สรุปทุกข้อสงสัยที่คุณอยากรู้ และต้องรู้ เกี่ยวกับการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565
- เช็กผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 2565 แบบเรียลไทม์ ได้ที่ https://bkkelection2022.wevis.info/map/
- เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565′ – THE STANDARD BKK Election 2022 ได้ที่ https://thestandard.co/bkkelection2022/
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. – ส.ก. วันไหน เวลาใด?
วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565
เวลา 08.00-17.00 น.
ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. – ส.ก. ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
บัตรประชาชน (บัตรหมดอายุก็ใช้ได้) หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ โดยต้องมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
ไปถึงหน่วยเลือกตั้งต้องทำอะไรบ้าง?
- ตรวจสอบรายชื่อหน้าหน่วยเลือกตั้งหรือจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และจดหมายเลขลำดับที่ของตัวเองไว้เพื่อยื่นให้เจ้าหน้าที่
- แสดงตนเพื่อใช้สิทธิลงคะแนนโดยใช้บัตรประชาชน (บัตรหมดอายุก็ใช้ได้) พาสปอร์ต หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ ที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชนและรูปถ่าย
- รับบัตรเลือกตั้งพร้อมเซ็นชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และบัตรเลือกตั้ง ส.ก.
- เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องเครื่องหมาย ดังนี้
-
- บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ให้เลือกผู้สมัครได้ 1 คน
- บัตรเลือกตั้ง ส.ก. ให้เลือกผู้สมัครในเขตของตนเองได้ 1 คน
- นำบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่พับเรียบร้อยแล้ว หย่อนลงหีบเลือกตั้งด้วยตัวเอง
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. – ส.ก. ล่วงหน้าได้ไหม?
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า
กรณีที่ไม่สะดวกจริงๆ ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น (ผู้อำนวยการเขต) ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือทำหนังสือ ซึ่งต้องระบุตัวเลขประชาชนที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน โดยสามารถแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยต้องลงทะเบียนภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
ถ้าไปใช้สิทธิไม่ได้ แต่ไม่อยากเสียสิทธิ ต้องทำอย่างไร?
ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น (ผู้อำนวยการเขต) ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน สามารถแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทนได้ หรือส่งเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
การแจ้งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้แจ้งเข้าไปที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th, www.ect.go.th หรือแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยสามารถแจ้งได้ในช่วงระหว่างวันที่ 15-21 และ 23-29 พฤษภาคม 2565
รู้ได้อย่างไรว่าต้องไปเลือกตั้งที่ไหน?
วิธีที่ 1 ตรวจสอบจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้านที่ระบุหน่วยเลือกตั้ง รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบ้านเลขที่นั้นๆ และลำดับที่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะมีข้อความระบุว่าต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่เขตใด
วิธีที่ 2 ตรวจสอบผ่านช่องทางออนไลน์ในเว็บไซต์ของ กกต.
กาบัตรเลือกตั้งแบบไหนไม่ให้เป็นบัตรเสีย?
- ห้ามทำเครื่องหมายอื่นบนบัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายกากบาท (X)
- กากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมายที่กำหนดให้
- กรณีที่ไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่อง ‘ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด’
Vote No กับ No Vote ต่างกันอย่างไร?
Vote No คือการไม่ประสงค์ลงคะแนน (ไม่เลือกผู้สมัครคนไหน และกากบาทในช่องที่ระบุว่าไม่ประสงค์ลงคะแนน)
No Vote คือการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่มีการแจ้งเหตุสมควรก่อนหรือหลังวันเลือกตั้งจะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่แจ้งเหตุอันควรจะเสียสิทธิ ดังนี้
- ถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- ถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- ถูกจำกัดสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ถูกจำกัดสิทธิการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ถูกจำกัดสิทธิการดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
- ถูกจำกัดสิทธิการดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
โดยการถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
ติดตามข้อมูลทุกมิติเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคน กทม. ได้ที่เว็บไซต์ http://bkkelection2022.wevis.info/
หากพบเจอการทุจริตเลือกตั้งต้องทำอย่างไร?
สามารถแจ้งผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
- เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มีทุกจังหวัด
- โทรศัพท์แจ้งเรื่องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการข่าว โทร. 0 2141 8050 หรือ 0 2141 8201 หรือ 0 2141 2611 และสายด่วน กกต. โทร. 1444 กด 2
- เข้าไปกรอกแบบฟอร์มบนเว็บไซต์ www.ect.go.th/ect_th/report_corruption.php
ทั้งนี้ การแจ้งเรื่องผ่านเว็บไซต์ไม่ถือว่าเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด และสามารถแจ้งได้ 4 เรื่อง (การเลือก ส.ว. / การเลือกตั้ง ส.ส. / การเลือกตั้งท้องถิ่น / เบาะแสการหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์)
ติดตามข้อมูลทุกมิติเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคน กทม. ได้ที่เว็บไซต์ http://bkkelection2022.wevis.info/
รับเงินซื้อเสียงมีโทษแค่ไหน?
เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือหัวคะแนนนำเงินมาแจกจ่าย เพื่อให้ผู้รับลงคะแนนให้ฝ่ายที่ให้เงิน
ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือหัวคะแนนมีโทษตามกฎหมาย จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ผู้ขายเสียงมีโทษตามกฎหมาย จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันเลือกตั้งห้ามทำอะไรบ้าง?
- ห้ามผู้ใดใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อการออกเสียงลงคะแนน
- ห้ามทำเครื่องหมายอื่นบนบัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายกากบาท (X)
- ระหว่างการลงคะแนน ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดในการถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนน
- ห้ามผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิเลือกตั้งพยายามออกเสียงลงคะแนน
- ห้ามแสดงบัตรเลือกตั้งให้ผู้อื่นเห็นว่าตนลงคะแนนเลือกผู้สมัครคนใด
- ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงเครื่องดื่มสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง
- ห้ามเล่นการพนันหรือลงขันใดๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
ติดตามข้อมูลทุกมิติเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคน กทม. ได้ที่เว็บไซต์ http://bkkelection2022.wevis.info/