สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กองทัพรัสเซียได้ยิงขีปนาวุธ 2 ลูกโจมตีกรุงเคียฟของยูเครนเมื่อวานนี้ (28 เมษายน) ซึ่งเหตุเกิดระหว่างการเยือนของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN)
กูเตอร์เรสและคณะเจ้าหน้าที่ของ UN แสดงความตกตะลึงต่อการโจมตีที่เกิดขึ้นในเขตเชฟเชนโก ใจกลางกรุงเคียฟ ไม่ไกลจากจุดที่พวกเขาอยู่ ซึ่งทั้งหมดปลอดภัยดี โดยทางการยูเครนเปิดเผยว่า ขีปนาวุธได้โจมตีใส่ด้านล่างของอาคารขนาด 25 ชั้นหลังหนึ่ง และส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน
“มีการโจมตีในเคียฟ มันทำให้ผมช็อก ไม่ใช่เพราะผมอยู่ที่นี่ แต่เพราะเคียฟเป็นนครศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวยูเครนและชาวรัสเซียเหมือนกัน” กูเตอร์เรสกล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ RTP ของโปแลนด์
เหตุโจมตีทางอากาศดังกล่าว ถือเป็นการโจมตีกรุงเคียฟที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ที่รัสเซียถอนกำลังภาคพื้นดินออกไปจากรอบกรุงเคียฟ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมุ่งเปิดแนวรบทางตะวันออกและตอนใต้ของยูเครน
ขณะที่โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ประณามการโจมตีของรัสเซียที่เกิดขึ้นหลังการพูดคุยระหว่างเขาและเลขาฯ UN โดยชี้ว่าเป็นความพยายามของรัสเซียที่จะฉีกหน้า UN พร้อมทั้งย้ำถึงความกังวลที่กรุงเคียฟยังคงเปราะบางเกินกว่าจะรับมือการโจมตีด้วยอาวุธหนักจากรัสเซีย
“วันนี้ ในทันทีหลังเสร็จสิ้นการพูดคุยของเราในกรุงเคียฟ ขีปนาวุธของรัสเซียก็ลอยเข้ามาในเมือง จรวด 5 ลูก และนี่บอกได้มากมายเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของรัสเซียในการฉีกหน้า UN และทุกอย่างที่เป็นตัวแทนขององค์กร” เซเลนสกีกล่าว พร้อมทั้งชี้ว่า ควรต้องมีการตอบโต้ที่รุนแรงต่อรัสเซียเช่นเดียวกัน
ด้านกูเตอร์เรสกล่าวในการแถลงร่วมกับเซเลนสกี โดยวิจารณ์คณะมนตรีความมั่นคงที่เป็นองค์กรหลักด้านความมั่นคงและสันติภาพของสหประชาชาติ ว่าล้มเหลวในการป้องกันหรือยุติสงครามในยูเครน
“ให้ผมพูดให้ชัด (คณะมนตรีความมั่นคง) ล้มเหลวในการทำทุกอย่างเพื่อปกป้องและยุติสงครามนี้” เขากล่าว แต่ยืนยันว่าสหประชาชาติจะไม่ยอมแพ้ในความพยายามยุติสงครามที่เกิดขึ้น
“ผมมาที่นี่เพื่อจะบอกกับคุณ ท่านประธานาธิบดี และประชาชนยูเครน ว่าเราจะไม่ยอมแพ้”
ขณะที่การพบปะระหว่างเซเลนสกีกับกูเตอร์เรสเกิดขึ้นหลังจากที่เลขาฯ UN ได้เดินทางไปพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ที่กรุงมอสโก เมื่อวันอังคาร (26 เมษายน) ที่ผ่านมา
ซึ่งปูตินเห็นพ้องในหลักการที่ให้ UN และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) เข้าไปมีส่วนในการช่วยอพยพพลเรือนออกจากโรงงานเหล็กอาซอฟสตาล ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกองกำลังยูเครนในเมืองมารีอูโปล
ภาพ: Ukrainian Presidency / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: