×

‘มหาพายุ’ จ่อขย่ม ‘ศก.โลก’ จับตาแรงสะเทือนจากมรสุม 3 ลูก โจทย์หินไทยเร่งรับมือ

10.05.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

HIGHLIGHTS

  • วิกฤตรอบใหม่อาจมาเยือนเศรษฐกิจโลกเร็วกว่าที่คิด จาก ‘มรสุม 3 ลูก’ ที่กำลังก่อตัวขึ้นเป็น ‘มหาพายุ’ หรือ Perfect Storm ที่ทั่วโลกควรรับมือให้ดี เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย
  • มรสุมแรก ‘Fed’ จ่อขึ้นดอกเบี้ยเร็ว-แรง ห่วงดึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยซ้ำซ้อนช่วงปลายปีหน้า ทำเศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูงขึ้น
  • มรสุมที่สอง สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจดึงเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยจากปัญหาพลังงานและเงินเฟ้อ และยังทำให้โลกเสี่ยงเผชิญวิกฤตด้านอาหารในระยะข้างหน้า
  • มรสุมสุดท้าย การล็อกดาวน์โควิดในจีน ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อโลกเสี่ยงลากยาวขึ้นจากปัญหาคอขวดด้านการผลิตและการขนส่ง เศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัวแรง
  • สถานการณ์เหล่านี้กำลังสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ อาจทำให้ปัญหาหนี้ของประเทศเกิดใหม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จับตาปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

ยังไม่ทันที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึง ก็ดูเหมือนว่า ‘วิกฤตรอบใหม่’ กำลังกลับมาเยือนโลกใบนี้อีกครั้งจาก ‘มรสุม 3 ลูก’ ที่นักเศรษฐศาสตร์มองภาพคล้ายกันว่าอาจจะกลายเป็น ‘มหาพายุ’ หรือ Perfect Storm ลูกใหญ่ซึ่งกำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้ อาจเข้ามาสั่นสะเทือนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้วให้สาหัสมากยิ่งขึ้น 

 

มรสุมทั้ง 3 ลูกที่ว่านี้ คือ 1. การเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ซึ่งจะกลายเป็นการเจาะฟองสบู่ในสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน 2. สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย และซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อโลกที่รุนแรงอยู่แล้วติดสปีดรุนแรงมากขึ้น 3. ปัญหาการระบาดของโควิดในจีนจากนโยบาย ‘Zero-COVID’ นำไปสู่การล็อกดาวน์ในหลายๆ เมือง โดยเฉพาะเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ 

 

สาเหตุที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลว่านี่จะกลายเป็น Perfect Storm ลูกใหม่ และเป็นโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย เพราะถ้านับขนาด GDP ของทั้ง 3 ประเทศรวมกันแล้ว คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% หรือราวๆ 2 ใน 3 ของ GDP โลก ที่สำคัญทั้ง 3 ประเทศยังมีสัดส่วนการค้าขายกับ ‘ไทย’ ราว 40% คำถามคือ เศรษฐกิจไทยจะรับมือกับ ‘มหาพายุ’ ลูกนี้ได้หรือไม่?

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


 

มรสุมลูกแรก ‘Fed’ ขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ เจาะฟองสบู่ รั้งเศรษฐกิจถดถอย

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้ดีในระดับ ‘วีเชฟ’ จากวิกฤตโรคระบาด อันเป็นผลจากมาตรการด้านการเงินและการคลังที่อัดฉีดเข้ามาอย่างมโหฬาร ทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศฟื้นตัวรวดเร็ว แต่ปัญหาคอขวดด้านการผลิต (Production Bottlenecks) และคอขวดด้านโลจิสติกส์ (Logistic Bottlenecks) ซึ่งเป็นควันหลงจากช่วงโควิด ทำให้การผลิตและการขนส่งสินค้าไม่สามารถทำได้ทันกับความต้องการของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ซัพพลายไม่เพียงพอต่อดีมานด์ ราคาสินค้าจึงปรับเพิ่มขึ้น กดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

เดิมที ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คิดว่าปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ จะเกิดเพียงแค่ชั่วคราว แต่ล่าสุดดูจะลากยาวไปแล้ว เพราะสถานการณ์โควิดในจีนยังไม่จบลงง่ายๆ โดยเฉพาะนโยบาย ‘Zero-COVID’ ที่มีคำสั่งปิดเมืองสำคัญในหลายๆ เมือง ทำให้ปัญหาด้านการผลิตและการขนส่งยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับสถานการณ์สงครามเข้ามาซ้ำเติมแรงกดดันในเรื่องเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้ว ทำให้ยิ่งหนักมากขึ้น ผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง และน่าจะทรงตัวในระดับสูงไปอีกนาน 

