ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดฉากขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในค่ำคืนนี้ อันเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นด้านอินโด-แปซิฟิกและความท้าทายเกี่ยวกับจีนในระยะยาว แม้จะมีวิกฤตยูเครนเข้ามาแทรกก็ตาม
การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน เปิดฉากด้วยการร่วมรับประทานอาหารค่ำระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และบรรดาผู้นำจากชาติสมาชิกอาเซียนในคืนวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่จะเริ่มการประชุม ณ กระทรวงการต่างประเทศในวันที่ 13 พฤษภาคม
นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังจะได้เข้าพบ จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และ แคทเธอรีน ไท ผู้แทนทูตการค้าสหรัฐฯ รวมถึงผู้นำจากภาคธุรกิจเอกชน เพื่อผลักดันความร่วมมือในมิติด้านการค้าอีกด้วย
สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะมีผู้นำอาเซียนเพียง 8 ชาติจากทั้งหมด 10 ชาติที่มาร่วมการหารือ โดยสหรัฐฯ ไม่ได้เชิญผู้นำทหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมด้วย ส่วนฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในระหว่างการถ่ายโอนอำนาจใหม่หลังจากการเลือกตั้งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์
ทั้งนี้ ทำเนียบขาวอยู่ในระหว่างการหารือกับอาเซียนว่า จะปล่อยให้เก้าอี้ของผู้นำเมียนมาเว้นว่างเอาไว้ในการประชุม เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการทำรัฐประหารของกองทัพเมื่อปีที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้มีกำหนดเปิดฉากขึ้นก่อนที่ไบเดนจะเดินทางเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคมนี้ รวมถึงแผนพบปะผู้นำประเทศในกลุ่ม Quad อันได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งผนึกกำลังกับสหรัฐฯ ในการป้องกันภัยคุกคามจากจีนที่หวังแผ่อิทธิพลในเอเชียและในระดับโลก
เคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานกลุ่มอินโด-แปซิฟิกของไบเดน เปิดเผยวานนี้ (11 พฤษภาคม) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ละความสนใจในประเด็นด้านอินโด-แปซิฟิก และจะพยายามเพิ่มการลงทุนและการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมจะร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นที่น่ากังวลต่างๆ รวมถึงปัญหาจากจีน เมียนมา ไต้หวัน และสถานการณ์ในยูเครน “เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ประเทศต่างๆ จะต้องตระหนักว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับยูเครนจะต้องไม่เกิดขึ้นในเอเชีย” แคมป์เบลล์กล่าว โดยอ้างถึงกรณีที่จีนอาจใช้กำลังเข้ายึดครองไต้หวันหากจำเป็น
แต่ถึงเช่นนั้น แคมป์เบลล์ยอมรับคำตำหนิที่ว่า สหรัฐฯ มีส่วนร่วมกับอาเซียนน้อยลงมากในหลายประเด็นสำคัญ ซึ่งสหรัฐฯ จะใช้เวทีนี้ในการส่งสัญญาณครั้งใหม่ว่า “สหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของอาเซียน”
นอกจากนี้ แคมป์เบลล์เน้นย้ำว่า จะมีการหารือครั้งสำคัญกับผู้นำชาติอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคโนโลยี การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน โดยสหรัฐฯ จะประกาศแผนการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายในแปซิฟิกในอีกไม่ช้า
เคท เรโบลซ์ รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดดังกล่าวจะเป็นการเปิดเผยวิสัยทัศน์อันทะเยอทะยานของสหรัฐฯ และชาติอาเซียน ตลอดจนโครงการริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในด้านสาธารณสุข สภาพภูมิอากาศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า แม้การประชุมครั้งนี้จะเน้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าอาจไม่มีความคืบหน้าครั้งสำคัญเกิดขึ้นมากนัก แต่นักวิเคราะห์และนักการทูตหลายคนมองว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าจีนยังคงเป็นความท้าทายที่หนักหน่วงในด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แม้จะมีวิกฤตเร่งด่วนอย่างประเด็นรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาแทรกก็ตาม
“การประชุมนี้เป็นการส่งสารให้โลกเห็นว่า สหรัฐฯ สามารถทำทุกอย่างไปพร้อมกันได้ และทำได้อย่างดีด้วย” บิลาฮารี เคาซิกัน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าว
บรรดาชาติสมาชิกอาเซียนต่างมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับจีน และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่พวกเขาก็ต้องพบกับความผิดหวัง เนื่องจากแผนการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองดินแดนนั้นหยุดชะงักไป นับตั้งแต่ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงการค้า TPP ในปี 2017
ในการประชุมออนไลน์กับผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะเริ่มหารือเกี่ยวกับการพัฒนากรอบการทำงานด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่นักวิเคราะห์มองว่าการประชุมครั้งนี้อาจจะได้เห็นเพียงแค่ข้อมูลคร่าวๆ เท่านั้น
นักวิเคราะห์และนักการทูตคาดการณ์ว่า สิงคโปร์และฟิลิปปินส์เป็นเพียง 2 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกๆ ที่ได้ลงนามในการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าผิดหวังว่าผู้นำจากอาเซียนจะมีเวลาพบปะกับไบเดนเป็นการส่วนตัวน้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีการประชุมระดับทวิภาคีนอกการประชุมหลักอีกด้วย
ภาพ: Drew Angerer / Getty Images
อ้างอิง: