UNDP ร่วมกับธนาคารกรุงไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย สานต่อโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ต่อเนื่องเป็นปีที่สอง มุ่งเน้นต่อยอดโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกาะเต่า เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตัวเองผ่านกิจกรรมร่วมทำและส่งมอบซั้งปลา จัดหาอุปกรณ์สนับสนุนความปลอดภัยในการท่องเที่ยว รวมถึงการให้ความรู้ทางด้านการเงินกับชุมชน เพื่อให้สามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชนบนเกาะเต่า โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า จึงเกิดขึ้นเพื่อระดมทุนสาธารณะในรูปแบบ Crowdfunding ด้วยการรับบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ของธนาคารกรุงไทย เพื่อนำไปจ้างคนขับเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กเก็บขยะในทะเล และนำเงินบริจาคส่วนที่เหลือไปต่อยอดโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกาะเต่าอีก 5 โครงการ ได้แก่
โครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่ม Taxi Boat เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการชายหาดทะเลปลอดเชือกเพื่อการท่องเที่ยวอ่าวแม่หาด โครงการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยซั้งปลา โครงการส่งเสริมเยาวชนจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการท่องเที่ยวตำบลเกาะเต่า และโครงการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมธรรมชาติพร้อมกิจกรรมพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว จึงเกิดกิจกรรมต่อยอดโครงการในปีที่สอง ที่ธนาคารกรุงไทยร่วมกับ UNDP ประเทศไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย ลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น
ธนาคารกรุงไทย UNDP และมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมมอบอุปกรณ์ดูแลสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความปลอดภัยในการท่องเที่ยว
แอนนาเบล ทรินิแดด ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสประจำโครงการ BIOFIN ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีช่องว่างเรื่องการเงินเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Finance) อยู่มาก แต่เราคาดหวังว่าความร่วมมือขององค์กรภาคี และการนำกลไกการเงินและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพมานำร่องแก้ไขปัญหาทางการเงินในระดับเทศบาลในครั้งนี้ จะสามารถช่วยปิดช่องว่างเหล่านั้นได้ ความมุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนโครงการ BIOFIN ของ UNDP ขององค์กรภาคี ซึ่งทางธนาคารกรุงไทย มูลนิธิรักษ์ไทย เทศบาลตำบลเกาะเต่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการร่วมผลักดันการอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างอย่างยั่งยืนต่อไปในประเทศไทย
นวลศิริ ไวทยานุวัตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลสำเร็จจากโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ในปีที่ผ่านมา นอกจากทำให้ธนาคารได้รับรางวัลระดับสากลประเภท Great Practice ในเวที Global Corporate Sustainability Awards: GCSA 2021 จากไต้หวันแล้ว ธนาคารถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องด้านการใช้นวัตกรรมทางการเงินสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและการยกระดับให้ชุมชนเกาะเต่าเป็นกรณีศึกษา ทั้งด้านการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอกย้ำถึงการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Sustainable Banking) สร้างความเติบโตให้กับทุกภาคส่วนของสังคม ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นวลศิริ ไวทยานุวัตติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
ไฮไลต์หลักของกิจกรรมการลงพื้นที่ในครั้งนี้อยู่ที่การอบรมให้ความรู้ทางการเงินกับชุมชน โดยธนาคารกรุงไทยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ MoreFin ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชนให้เข้าใจหลักการพื้นฐานในการบริหารจัดการทางการเงิน มีความเข้าใจเทคโนโลยีทางการเงินในยุคดิจิทัลที่สามารถช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น รวมถึงการตรวจสุขภาพทางการเงินในรูปแบบกิจกรรมเวิร์กช็อปแก่ชาวชุมชนเกาะเต่า เพื่อให้ชุมชนรู้จักวิเคราะห์ฐานะการเงินของครัวเรือนและดูแลจัดการการเงินได้อย่างถูกต้อง
