดสภาพแวดล้อมพื้นที่สีเทา เพื่อสวัสดิการของเด็กให้มีความปลอดภัย ขอวิธีแก้ไขแบบรูปธรรม’
รสนากล่าวว่า ตนตั้งใจว่าเด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) 437 โรง ต้องเรียนฟรีแท้จริง ครึ่งวันเรียนที่โรงเรียน อีกครึ่งวันออกไปเรียนข้างนอก เช่น เรียนรู้การประกอบอาชีพ ซ่อมรถ เชฟ นักดนตรี และตลอด 120 วันที่ปิดเทอมต้องให้ทำกิจกรรม การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่วิชาเรียน เพราะไม่สำคัญเท่าการต่อยอดเรื่องอาชีพ
รสนาระบุว่า สิ่งสำคัญของการศึกษาไม่ใช่แค่เพื่อวิชาชีพอย่างเดียว การศึกษาต้องเป็นการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งการเป็นมนุษย์ กรุงเทพฯ ต้องมีระบบการศึกษาหลากหลายระบบ ทั้งการเรียนที่บ้าน เรียนเป็นกลุ่ม เพราะฉะนั้นอนาคตตนต้องการเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบการศึกษาการเรียนของ กทม.
โดยควรทำรูปแบบโรงเรียนในสังกัดให้เหมือนโรงเรียนสาธิต ทำให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายแบบในที่เดียว และค้นหาต้นแบบที่เหมาะสมกับแต่ละชุมชน ทั้งนี้ การที่เด็กได้เรียนฟรีมีความจำเป็น และ กทม. ก็สามารถสนับสนุนได้ สามารถเปิดพื้นที่ในสิ่งที่เด็กอยากจะเรียนรู้
รสนากล่าวต่อว่า ตนมีทีมงานที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มก่อการครู จัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กสามารถออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้เด็กเรียนสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านั้นไม่ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมไปสู่อบายมุข สิ่งสำคัญคือต้องเปิดพื้นที่ชุมชนและให้ผู้ใหญ่คอยสนับสนุน การที่จะไม่ให้เด็กไปสู่อบายมุขคือต้องเปิดโอกาสให้เขา
ส่วนของหัวข้อ ‘พื้นที่สีเขียว’ จาก สันติ โอภาสปกรณ์กิจ ตัวแทน BIG Trees คำถาม ‘การจัดสรรพื้นที่ทำสวนสาธารณะจะหาพื้นที่ไหนมาทำ จะจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลสวนและต้นไม้ใหญ่อย่างไร เพราะงบเดิมที่มีอยู่น้อยมาก การพัฒนาอุปกรณ์เจ้าหน้าที่ที่ดูแลสวนจะทำแนวทางไหน และอนาคตหากเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรอื่นได้หรือไม่’
รสนากล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็น Big city แต่ไม่ใช่ Great City เพราะว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศสิงคโปร์เมื่อ 50 ปีที่แล้วที่เคยเป็นเกาะโจรสลัด แต่เพราะวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศเขาจึงสามารถทำให้มีพื้นที่สีเขียวมากจนเวลานี้เป็น City in the garden การเป็นพื้นที่สีเขียวทำให้เป็นประเทศที่เจริญ เป็นประเทศที่หลายประเทศต้องการมาลงทุน
ประเทศไทยเคยเป็นพื้นที่สีเขียวมากมาย แต่เพราะผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ เราคงมีความคิดแบบสมัยก่อนที่เห็นป่าเราจะฟัน เราก็เลยไม่มีอะไรเลย นโยบายของตน ระบุชัดเจน 9 ตารางเมตรต่อคนเป็นมาตรฐานโลกเราต้องทำ ฉะนั้นพื้นที่ กทม.รกร้างว่างเปล่าต้องทำให้เป็นพื้นที่สีเขียว และชุมชนนั้นต้องมีส่วนร่วม ซึ่งตนยังมีนโยบายที่จะกระจายงบประมาณ 50 ล้านบาทเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมทำกิจกรรมที่คิดว่าต้องการ ใน กทม. แต่ละเขตควรจะมีสวนอย่างน้อย 2-3 สวน และต้องพัฒนารุกขกร เพื่อฝึกฝนให้สามารถตัดแต่งต้นไม้ได้ชำนาญ ไม่ใช่ตัดอย่างหัวโกร๋นแบบทุกวันนี้
