ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงต่อสื่อวานนี้ (10 พฤษภาคม) โดยกล่าวถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของจีนว่า ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับไวรัสในตอนนี้
“เราไม่คิดว่ามันยั่งยืน เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของไวรัสและสิ่งที่เราคาดหวังในอนาคต เราได้หารือเรื่องนี้กับผู้เชี่ยวชาญชาวจีนแล้ว และเราได้ข้อบ่งชี้ว่าแนวทางนี้จะไม่ยั่งยืน ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีความสำคัญมาก” ดร.ทีโดรสกล่าว
ขณะที่เขากล่าวว่า ความรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโควิดและเครื่องมือที่ดีกว่าในการต่อสู้กับมัน ยังชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด
ความเห็นของ ดร.ทีโดรส มีขึ้นหลังผู้นำจีนเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่จะต่อสู้กับการระบาดของโควิดด้วยมาตรการที่เข้มงวด และขู่ว่าจะดำเนินการกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์มาตรการที่อยู่ในประเทศ ถึงแม้ว่าการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและยืดเยื้อจะส่งผลอย่างมากต่อจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก
ทางด้าน ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ผลกระทบของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในด้านสิทธิมนุษยชนนั้นจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน
“เราเคยพูดในฐานะ WHO เสมอว่า เราต้องสร้างสมดุลระหว่างมาตรการควบคุมกับผลกระทบที่มีต่อสังคม ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ และนั่นไม่ใช่การปรับเปลี่ยนที่ง่ายเสมอไป”
อย่างไรก็ตาม ไรอันตั้งข้อสังเกตว่า จีนขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตจากโควิดอยู่ที่ราว 15,000 คน นับตั้งแต่ที่พบการระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นเมื่อปลายปี 2019 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ที่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดแล้วเกือบ 1 ล้านคน หรืออินเดียที่พบผู้เสียชีวิตกว่า 524,000 คน
และด้วยข้อมูลนี้จึงทำให้เข้าใจได้ถึงสาเหตุที่รัฐบาลปักกิ่งต้องการคงมาตรการที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์
ภาพ: Photo by Alexander Hassenstein – FIFA/FIFA via Getty Images
อ้างอิง: