เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 1Q65 ของ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) ซึ่งคาดว่าจะรายงานผลประกอบการวันที่ 13 พฤษภาคม 2565
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น ZEN ปรับลดลง 0.84%MoM อยู่ที่ระดับ 11.80 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลง 3.40%MoM อยู่ที่ระดับ 1,643.30 จุด
พรีวิวผลประกอบการ 1Q65:
SCBS คาดการณ์กำไรสุทธิ 1Q65 ที่ 14 ล้านบาท ลดลง 50%YoY แต่เพิ่มขึ้น 63%QoQ หากตัดรายการพิเศษใน 1Q64 และ 4Q64 ออกไป พบว่ากำไรปกติ 1Q65 จะปรับตัวดีขึ้น 56%YoY แต่ลดลง 47%QoQ หลักๆ เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น 21%YoY แต่ลดลง 6%QoQ
โดยมีสมมติฐานที่สำคัญดังนี้
- ธุรกิจร้านอาหาร: คาดยอดขายสาขาเดิม (SSS) จะเติบโต 10% (รับประทานในร้านและบริการจัดส่งอาหาร 85% ของรายได้) ใน 1Q65 เพิ่มขึ้นจาก -2.9% ใน 1Q64 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดระลอกที่สองของโควิดในประเทศไทย แต่ลดลงจาก +18.5% ใน 4Q64 อันเป็นผลมาจากปัจจัยฤดูกาลและรายได้จะกลับคืนสู่ระดับปกติจากฐานสูงใน 4Q64 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน 2564 และประชาชนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้
- ธุรกิจอาหารค้าปลีก: (7% ของรายได้) คาดการณ์รายได้จากธุรกิจอาหารค้าปลีกที่ 50 ล้านบาท ใน 1Q65 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 12 ล้านบาท ใน 1Q64 และเพิ่มขึ้น 56%QoQ โดยได้แรงหนุนจากยอดขายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่เติบโตเพิ่มขึ้นหลังจาก ZEN ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและรวมผลการดำเนินงานของบริษัท King Marine Foods Co., Ltd. (ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์แช่แข็ง โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565
- อัตรากำไรขั้นต้น: คาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นที่ 47.5% ใน 1Q65 ลดลงจาก 50% ใน 1Q64 โดยมีสาเหตุมาจากต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นและการมีสัดส่วนรายได้จากบุฟเฟต์และธุรกิจอาหารค้าปลีกที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นต่ำเพิ่มมากขึ้น แต่ทรงตัวจาก 47.9% ใน 4Q64 ซึ่งสะท้อนถึงการปรับราคาเมนูเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564
แนวโน้มธุรกิจในปี 2565:
SCBS คาดว่าผลประกอบการ 2Q65 ของ ZEN จะปรับตัวดีขึ้น YoY จากฐานต่ำใน 2Q64 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในบางพื้นที่ และจะอยู่ในระดับทรงตัว QoQ เพราะถูกฉุดรั้งโดยค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินงาน เนื่องจาก ZEN วางแผนเปิดสาขาใหม่ที่บริษัทเป็นเจ้าของใน 2Q65 และคาดว่าผลประกอบการ 2H65 จะแข็งแกร่งกว่า 1H65 โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจใหม่คือธุรกิจอาหารค้าปลีกและธุรกิจแฟรนไชส์
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในปี 2565 คือ
- ต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารรวมถึง ZEN กำลังรับมือกับต้นทุนอาหารที่สูงขึ้นด้วยการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคทั้งทางตรง (ปรับราคาเมนูเพิ่มขึ้น) และทางอ้อม (จัดโปรโมชันน้อยลง ปรับชุดอาหารใหม่) โดยความกังวลคือ ความอ่อนไหวต่อราคาของผู้บริโภคท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป
- การขึ้นค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร ในปี 2564 ต้นทุนพนักงานของ ZEN คิดเป็นสัดส่วน 26% ของรายได้ โดยบริษัทมีพนักงานรวมทั้งหมด 2,748 คน และในจำนวนนี้ 88% เป็นพนักงานปฏิบัติการ ZEN กล่าวว่า บริษัทมีการจ่ายค่าจ้างรายวันสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันขั้นต่ำที่ 331 บาท
โดยการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของ SCBS พบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างรายวันทุกๆ 10 บาท จะส่งผลกระทบด้านลบต่อผลประกอบการปี 2566 ของ ZEN ราว 4% อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวจะถูกชดเชยได้หาก ZEN ปรับราคาขายเพิ่มขึ้น 0.25%