ทั้งนี้ ใน กทม. มีต้นไม้ใหญ่เราต้องช่วยกันรักษา ไม่ใช่ว่าจะขยายถนนตัดต้นไม้ต้องรักษาให้ได้ ในเรื่องนี้กลุ่มต่างๆ ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต้องเข้ามาช่วยได้เต็มที่ โดยรสนาระบุว่า ถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ที่ทำสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปาร์ตี้หนึ่งใน กทม. เพื่อแนะนำ เพราะเชื่อว่าผู้ว่าฯ ไม่มีทางรู้ทุกเรื่อง การที่เราเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาช่วยกันจะทำให้เราสามารถปรับปรุงกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้นได้
ในส่วนของหัวข้อ ‘คนจนเมือง’ จาก นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ตัวแทนชุมชนเครือข่ายที่อยู่อาศัยคลองเตย คำถาม ‘นโยบายจัดสรรพื้นที่อาศัยให้กับกลุ่มคนจนเมืองที่ทำงานให้เมือง’
รสนาระบุว่า ตนเองมองเห็นว่าคนที่อยู่ในชุมชนคลองเตย ซึ่งถือว่าเป็นอีกพื้นที่ใหญ่ที่สุดในเมือง เปรียบเป็นฐานพีระมิดเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ เพราะว่าคนคลองเตยย้ายเข้ามาในสมัยที่คลองเตยเป็นท่าเรือ การที่คนจนเมืองเหล่านี้เข้ามาสร้างเมือง สร้างความร่ำรวย สร้างสิ่งที่เป็นความเจริญให้มหานครแห่งนี้เขาไม่เคยได้รับการจัดสรรที่อยู่อาศัย ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ผ่านมารัฐบาลจะพัฒนาเฉพาะกลุ่มแรงงาน แต่ไม่เคยทำในเรื่องคุณภาพชีวิตให้คนเหล่านี้ ทำให้เกิดสลัมขึ้นมามากมาย
ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลที่ดีต้องจัดการที่อยู่อาศัยให้ได้ ระบบที่เกิดขึ้นเวลานี้คือการเอาพื้นที่ทั้งหลายยกให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการก่อสร้าง ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่าไม่สมควร ทั้งที่รัฐบาลสามารถให้กลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ เจ้าสัวต่างๆ สามารถที่จะสัมปทานขออาศัยเช่าพื้นที่ 50 ปี 90 ปี แต่ทำไมไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้คนจนเมืองที่จะอยู่ในเมืองแห่งนี้ เหตุใดต้องแยกคนเหล่านี้ออกไปนอกเมือง
รสนากล่าวต่อว่า ถ้าตนมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะร่วมกับภาคประชาชนเจรจากับหน่วยงานของภาครัฐทำ Land Sharing เพื่อย้ำว่าต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้คนจนเมืองที่ได้ร่วมสร้างเมืองนี้ขึ้นมาด้วย
และคำถามสุดท้ายในรอบนี้มาจาก นงลักษณ์ คำนนท์ ตัวแทนแม่ค้า คำถาม ‘การจัดสรรพื้นที่ค้าขาย การแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย’
รสนากล่าวว่า กลุ่มพ่อค้าหาบเร่แผงลอยถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ เป็นผู้ที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่สำคัญใน กทม. ฉะนั้นสิ่งแรกที่ตนจะทำคือการยกเลิกข้อบัญญัติที่อดีตผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ อัศวิน ขวัญเมือง ได้ตั้งไว้ปี 2563 เรื่องระเบียบที่กำจัดหาบเร่แผงลอยทั้งหมด
ตนจะเริ่มต้นใหม่โดยขอให้มีการลงทะเบียนพ่อค้าแม่ค้า และจะจัดให้มีพื้นที่การขายของสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่มีต้นทุนน้อย โดยจะจัดทำกองทุนให้ผู้ค้าสามารถกู้ยืมด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อสนับสนุนการขายของกลุ่มนี้ให้เป็นไปได้ จัดพื้นที่ให้มีการขาย และจะสนับสนุนให้ขายต่อไปโดยไม่มีการจับหรือเก็บส่วย