 

เงินเฟ้อที่พุ่งแรงและยาวนานเริ่มสร้างความกังวลใจต่อ Fed มากขึ้น ทำให้ Fed ต้องออกมาประกาศว่าจะเร่งคุมนโยบายการเงินเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด โดยดอกเบี้ยนโยบายที่ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ คงไม่ต่างจาก ‘เข็ม’ ที่เจาะเข้าไปยังฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ ซึ่งอาจจะสั่นสะเทือนไปยังภาคเศรษฐกิจจริง และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง และที่สำคัญ ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกำลังทำให้ปัญหาหนี้สินอันรุงรังในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง

 

จากข้อมูลในอดีตตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ทั้งหมด 11 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ Soft Landing ที่เหลืออีก 9 ครั้งต้องเผชิญกับ Hard Landing หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

 

มรสุมลูกสอง ‘สงครามยูเครน’ ปั่นเงินเฟ้อโลกพุ่งกระฉูด

 

ความรุนแรงระหว่างรัสเซียและยูเครน ดูเหมือนว่าจะลากยาวออกไปโดยไม่รู้ว่าจะจบอย่างไรและจบเมื่อไร แน่นอนว่าสถานการณ์นี้กำลังซ้ำเติมปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ ที่หนักหนาอยู่แล้วให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น สะท้อนผ่านราคาน้ำมันซึ่งในปีนี้ขยับขึ้นมาแล้วเกือบ 50% จากระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขึ้นมาแกว่งตัวในระดับ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยไปกว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลก โดยเฉพาะราคา ‘ปุ๋ย’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคการเกษตร โดยปัจจุบันราคาปุ๋ยขยับขึ้นไปไม่น้อยกว่า 200% จึงต้องติดตามดูว่าปัญหานี้จะนำไปสู่ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงหรือไม่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มแสดงความเป็นห่วงว่า เกษตรกรอาจเลือกที่จะลดการใช้ปุ๋ยลงจากปัญหาราคาที่ขยับขึ้นมาแรง และนี่อาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ คือ วิกฤตการณ์ด้านอาหารในระยะข้างหน้าได้

 

จากข้อมูลของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ราคาปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) ซึ่งเป็นปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรชาวไทยนิยมใช้กันมากที่สุด ราคาขยับขึ้นมาแล้วกว่า 139% หรือขึ้นมาจากระดับ 11,700 บาทในเดือนมีนาคม 2564 มาอยู่ที่ 28,000 บาทในเดือนมีนาคม 2565 พูดง่ายๆ คือ ราคาพุ่งเกินกว่า 1 เท่าตัวแล้ว 

 

มรสุมลูกที่สาม ‘Zero-COVID’ นโยบายคุมเข้มจีนป่วนการค้าโลก

 

ปัญหาโควิดในจีนซึ่งเดิมทีดูเหมือนจีนจะเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ก่อนใคร แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบัน ‘จีน’ น่าจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว 

 

มีการประเมินกันว่า เมืองที่ถูกล็อกดาวน์ในขณะนี้มีกว่า 45 เมือง และมีประชากรไม่น้อยกว่า 400 ล้านคนที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเมืองเหล่านี้มีส่วนต่อ GDP ของจีนราว 40% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ต่ำกว่า 5.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายเอาไว้ในปีนี้ 

 

ผลกระทบจากนโยบาย Zero-COVID ของจีนกำลังทำให้ภาคการผลิตโลกกลับมาปั่นป่วนอีกครั้ง ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อโลกที่รุนแรงอยู่แล้วให้สาหัสและยาวนานยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศด้วย แน่นอนว่ากรณีเหล่านี้ ไทยคงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก

 

ห่วง Fed คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ขึ้นดอกเบี้ยแรง บีบ ธปท. ต้องเร่งขึ้นตาม

 

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขียนบทความใน THE STANDARD WEALTH เรื่อง ‘ฤๅเศรษฐกิจไทยจะไม่พ้นวิบากกรรม: เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงถดถอย?’ ระบุว่า ปัจจัยที่ตลาดพูดถึงมากที่สุดที่จะนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ใช่การบานปลายของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน (ซึ่งยังตัดทิ้งไม่ได้) แต่เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เพื่อหยุดความร้อนแรงของตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ ที่ตอนนี้คาดกันว่าอาจจะไปหยุดที่ 3.5% ในปีหน้า

