9 ธนาคารพาณิชย์ของไทยแจ้งกำไรไตรมาส 1/65 รวมกว่า 5.28 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์ระบุดีตามคาดการณ์ มองแนวโน้มไตรมาส 2 กำไรยังเติบโตได้ ขณะที่ระดับหนี้เสียยังไม่น่ากังวล เชื่อแบงก์ส่วนใหญ่ตั้งสำรองไว้แล้ว แต่แนะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐในครึ่งปีหลัง
ธนาคารพาณิชย์ไทย 9 แห่งได้รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/65 กำไรสุทธิรวมประมาณ 5.28 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) และจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เหตุผลหลักมาจากการตั้งสำรองหนี้เสียที่ลดลง การเติบโตของสินเชื่อ รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ‘กรุงไทย’ โกยกำไรไตรมาสแรก 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.4% ผลจากการคุมค่าใช้จ่ายและสินเชื่อที่เติบโต
- Cathie Wood ชี้ธนาคารพาณิชย์กำลังมีปัญหาใหญ่ สูญเสียทั้งคนเก่งและธุรกิจหลักให้กับ DeFi
- ชมคลิป: ‘4 ธนาคารพาณิชย์ไทย’ สะเทือน S&P ประกาศหั่นเรตติ้ง ห่วงความเสี่ยงเชิงระบบ | Morning Wealth 23 มี.ค. 2565
วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลประกอบการแบงก์ส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมา มีการเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ บางแห่งก็ดีกว่าที่คาดการณ์ สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อ ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยดีตามคาด แม้ว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะแผ่วลง แต่ก็เป็นไปตามที่ประมาณการไว้
นอกจากนี้ คุณภาพสินทรัพย์ส่วนมากออกมาดี ขณะที่การตั้งสำรองในทุกแบงก์ต่างลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 ส่วนระดับหนี้เสียก็ลดลงเช่นกัน แต่มีบางธนาคารที่ทรงตัว
สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2/65 ฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่ากำไรกลุ่มแบงก์จะเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะออกมาตรการกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่อง
“ส่วนความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ประเมินว่ากระทบกับกลุ่มแบงก์ไม่มาก และแบงก์น่าจะประเมินความเสี่ยงจากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามดังกล่าวไปตั้งแต่ไตรมาส 1แล้ว” วิจิตรกล่าว
เขากล่าวเพิ่มว่า ความเสี่ยงระยะสั้นของกลุ่มแบงก์คือความสามารถในการประคองระดับ NPL ไว้ให้ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/65 แต่เชื่อว่าแบงก์น่าจะรับมือได้เพราะอัตราส่วนสำรองที่ตั้งไว้ค่อนข้างสูง
“สำหรับกลยุทธ์ลงทุนกลุ่มแบงก์ ประเมินว่าราคาซื้อขายปัจจุบันค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน จึงแนะนำให้ลงทุนโดยฝ่ายวิจัยแนะนำหุ้นเด่นคือ KBANK ที่โดดเด่นจากการเป็นแบงก์ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการมากที่สุด และ KKP ที่มีการเติบโตของรายได้ทุกช่องทางที่โดดเด่น และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีมากๆ รวมถึงมีดีลด้าน IB อยู่ในมือหลายดีล” วิจิตรกล่าว
แนะจับตามาตรการรัฐงัดเศรษฐกิจ
วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า สัญญาณหนึ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีของทุกแบงก์คือการตั้งสำรองที่ลดลงในไตรมาส 1/65 ซึ่งสะท้อนถึงระดับ NPL ที่น่าจะทรงตัวและไม่ปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ในไตรมาส 2 เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1/65 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ การเปิดเมืองยังทำไม่ได้เต็มที่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ได้เต็มร้อย แต่กลุ่มแบงก์ก็ยังสามารถบริหารจัดการ NPL ได้
เขากล่าวว่า ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองต่อกลุ่มแบงก์ไว้ตามเดิม แต่จะจับตาสถานการณ์ NPL และความสามารถในการเติบโตของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องติดตามเรื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร และจะช่วยการหมุนรอบทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่
“เรื่อง NPL ในไตรมาส 2 อาจจะไม่กังวลมาก แต่หากมองยาวไปถึงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจถูกคาดหวังว่าจะต้องฟื้นตัวอย่างแท้จริง ซึ่งหากไม่เป็นไปตามนั้น NPL ก็จะกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องจับตาอีกครั้ง เพราะในสิ้นเดือนมิถุนายน ก็จะสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว” วิกิจกล่าว
นอกจากนี้ กรณีที่ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่ง และคงความน่าเชื่อถือไว้ 2 แห่ง ด้วยมีมุมมองว่าหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น และกฎเกณฑ์ของทางการเอื้อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของไทยทำได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ส่งผลให้มีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจำนวนมาก ก็จะกลับมีน้ำหนักต่อมุมมองต่อหุ้นกลุ่มแบงก์อีกครั้ง หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีผลเพียงพอ
9 แบงก์พาณิชย์ไทยโกยกำไรไตรมาสแรก 5.28 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/65 ออกมาแล้ว 9 แห่ง รวมกัน 5.28 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่กำไรปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) และไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เหตุผลหลักมาจากการตั้งสำรองหนี้เสียที่ลดลง การเติบโตของสินเชื่อ รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนี้
- ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับไตรมาส 1/65 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิจำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 584 ล้านบาท หรือ 5.50%
- ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBB) และบริษัทย่อยประกาศผลกำไรสุทธิในไตรมาส 1/65 จำนวน 10,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ธนาคารกรุงไทย (KTB) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 8,780.34 ล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 57.40% จากไตรมาส 1/64
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,033 ล้านบาท หรือ 16.2% จากไตรมาส 4/64 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 913 ล้านบาท หรือ 14%
- ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิ 7,118.06 ล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.82% จากไตรมาส 1/64
- ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/65 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) แจ้งผลการดำเนินงานสำหรับธนาคารและบริษัทย่อยในไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/64 และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวมจำนวน 1,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากไตรมาส 1/64 จากค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) แจ้งผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,061.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 719.7 ล้านบาท หรือ 210.9% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP