ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยเช้านี้ (6 พฤษภาคม) ดัชนี SET เปิดที่ระดับ 1,626.08 จุด ก่อนจะไหลลงต่อเนื่องไปแตะระดับ 1,617.94 จุด ในช่วงเวลา 10.02 น. ลดลง 25.36 จุด หรือราว 1.4% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักในต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นดัชนีเริ่มรีบาวด์กลับมาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 1,630 จุด
สำหรับตลาดหุ้นหลักในเอเชียส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนลบ ได้แก่ Hang Seng ฮ่องกง -3.5%, China A50 จีน -2.2%, Taiwan Weighted ไต้หวัน -2.1%, KOSPI เกาหลีใต้ -1.4%, ส่วนดัชนี Nikkei 225 ญี่ปุ่น ยืนแดนบวกได้ +0.2% ขณะที่ตลาดหุ้นใกล้เคียงกับไทยอย่าง IDX Composite อินโดนีเซีย +0.5% และ PSEi Composite -0.3%
ฟากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ ดัชนีสำคัญอย่าง Dow Jones -3.1%, S&P 500 -3.6% และ Nasdaq -5.0%
บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเมื่อคืนนี้ ETF หุ้นไทยปิดลบไป 2.8% แม้ว่าดัชนี MSCI Thailand ติดลบไปเพียง 0.1% สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพของการเทขายทุกสินทรัพย์และเลือกที่จะถือเงินสด (Capitulation) จากการพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนบอนด์ยีลด์ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ซึ่งรุ่นอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 3% ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วแตะระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นสกุลเงินในเอเชียที่อ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 วันที่ผ่านมา
ในเชิงกลยุทธ์ หากดัชนี SET ลงมาที่บริเวณ 1,630 จุด สามารถใช้เป็นจุดในการซื้อไม้แรก แต่ต้องเป็นน้ำหนักที่ยังไม่มากนัก เนื่องจาก Valuation ยังอยู่ในระดับสูง โดยกลุ่มหุ้นที่เข้าซื้อในช่วงนี้ยังคงแนะนำโฟกัสไปยังกลุ่มที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ คือ กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มสินค้าจำเป็น รวมถึงหุ้นส่งออกที่ P/E ต่ำ ซึ่งน่าจะได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า
ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดมากขึ้น ผ่านตัวเลขความเชื่อมั่นและการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวลงจากผลของค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขกำไรคาดการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ถูกปรับลงต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจไม่หยุดที่ 3% จากการศึกษาวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ในอดีต ช่วงปี 1994-1995, 1999-2000, 2004-2006 และ 2015-2018 พบว่าผลตอบแทนพันธบัตรมักผ่านจุดพีคก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดราว 2-3 เดือน ซึ่งหากอ้างอิงจากผลการศึกษาดังกล่าวสามารถบ่งชี้ได้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อาจขึ้นต่ออย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาด ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มลงต่อจากระดับอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นหักลบด้วยพันธบัตร (Earnings Risk Premium) ที่แคบลง
สำหรับการลงทุนรายตัวหรือกลุ่มหุ้น กลยุทธ์การเลือกหุ้นจะทำได้ยากขึ้นในช่วงที่ตลาดเข้าสู่ช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น (Late Cycle) ผ่านผลกระทบของเงินเฟ้อที่สูงและการทยอยถอนมาตรการกระตุ้นของกลุ่มธนาคารกลาง เราเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อต่ำ ภาพรวมกำไรคาดการณ์ที่ยังคงแข็งแกร่ง และถูกซื้อขายบนระดับ P/E ที่ไม่แพง เช่น พลังงาน ธนาคาร โรงพยาบาล ประกันฯ เป็นต้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP