×

จับตาชีพจรเศรษฐกิจโลก…น่ากังวลมากขึ้น

06.05.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

ในบทความฉบับที่แล้ว ‘จับตาชีพจรเศรษฐกิจโลก เข้าใกล้ภาวะถดถอยหรือยัง’ เราได้ฉายภาพว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) มีมากขึ้น จากนโยบายการเงินที่จะตึงตัวขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่อาจลากยาวยืดเยื้อจากสถานการณ์สงคราม แต่ตัวเลขเศรษฐกิจปัจจุบันยังคงขยายตัวได้ 

 

ในบทความฉบับนี้เราจะชี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจริงได้เริ่มชะลอลงแล้ว โดยเฉพาะจีนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโอมิครอนที่ทำให้ต้องปิดเมือง และรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในขณะที่ตัวเลขของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐฯ​ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง

 

การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 สหรัฐฯ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนประหลาดใจ เพราะหดตัว 1.4% ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับตลาดคาดการณ์ที่ +1% ผลจากการส่งออกสุทธิที่ติดลบจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการในประเทศและราคานำเข้าที่สูงขึ้น ขณะที่การส่งออกชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ด้านตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนส่งสัญญาณชะลอตัวลง ทั้งส่งออก ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ผลจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อ

 

ด้านดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Indicators) เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสถาบัน ISM PMI ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งของ Conference Board และ U. of Michigan ลดลง (โดยเฉพาะของ U. of Michigan ตกต่ำที่สุดระดับเดียวกับช่วงปี 2008) เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดเล็กที่ลดลงจากเงินเฟ้อที่สูงกดดันกำลังซื้อผู้บริโภค ล่าสุดการคาดการณ์เงินเฟ้อ 1 ปีข้างหน้าขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี

 

ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจถึงจุดสูงสุดแล้วและอาจเริ่มชะลอลง แต่ยังทรงตัวระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯ ยังสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 8.6% แต่อาจมีแนวโน้มปรับลดลงได้บ้าง (จากปัจจัยฐานสูงในปีที่ผ่านมา) แต่ก็จะยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งปีนี้ เนื่องจาก 

 

  1. เงินเฟ้อจากฝั่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับบ้านยังคงอยู่ในระดับสูง 
  2. ความเสี่ยงภาคการผลิต (Supply Chain Disruption) ที่ยังคงมีอยู่ หลังจีนล็อกดาวน์
  3. เงินเฟ้อจากภาคบริการที่จะยังปรับสูงขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้นหลังการเปิดเมือง 
  4. ค่าจ้างยังคงอยู่ในระดับสูงท่ามกลางภาวะตลาดแรงงานตึงตัว 

 

ล่าสุดดัชนีเงินเฟ้อ Core PCE (ซึ่งเป็นดัชนีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ติดตาม) เริ่มมีทิศทางปรับลดลง แต่ยังใกล้จุดสูงสุดในรอบ 40 ปี ภาพทั้งหมดบ่งชี้ไปสู่ความเสี่ยงนโยบายการเงินตึงตัวในสหรัฐฯ ที่จะทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจในระยะต่อไปมีมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ครั้งล่าสุด ที่แม้ Fed จะประกาศขึ้นดอกเบี้ย 50 bps ตามคาด แต่ก็ส่งสัญญาณปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ในระยะสั้น รวมถึงประกาศลดทอนงบดุล (QT) อย่างค่อยเป็นค่อยไป (4.8 หมื่นล้านดอลลาร์) ในช่วง 3 เดือนแรก ก่อนปรับขึ้นเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์นั้น 

 

เรามองว่า Fed อาจเริ่มเห็นว่าเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณ Peak แล้วแม้ยังคงในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจและเศรษฐกิจโลกเสี่ยงมากขึ้นเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเรามองว่าการส่งสัญญาณเช่นนี้ช่วยลดทอนความเสี่ยงการตึงตัวนโยบายการเงินจนเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในช่วง 12 เดือนได้บ้าง แต่เรายังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง (ประมาณ 60-70%) ที่จะเกิด Recession จากความตึงตัวนโยบายการเงินที่จะกดดันหลายภาคส่วนเศรษฐกิจ โดยหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าสภาพคล่องสหรัฐฯ ที่ตึงตัวเท่ากับในช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว วัดจาก SCBS US Liquidity Heatmap ทำให้จากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน 30 ปี อยู่ที่ 5% จากจุดต่ำสุดที่ 2.7% ในช่วงปี 2021 โดยต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นทำให้เป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ในปี 2023 

 

ข้ามมาฝั่งจีน เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากจากการล็อกดาวน์ ทำให้ในระยะต่อไปจะเป็นความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Global Value Chain) มากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเงินเฟ้อ

 

โดยแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่หนึ่งแม้จะออกมาดีเกินคาด แต่ในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มชะลอลงรุนแรงขึ้นหลังจากตัวเลขรายเดือนปรับตัวลดลง เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนสินทรัพย์ถาวร เนื่องจากการล็อกดาวน์และมาตรการ COVID Zero ของรัฐบาล ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลเสียต่อการขนส่งสินค้า ขณะที่ประชาชนไม่สามารถออกมาจับจ่ายสินค้าจำเป็นได้ 

 

ความกังวลดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลาง (PBOC) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ PBOC กลับไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตามที่หลายฝ่ายคาด แต่ปรับลดอัตราการกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง และออก 23 มาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องแทน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการเล็กน้อย)  

 

เรามองว่าการที่ทางการจีนไม่กล้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจแรง เนื่องจากดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ ที่เป็นขาขึ้น และสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรจีน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่เงินหยวนอ่อนลงมากในรอบหลายปี ซึ่งหากทางการจีนลดดอกเบี้ย อาจยิ่งทำให้เงินไหลออกจากประเทศมากขึ้น 

 

ในภาคเศรษฐกิจสุดท้ายอันได้แก่ตลาดเกิดใหม่ กำลังเผชิญกับ 3 วิกฤต และทำให้ความเสี่ยงในระยะต่อไปมีมากขึ้น โดยในปัจจุบันกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มเผชิญกับ 3 วิกฤตแล้ว อันได้แก่ วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหาร และวิกฤตการเงิน 

 

สำนักวิจัย Bloomberg Economics ได้จัดอันดับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เสี่ยงที่สุดจากวิกฤตเศรษฐกิจ 19 ประเทศ โดยวัดจากการพึ่งพาตัวเองด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ทั้งจากการที่มีหนี้เงินตราต่างประเทศค่อนข้างมากและผลจากการกู้เงินจำนวนมาก เพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการล็อกดาวน์ หรือจะจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ทำให้มีความเสี่ยงเงินทุนไหลออกและกระทบต่อค่าเงิน 

 

โดยหากคำนวณความเสี่ยงทั้งหมดจากวิกฤตในปัจจุบัน (อันได้แก่ วิกฤตพลังงาน อาหาร และการเงิน) และนำมาเปรียบเทียบกัน จะพบว่า 10 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระยะต่อไป ได้แก่ ตุรกี, อียิปต์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, เกาหลีใต้, ไทย, ชิลี, จีน และเปรู 

 

เรามองว่าในบรรดาเขตเศรษฐกิจต่างๆ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตจากการตึงตัวของนโยบายการเงินสหรัฐฯ มากที่สุด และความเสี่ยงอาจลุกลามต่อไปได้หากเงินดอลลาร์จะยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเงินดอลลาร์ (วัดจาก DXY Index) แข็งค่าที่สุดในรอบ 2 ปี และจะยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องตามการตึงตัวของนโยบายการเงินสหรัฐฯ นอกจากนั้นจุดเสี่ยงอื่นๆ ยังมีอีก เช่น 

 

  1. บริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีการกู้ยืมมากในช่วงที่ผ่านมา 
  2. เศรษฐกิจยุโรปที่มีความเชื่อมโยงกับรัสเซียและยูเครนมาก โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงาน
  3. เศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์

 

จุดเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากมาย ทำให้ความน่ากังวลมีมากขึ้น ท่านผู้อ่านโปรดเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X