ธนาคารกรุงไทย จัดทีม MoreFin ให้ความรู้การเงินกับชุมชน
บุญธิดา เกตุสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า มูลนิธิรักษ์ไทยได้ศึกษาปัญหาร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะเต่า และได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย และ UNDP ในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยการจ้างงานกลุ่มเรือรับจ้างขนาดเล็กในการเก็บขยะทางทะเล รวมทั้งได้ร่วมกันกับธนาคารกรุงไทย และ UNDP ในการวางแผนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมกลุ่มอาชีพของชุมชน เช่น กลุ่มปลาตากแห้ง กลุ่มทำผ้ามัดย้อม และมีการต่อยอดในการทำซั้งปลากับกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน รวมทั้งการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเยาวชน เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งกิจกรรมหลักของงานในครั้งนี้คือ การ่วมทำซั้งปลาและปล่อยซั้งปลาบริเวณรอบเกาะเต่า เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล โดยซั้งปลาหรือปะการังเทียมพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่อดีต เป็นเครื่องมือดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอาศัยอยู่รวมกัน เป็นแหล่งอาศัยและขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำในท้องทะเล ลงทุนน้อย ทำง่าย ช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนในการทำประมงพื้นบ้านจากการวิ่งเรือออกไปไกลจากชายฝั่ง และยังช่วยลดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรของคนในชุมชน
เจริญสุข สุขผล ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเกาะเต่า กล่าวว่า ซั้งปลาเป็นแหล่งประมงชายฝั่งที่ดี ในแต่ละวันชาวประมงสามารถจับปลาหาเลี้ยงชีพได้วันละไม่น้อยกว่า 500 บาท ช่วยให้กลุ่มประมงพื้นบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความขัดแย้งในการแย่งพื้นที่กับกลุ่มนักดำน้ำ ทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำกินที่ไม่กระทบการท่องเที่ยว ความขัดแย้งในชุมชนก็เริ่มลดลง ความสุขของชุมชนกลับมาดีขึ้น
ผู้บริหาร UNDP ประเทศไทย ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ร่วมกันปล่อยซั้งปลา
อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดง และทูตสันถวไมตรีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เกาะเต่ามีความสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เป็นสวรรค์ของนักดำน้ำจากทั่วโลก คนในพื้นที่มีอัธยาศัยไมตรีที่ดี พร้อมจะมอบรอยยิ้มให้นักท่องเที่ยว การร่วมกิจกรรม #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้ถึงวิถีชาวประมงในการใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งในเรื่องการทำซั้งปลา การทำทุ่นไข่ให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก และการทำอาชีพเสริมจากการทำประมง อาทิ ผ้ามัดย้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับวิถีชีวิตของชุมชน กิจกรรมในครั้งนี้จึงมีความสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้เราตระหนักถึงความสำคัญและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม
อเล็กซ์ เรนเดลล์ ร่วมทำซั้งปลาและปล่อยซั้งปลาในโครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า
นอกจากนี้ทีม UNDP ธนาคารกรุงไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย ยังเยี่ยมชมกิจกรรมในโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกาะเต่า ได้แก่ โครงการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมธรรมชาติ และโครงการการแปรรูปปลาตากแห้งของชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากเงินระดมทุนในครั้งแรก ซึ่งทั้งสองโครงการนี้เป็นกิจกรรมส่วนต่อยอดในการสร้างองค์กรความรู้และสร้างรายได้ให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
โครงการ #UNDPกรุงไทยรักเกาะเต่า ปีที่สองนี้จึงเป็นการสนับสนุนต่อยอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง จากความช่วยเหลือทางการเงินในปีแรกเพื่อให้ชุมชนตั้งตัวได้ สู่การต่อยอดองค์ความรู้ในปีที่สองเพื่อให้ชาวบ้านชุมชนเกาะเต่ามีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และสานต่อสู่กิจกรรมในปีต่อๆ ไป เพื่อสร้างความยั่งยืนผ่านการใช้นวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระยะยาว