×

ความเสี่ยง Hard Landing ในสหรัฐฯ ยังสูง FETCO เกาะติดนโยบาย Fed งัดดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ

05.05.2022
  • LOADING...
Hard Landing

FETCO เกาะติดนโยบายของ Fed งัดดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ หลังพบความเสี่ยง Hard Landing ยังสูง ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนหักหัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกยังคงเป็นการใช้นโยบายการเงินของ Fed เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แม้การประชุมครั้งล่าสุด Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และยืนกรานปฏิเสธหนักแน่นในเรื่องที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75% ในอนาคตข้างหน้าแล้วก็ตาม 

 

ไพบูลย์กล่าวว่า ด้วยเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่า Fed จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้หรือไม่ เพราะเงินเฟ้อสหรัฐฯ นั้นยากที่จะปรับตัวลดลงไปเองในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องใช้นโยบายการเงินเข้าช่วย 

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีตนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 รอบ โดยที่ 8 ใน 11 รอบนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard Landing) ในเวลาต่อมา และมีเพียง 3 รอบเท่านั้นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวชะลอ (Soft Landing) 

 

โดยรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ Soft Landing สำเร็จนั้นมีตัวแปรร่วม 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่า 4%, Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือเดือนละ 0.12-0.19% และระดับที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไปสูงสุด (Terminal Rate) นั้นต่ำกว่า Neutral Rate 

 

“ซึ่งหากดูการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูงถึง 9% ทำให้ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว โดยตลาดมีการคาดการณ์กันว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 3.3% ในกลางปี 2023 ซึ่งคิดเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย 0.21% ต่อเดือน ดังนั้นแล้วโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปลายปี 2023 ถึงต้นปี 2024 จึงมีสูงขึ้น” ไพบูลย์กล่าว 

 

ไพบูลย์กล่าวว่า แม้ปัจจัยจาก Fed จะกดดันตลาดเงินและตลาดทุน แต่ก็เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องในระยะยาว โดยในด้านการลงทุนแล้วเชื่อว่าสินทรัพย์เสี่ยงหรือตลาดหุ้นจะยังมีเม็ดเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพราะแรงขายที่รุนแรงในช่วงก่อนหน้านี้ทำให้ Valuations ตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ปรับลงอย่างรวดเร็วจนใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้ว จากนี้ไปแรงขายจะเริ่มเบาลง ยกเว้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ราคายังทรงตัวในระดับสูง 

 

ขณะที่การลดสภาพคล่องนั้นประเมินว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าที่ขนาดงบดุลของ Fed จะลงมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด นั่นหมายความว่ากองทุนทั่วโลกจะยังรักษาสัดส่วนที่สูงในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง 

 

โดยจากนี้จะเห็นเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) เข้าสู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) เพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยประเมินว่า ระยะสั้นยังคงผันผวนจากปัจจัยภายนอก แต่จะกลับสู่ขาขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง รับอานิสงส์การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริหาร รวมถึงแนวโน้มการคลายล็อกดาวน์ของประเทศจีน และปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่จะเริ่มแข็งค่า 

 

ทั้งนี้ FETCO ได้ปรับลดเป้าหมาย SET Index ปีนี้มาอยู่ที่ 1,750 จุด จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 1,800 จุด เพื่อตอบรับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก และแนวโน้มการชะลอตัวของ GDP ไทยสู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% 

 

ทางด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.42 ปรับตัวลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่

 

โดยนักลงทุนมองว่า การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ 

 

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รองลงมาคือนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และการเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax)

 

โดยรายละเอียดผลสำรวจมีดังนี้

 

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม 2565) อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ลดลง 19.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 95.42
  • ความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับซบเซา
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน

 

ผลสำรวจ ณ เดือนเมษายน 2565 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับลดลง โดยกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 13.1% อยู่ที่ระดับ 98.36 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 25.0% อยู่ที่ระดับ 75.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 15.0% อยู่ที่ระดับ 85.00 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 25.0% มาอยู่ที่ระดับ 100.00

 

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2565 SET Index ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงตลอดทั้งเดือน จากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ลงมาอยู่ที่ 3.5% จากเดิม 4% 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังได้รับข่าวดีจากการที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ และเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องซึ่งซื้อสุทธิในเดือนเมษายน 9,779.91 ล้านบาท และซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 118,120.26 ล้านบาท ส่งผลให้ SET index ปิดที่ 1,667.44 จุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X