ข้อมูลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พบว่าระดับหนี้ของผู้บริโภคชาวอเมริกันในเดือนมีนาคม พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 52,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ระดับหนี้ผู้บริโภคในปีนี้เพิ่มขึ้นแล้ว 14% โดยจำนวนนี้ คิดเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครคิตหรือบัตรต่างๆ ถึง 21.4%
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า แม้ค่าจ้างแรงงานในสหรัฐฯ จะมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา รายได้ต่อชั่วโมงในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.5% แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างมีหนี้สั่งสมในอัตราที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วเกือบ 9% ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 4.279 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ส่งผลให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นมากเท่าไร ชาวอเมริกันก็ยังมีไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวันได้อยู่ดี
สถานการณ์ของเงินเฟ้อทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า การหาเงินใช้หนี้บัตรเครดิตของชาวอเมริกันทั้งหลายจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีรายได้น้อย ยิ่งเมื่อ Fed ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต่างๆ รวมถึงบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นไปอีก กลายเป็นภาระหนักให้กับลูกหนี้ทั้งหลายที่ต้องเร่งหาเงินใช้หนี้
แมตต์ ชูลซ์ หัวหน้านักวิเคราะห์สินเชื่อของ LendingTree กล่าวว่า สารพัดหนี้ที่ชาวอเมริกันมีอยู่จะมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมประเมินว่าระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นน่าจะมาจากสองปัจจัยหลักๆ ด้วยกันคือ หนึ่ง การที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายจุกจิกจิปาถะเพิ่มขึ้น หลังจากที่อั้นมานานเพราะมาตรการล็อกดาวน์ และสอง คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มคนที่นิยมเงินสดหลายคนหันมาใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่าย เพื่อความสะดวกในการซื้อสินค้าขั้นพื้นฐานที่มีราคาแพงขึ้น
ทั้งนี้ ในมุมมองของชูลซ์ หนี้บัตรเครดิตเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่น หรือในเรื่องของความวิตกกังวล โดยขณะนี้ตนเองกำลังมองเห็นทั้งสองสัญญาณพร้อมกันในสหรัฐฯ และถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ประชาชนต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP