สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อนจะส่งผลให้ผู้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลกต้องอพยพย้ายถิ่นฐานในแต่ละปี โดยคาดการณ์ว่าผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะมีจำนวนสูงถึง 200 ล้านคนภายในปี 2050
“ซูดานใต้กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในระดับความรุนแรงและความถี่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” Nhial Tiitmamer กล่าวขณะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมในซูดานใต้เมื่อเร็วๆ นี้
UNHCR เปิดเผยว่า มีประชาชนในซูดานใต้มากกว่า 8 แสนรายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ต้องกลายสภาพมาเป็นผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการดำรงชีพของประชาชนจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาสงครามกลางเมืองอยู่แล้วขึ้นไปอีก
สถิติของ UNHCR ยังพบว่า ในปี 2020 มีจำนวนคนทั่วโลกที่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูงถึง 30.7 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนผู้ลี้ภัยจากภาวะสงครามถึง 3 เท่า
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้คนจำนวนมากต้องลี้ภัยคือภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ความแห้งแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่มีความถี่เพิ่มสูงขึ้น โดยการสำรวจพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นมากถึง 3,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ในปีที่ผ่านมาการละลายของน้ำแข็งในแถบหิมาลัยได้ส่งผลให้เกิดเหตุหิมะถล่มและน้ำท่วม ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในอินเดียตอนเหนือไปหลายสิบคน ขณะที่ในเดือนที่ผ่านมาชาวเมืองเดอร์บันในแอฟริกาใต้กว่า 13,000 ครอบครัว ก็ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและโคลนถล่ม
ความถี่ของภัยธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ผู้ลี้ภัยจากภัยธรรมชาติทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 216 ล้านคน แบ่งเป็น 86 ล้านคนในแถบซับซาฮาราของแอฟริกา 49 ล้านคนในเอเชียแปซิฟิก และ 40 ล้านคนในเอเชียใต้
อ้างอิง: