วันนี้ (4 พฤษภาคม) สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 3 กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตลาดนัดชุมชนรถไฟ กม.11 (ตลาดสายหยุด) และตลาดบางเขน เขตจตุจักร ระบุว่า วันนี้ตนมาลงพื้นที่เดิมที่เคยเป็น ส.ส. และพื้นที่ตรงจุดชุมชนรถไฟ ซึ่งเป็นจุดที่เคยพูดถึงหลายครั้งใน ‘สกลธีโมเดล’ เกี่ยวกับการนำมาปรับเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ แต่ติดที่ กทม. ไม่ใช่เจ้าของที่ เช่น บริเวณนี้เป็นของการรถไฟฯ ที่เงินของ กทม. ไม่สามารถลงมาพัฒนาได้ เพราะจะสามารถใช้กับพื้นที่สาธารณะเท่านั้น
ทั้งนี้ตนได้พูดมาหลายครั้งว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางพัฒนา ถึงแม้ กทม. จะลงเงินไม่ได้ แต่เป็นหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เพราะเวลามีปัญหา ประชาชนไม่รู้ว่าจะร้องเรียนกับใคร ดังนั้นจะต้องคุยกันให้มากกว่านี้ ซึ่งในอนาคตถ้าทำได้ก็ควรจะมีการแก้ระเบียบ เพื่อให้ กทม. นำเงินมาพัฒนาพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะได้
“จุดนี้ตั้งแต่สมัยผมเป็น ส.ส. เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เงินของ กทม. ลงมาไม่ได้ แต่เงินของการเคหะแห่งชาติลงมาได้ ดังนั้นผมจึงอยากให้งบของ กทม. มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อนำไปพัฒนาในที่ต่างๆ อย่างของการเคหะฯ มีความยืดหยุ่น ตอนสมัยที่ผมเป็น ส.ส. ก็มีการประสานเพื่อให้เงินมาลงในพื้นที่เอกชนหรือที่หน่วยงานราชการอื่นได้ จะช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ยืดหยุ่นและรวดเร็วกว่า เพราะบางครั้งการรอเงินจากหน่วยงานต้นสังกัดก็อาจจะไม่ทันการ ถ้า กทม. ทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมาเยอะ” สกลธีกล่าว
สำหรับแผนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายนั้น สกลธีกล่าวว่า ช่วงนี้มีการดีเบตจำนวนมาก ถ้าได้รับเชิญมาตนก็จะไป เพราะตอนนี้มีหลายๆ กลุ่มจัดดีเบตแยกกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเดือดร้อนของกลุ่มเฉพาะ เช่น วันนี้จะมีการดีเบตของกลุ่มหาบเร่แผงลอย คนทำงานกลางคืน กลุ่มแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์ ซึ่งตนก็อยากจะไป เพราะเป็นการสะท้อนปัญหาจากคนหลายๆ กลุ่ม ซึ่งมีคำถามให้ได้ชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของตน รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ทำให้สามารถเก็บเป็นข้อมูล และได้พูดถึงสิ่งที่ตนอยากจะทำด้วย ยกตัวอย่างในการดีเบตครั้งล่าสุดมีการพูดถึงเรื่องการเปิดพื้นที่การชุมนุมใน กทม. ซึ่งตนก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยที่ควรให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กฎหมาย อันไหนที่ถูกกฎหมายก็ยินดี ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ เห็นว่าพื้นที่หลายๆ ส่วนของ กทม. ควรนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงเฉพาะการชุมนุม แต่อาจจะใช้ในจุดประสงค์อื่นได้ด้วย เช่น สวนสาธารณะก็อาจจะไม่ได้มีไว้เพื่อการวิ่งอย่างเดียว แต่อาจจะใช้จัดแสดงดนตรี หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่กระทบกับสิทธิของผู้อื่น
“ในกรณีที่ขอพื้นที่ในการชุมนุม ผมคิดว่า สำคัญอยู่ที่ กทม. จะต้องประสานงานกับภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ กทม. จะไปทำงานปะฉะดะกับทุกหน่วยงานไม่ได้ เพราะ กทม. ไม่ได้มีอำนาจเต็มขนาดนั้น มันมีการทับซ้อนกันหลายหน่วยงาน ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ว่าฯ ต้องเป็นคนที่ประสานงานได้ดี อะไรที่เป็นสิทธิของคนกรุงเทพฯ หรือปัญหาของกรุงเทพฯ ก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งผมมั่นใจในเรื่องการประสานงาน เพราะสมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯ ก็ประสานกันมาด้วยดีตลอด ลักษณะของผมคือการประสานงานอยู่แล้ว ไม่ใช่ประสานงา” สกลธีกล่าว