วันที่ 9 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งของรัสเซีย เนื่องจากเป็น ‘วันแห่งชัยชนะ’ (Victory Day) ที่ประชาชนจะมาร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่สหภาพโซเวียตสามารถเอาชนะกองทัพนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้
ที่ผ่านมานั้น ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกถึงแสนยานุภาพที่รัสเซียมีเหนือกว่านาซี หรือผู้ใดก็ตามที่รัสเซียมองว่าเป็นภัยไม่ต่างกับนาซี
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายต่างรอจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำรัสเซียในวันแห่งชัยชนะในปีนี้ เนื่องจากคาดหวังว่าปูตินอาจจะเปิดเผยทิศทางของปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ว่าปูตินจะกล่าวถึงชัยชนะของรัสเซียที่เข้าบุกยูเครนท่ามกลางสงครามอันยืดเยื้อจนล่วงเลยมาสู่เดือนที่ 3 แล้ว
ทว่า การกล่าวสุนทรพจน์ของปูติน ณ จัตุรัสแดง กลับพลิกความคาดหมายชนิดหักปากกาเซียน เพราะเมื่อวานนี้ปูตินไม่ได้เอ่ยคำว่า ‘ยูเครน’ เลยแม้แต่คำเดียว
โวโลดิเมียร์ เฟเซนโก นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน Penta ของยูเครน เปิดเผยกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า “ปูตินเลี่ยงที่จะกล่าวคำว่ายูเครน เพราะมันเชื่อมโยงถึงปัญหา ความพ่ายแพ้ ความสิ้นหวัง และความคาดหวัง”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำเนียบเคลมลินอ้างว่า เป้าหมายของปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียนั้นคือการปลดแอกยูเครนจากนาซี
แต่ในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นรัสเซียก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า การสู้รบกับยูเครนไม่ง่ายอย่างที่วาดฝันไว้ ขณะที่กองกำลังของรัสเซียสูญเสียกำลังรบไปเป็นจำนวนมาก และต้องถอนทหารออกจากแนวการรบหลายพื้นที่ โดยกระทรวงกลาโหมของยูเครนประมาณการว่ามีทหารรัสเซียถูกสังหารไปราว 25,000 ราย แต่ทางรัสเซียประเมินว่าฝั่งของตนสูญเสียกำลังรบไปราว 1,300 รายเท่านั้น
ขณะเดียวกันการออกมาตรการคว่ำบาตรของบรรดาชาติตะวันตกที่มุ่งเป้าลงโทษเจ้าหน้าที่และบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ลง อีกทั้งยังทำให้ปูตินแทบจะไร้บทบาทใดๆ บนเวทีโลก
อิการ์ ไทช์เกวิช นักวิเคราะห์ชาวเบราลุส มองว่า สุนทรพจน์ของปูตินนั้นสะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียยังไม่ได้ตัดสินใจว่าทางออกของสงครามยูเครนจะออกมาในรูปแบบใด
“รัสเซียไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แถมยังไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องปรับกลยุทธ์ไปทำอะไรแทนเพื่อให้ได้มันมา”
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ในตอนแรกนั้นรัสเซียคิดว่าจะสามารถเผด็จศึกยูเครนได้ในเวลาอันสั้น แต่ก็ต้องฝันสลายด้วยเหตุผลนานัปการ ตั้งแต่การขาดแคลนเสบียงอาหาร เชื้อเพลิง รวมถึงอาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดจนมุมมองที่ผิดๆ อย่างการที่รัสเซียหลงคิดว่าชาวยูเครนจะต้อนรับพวกเขาในฐานะ ‘ผู้ปลดแอก’ อีกทั้งกองกำลังของยูเครนก็ถือว่าตั้งรับได้เหนียวเกินกว่าที่ใครๆ จะคิดไว้
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวานนี้คือ ปูตินได้เน้นย้ำถึงการเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในทางตะวันออกของภูมิภาคดอนบาสซ้ำถึง 5 ครั้ง พร้อมกล่าวยกย่องกองกำลังติดอาวุธในดอนบาสที่เข้ามาร่วมต่อสู้เคียงข้างรัสเซีย
นอกจากนี้ปูตินยังกล่าวกับผู้ที่มาร่วมรับฟังการปราศรัยให้ยกย่องบรรดาผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในดอนบาส ตลอดจนพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องเสียชีวิตจากการกระหน่ำยิงอย่างไร้ความปรานีของกลุ่มนีโอ-นาซี
แต่ถึงเช่นนั้น กองกำลังของรัสเซียก็ยังไม่ได้รับชัยชนะในภูมิภาคดอนบาส เนื่องจากยูเครนได้เข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าวจะเสริมกำลังอย่างแน่นหนา
ส่วนการโจมตีเมืองคาร์คิฟ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียไปราว 40 กิโลเมตร และประชากรส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียนั้นก็ถือว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก แม้ก่อนหน้านี้รัสเซียจะทุ่มสรรพกำลังในการเปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร ทั้งการโจมตีด้วยขีปนาวุธร่อนและเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตไปหลายร้อยคน
แต่ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทหารรัสเซียจำนวนมากกลับถอนกำลังออกจากพื้นที่รอบเมืองคาร์คิฟ
อเล็กซ์ซีย์ คุชช์ นักวิเคราะห์จากยูเครน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์ในยูเครนถือเป็นการตอกย้ำว่า ปูตินคว้าน้ำเหลวในการฟื้นฟูสหภาพโซเวียตให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ปูตินเคยกล่าวว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เป็น ‘ภัยพิบัติทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง’ ของศตวรรษที่ 20
อย่างไรก็ตาม ปูตินยังคงมีความหวังที่จะฟื้นฟูสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่ โดยคาดว่าผู้นำรัสเซียจะประกาศความตั้งใจดังกล่าวในวันครบรอบ 100 ปีของสหภาพโซเวียต ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ธันวาคมนี้
คุชช์กล่าวว่า อาณาจักรใหม่ของรัสเซียจะเป็นการรวมตัวกันของดินแดนที่แตกสลาย เช่น แคว้นกบฏในยูเครน จอร์เจีย และมอลโดวา รวมถึงเบลารุส ซึ่งเห็นพ้องที่จะผนึกกำลังกับรัสเซีย
ทั้งนี้ ภายหลังสิ้นสุดการกล่าวสุนทรพจน์ของปูติน เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งสหราชอาณาจักร ก็ได้ออกมากล่าวโจมตีว่า การแสดงออกของปูตินไม่ต่างอะไรกับนโยบายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซีเยอรมนี อีกทั้งยังเป็นการ ‘ปล้น’ ความทรงจำของทหารโซเวียตที่เสียชีวิตระหว่างที่ต่อสู้กับกลุ่มนาซีเยอรมนี
“การที่ปูตินและบรรดานายพลของรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนนั้นไม่ต่างอะไรกับลัทธิฟาสซิสต์และการปกครองแบบเผด็จการเมื่อ 77 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการเดินทางผิดซ้ำรอยเดิม”
มิไคโล โปโดลยัค ผู้ช่วยของประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า รัสเซียต่างหากที่จะต้องให้ยูเครนปลดแอกออกจากนาซี พร้อมกล่าวว่า ยูเครนคือ ‘จุดจบแห่งความภาคภูมิ’ ที่รัสเซียมีมากว่า 20 ปี
ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: