พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ได้กำหนดให้ประชุมในเวลา 10.00 น. จากเดิมจะประชุมในเวลา 9.00 น. เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจเข้าร่วมกิจกรรมวันครูแห่งชาติที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยก่อนการประชุม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ได้เข้าพบพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้ากว่า 30 นาที ซึ่งคาดว่ามีการหารือถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันพรุ่งนี้ ก่อนที่จะเดินไปยังตึกบัญชาการเพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี
ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินจากตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกบัญชาการนั้น ผู้สื่อข่าวพยายามถามนายกรัฐมนตรีถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบประเด็นทรัพย์สินต่างๆ และให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งพักงานเพื่อตรวจสอบ ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามและกล่าวเลี่ยงว่า “วันนี้วันครู”
สำหรับการประชุมวันนี้มีหลายวาระที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำนักงบประมาณจะเสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เพราะมีการประมาณการเก็บรายได้ 2.55 ล้านล้านบาทให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัวได้ 4.2%
นอกจากนี้จะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาการทำงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มเติม โดยจะมีวงเงินทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท เป็นการกู้เงินเพื่อไปใช้ในโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก 1 แสนล้านบาท อีก 5 หมื่นล้านบาทเป็นเงินรายได้ที่ใช้ชดเชยเงินคงคลัง
ขณะที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยก่อนหน้านี้ ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่ากรมสรรพากรได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรแล้ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ด้วยการหักค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาท จากมาตรการเดิมที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อปีภาษี 2560 ที่ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท และกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนสำหรับรายจ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี ซึ่งรวมเป็นค่าลดหย่อนได้ถึง 120,000 บาท ส่วนบุตรคนแรกยังได้ใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อนภาษีเท่าเดิมที่ 30,000 บาท
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น หลังจากมีข้อมูลระบุว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุ โดยจากจำนวนประชากรประมาณ 70 ล้านคนนั้น มี 25 ล้านคนที่อยู่ในวัยทำงาน ส่วนอีกประมาณ 40 ล้านคนมีอายุเกิน 60 ปี ดังนั้นมาตรการดังกล่าวจึงออกมาเพื่อรองรับภาวะประชากรผู้สูงอายุในอนาคต
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่