 

ประเด็นคือ ถ้าไปถึง 3.5% แล้ว Fed ยังจัดการเงินเฟ้อไม่ได้ Fed ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีก ซึ่งหลายฝ่ายคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าจะรับไหว โดยจุดเปราะบางที่สำคัญคือตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นฟองสบู่ราคาสินทรัพย์เดียวในปัจจุบันที่ยังไม่ถูกปล่อยลมออกไปบ้างแบบตลาดหุ้นและตลาดคริปโต แม้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้นมากกว่า 2% นับจากต้นปีแล้วก็ตาม

 

ทั้งนี้ ฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เกิดขึ้นที่เฉพาะสหรัฐฯ แต่เกิดขึ้นกับประเทศหลักทั่วโลก จะมียกเว้นก็อาจเฉพาะจีนกับไทย และเป็นอะไรที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ซึ่งเป็นเสมือนธนาคารของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นห่วงมาก

 

ถ้า Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่า 3.5% จริง ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยรุนแรง ธปท. ที่สุดแล้วอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงเช่นกัน

 

Perfect Storm เขย่าเศรษฐกิจไทย จับตาเครื่องยนต์ส่งออก

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยังคงต้องติดตามดูว่าปัญหาทั้ง 3 ด้านนี้จะทำให้แต่ละประเทศ (สหรัฐฯ, กลุ่มประเทศยุโรป และจีน) เผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือไม่ เพราะแต่ละประเทศล้วนเป็นคู่ค้าสำคัญกับไทยมาก 

 

“หากทั้ง 3 ประเทศคุมเศรษฐกิจตัวเองไม่อยู่ กลับไปเผชิญ Recession อีกครั้ง จะถือเป็น Perfect Storm ของเศรษฐกิจไทยเลย เพราะเราค้าขายกับทั้ง 3 ประเทศนี้รวมกันเกือบ 40% ของ GDP ซึ่งน่าเป็นห่วง และที่ผ่านมาการส่งออกถือเป็นพระเอกสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของโควิดเอาไว้ด้วย”

 

พิพัฒน์กล่าวย้ำว่า เศรษฐกิจไทยเดิมมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีจากภาคการท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้ง แต่หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหา สิ่งที่คนส่วนใหญ่จะเลือกตัดออกก่อนคือการท่องเที่ยว ซึ่งก็อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าที่คาดการณ์เอาไว้ได้ ที่สำคัญการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักอาจสะดุดลงจากปัญหาของมรสุมทั้ง 3 ลูกนี้ได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด โอกาสที่จะกลับไปเผชิญกับภาวะถดถอยมีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ยังไม่ได้ถูกนับเป็นกรณีฐาน ยังเป็นเพียงแค่ความเสี่ยงที่มีเพิ่มขึ้นเท่านั้น และหากจะเกิดภาวะถดถอยจริง ส่วนใหญ่ตลาดคาดการณ์กันว่าจะเป็นในช่วงปลายปีหน้าด้วย 

 

ขณะที่เศรษฐกิจจีนช่วงนี้อาจเผชิญปัญหาโควิด ทำให้ต้องล็อกดาวน์เมืองสำคัญหลายๆ เมือง แต่สุดท้ายหากจีนควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ก็ต้องคลายล็อกดาวน์อยู่ดี กรณีของจีนจึงอาจจะมองเห็นแสงสว่างอยู่บ้าง จะมีเพียงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังต้องติดตามดูว่าจะจบลงอย่างไร

 

จากมรสุมทั้ง 3 ลูกที่อาจก่อตัวขึ้นเป็น Perfect Storm หรือ ‘มหาพายุ’ ลูกใหญ่ คำถามถัดมา คือ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิดได้ ‘ก่อหนี้’ เพิ่มไว้จำนวนมาก จะบริหารจัดการกับหนี้ก้อนนี้อย่างไร โดยเฉพาะท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น แต่เศรษฐกิจชะลอตัว 

 

รวมทั้งเศรษฐกิจไทยซึ่งแม้จะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง หนี้ต่างประเทศต่ำ ฐานะการคลังยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่ภาคครัวเรือนมีจุดเปราะบางจากปัญหาหนี้ที่สูงถึง 90.1% ของ GDP เราจะรับมือกับ ‘มหาพายุ’ ลูกนี้ได้หรือไม่ นับเป็นโจทย์ท้าทายที่ ‘ภาครัฐ’ ต้องรีบเหลียวมอง!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising