เศรษฐกิจ ศรีลังกา กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อันเป็นผลมาจากการบริหารการเงินที่ผิดพลาดของรัฐบาล และการลดภาษีผิดจังหวะเวลา นอกเหนือไปจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด
หนี้ต่างประเทศมูลค่ามหาศาล การล็อกดาวน์ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนเชื้อเพลิง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง และการลดค่าเงิน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อมูลจากกรมสถิติของรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจศรีลังกาโต 1.8% ในไตรมาส 4/21 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้อัตราการขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ 3.7% ขณะที่ธนาคารกลางศรีลังกาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศจะขยายตัวในอัตรา 5%
ประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย จีน และบังกลาเทศ ยื่นมือเข้ามาช่วยศรีลังกาฝ่าฟันวิกฤตนี้ นอกจากนี้ ศรีลังกายังได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วย
-
สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร
ประชากร 22 ล้านคนในศรีลังกากำลังเผชิญกับการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต อย่างเช่น อาหารและยา รวมไปถึงเชื้อเพลิง ซึ่งสาเหตุเกิดจากการที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้การนำเข้าสินค้าจำเป็นต่างๆ หยุดชะงัก
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางศรีลังกาเปิดเผยว่า ได้ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อนำทุนสำรองระหว่างประเทศราว 1.93 พันล้านดอลลาร์ไปใช้ในการนำเข้าสินค้าจำเป็นแทน
การจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาดโดยรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยต่อเนื่อง ทำให้การเงินสาธารณะของศรีลังกาอ่อนแอลง และสถานการณ์ยิ่งทรุดหนัก เมื่อรัฐบาลของราชปักษาตัดสินใจปรับลดภาษีครั้งใหญ่ ไม่นานหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2019
จากความไม่พอใจที่สะสมมานาน จนในที่สุดประชาชนได้ลุกฮือประท้วงใหญ่ขับไล่รัฐบาลที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศพังพินาศ ท่ามกลางกระแสการประท้วงที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประธานาธิบดีราชปักษาจึงตัดสินใจยุบคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนนี้ และเชิญทุกฝ่ายในรัฐสภาจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ แต่ถูกปฏิเสธโดยกลุ่มฝ่ายค้านและสมาชิกของพันธมิตรฝ่ายรัฐบาล ก่อนที่ราชปักษาจะตัดสินใจแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ดังกล่าว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลของราชปักษามีกำหนดเริ่มการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน เพื่อขอเงินกู้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลศรีลังกาตลอดจนภาคส่วนสำคัญๆ ของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ถ่วงเวลาที่จะเข้าหา IMF เพื่อขอความช่วยเหลือ
ขณะที่นักวิเคราะห์ฟันธงว่า ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเป็นความเสี่ยงต่อศรีลังกาในการที่จะหาทางออกจากวิกฤตการเงิน
-
ปรับ ครม. เร่งกู้วิกฤต
ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา แห่งศรีลังกา แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่ประกอบด้วยสมาชิก 17 คน และไม่ปรากฏรายชื่อสมาชิกตระกูลราชปักษารวมอยู่ใน ครม.ชุดนี้ ยกเว้น มหินทา ราชปักษา พี่ชายของประธานาธิบดี ที่ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปตามเดิม
นอกจากมหินทา ราชปักษาแล้ว ไม่มีสมาชิกคนอื่นในตระกูลราชปักษาอยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยน้องชายของประธานาธิบดีอีกสองคนคือ บาซิลและชามาล ราชปักษา ตลอดจน นามาล ราชปักษา บุตรชายของนายกรัฐมนตรี ถูกปรับพ้นจาก ครม. และไม่มีชื่อปรากฏใน ครม.ชุดใหม่นี้
การปรับคณะรัฐมนตรีศรีลังกามีขึ้นท่ามกลางการประท้วงขับไล่รัฐบาลที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ทั้งตามท้องถนน และบริเวณนอกทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงและเมืองการค้าของประเทศ โดยประชาชนชาวศรีลังกาได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีราชปักษาลาออก เนื่องจากการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด จนทำให้ประเทศเผชิญวิกฤตเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
-
ศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
เศรษฐกิจของศรีลังกาประสบปัญหาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิดแล้ว แต่การล็อกดาวน์ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ยากลำบากขึ้น และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ซึ่งแรงงานเกือบ 60% ของประเทศอยู่ในภาคส่วนนี้
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศลดลง 70% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 2.31 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ศรีลังกาไม่มีเงินจ่ายค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงอาหารและเชื้อเพลิง
วิกฤตการณ์ทางการเงินยังมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศ โดยการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สำคัญของประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด นอกจากนี้ ชาวศรีลังกาที่ทำงานในต่างประเทศยังส่งเงินกลับประเทศลดน้อยลงมากด้วย
ศรีลังกามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่เพียง 2.31 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ แต่มีหนี้ที่ต้องชำระถึงประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ตลอดช่วงที่เหลือของปี
โดยหนี้มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์นั้นรวมถึงพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือนกรกฎาคม
ธนานาถ เฟอร์นันโด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของสถาบันวิจัย Advocate Institute ในกรุงโคลัมโบ กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่า สาเหตุของการขาดแคลนไม่ใช่การขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ แต่เป็นการขาดแคลนเงินดอลลาร์
-
ตกงาน ไม่มีเงิน ขาดแคลนสินค้าจำเป็น
การตกงานกลายเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเกือบทุกครัวเรือนของศรีลังกา และการขาดรายได้ทำให้อัตราความยากจนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูลของธนาคารโลกเผยว่า สัดส่วนของคนจนที่มีรายได้วันละ 3.20 ดอลลาร์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.7% ในปี 2020 จาก 9.2% ในปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคน
รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการให้เงินช่วยเหลือ 5,000 รูปี แก่ครอบครัวรายได้ต่ำที่มีสถานะทางการเงินที่เปราะบางจำนวน 5 ล้านครอบครัวในช่วงล็อกดาวน์โควิด
แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และช่วยได้เพียงช่วงสั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วถูกซ้ำเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นแบบพุ่งพรวด
ขณะที่การขาดแคลนสินค้าจำเป็นก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ถึงขนาดที่ทำให้การสอบของนักเรียนหลายล้านคนในประเทศต้องถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากไม่มีกระดาษและหมึกสำหรับใช้สอบ
-
ตัดไฟทั่วประเทศ
การขาดแคลนเชื้อเพลิงส่งผลให้มีการตัดไฟทั่วประเทศเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เนื่องจากการไม่มีเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ได้นำไปสู่การขาดแคลนพลังงานความร้อนถึง 750 เมกะวัตต์
เจ้าหน้าที่เผยกับสำนักข่าว AFP ว่า “ไฟฟ้ามากกว่า 40% ของศรีลังกาผลิตจากพลังน้ำ แต่แหล่งน้ำส่วนใหญ่มีระดับต่ำจนเป็นอันตรายเพราะฝนไม่ตก”
ถ่านหินและน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตไฟฟ้าของศรีลังกา และศรีลังกาต้องนำเข้าทรัพยากรทั้งสองชนิดจากต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน เนื่องจากเงินตราต่างประเทศที่ร่อยหรอ
ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันดีเซลอย่างรุนแรงทำให้ต้องปิดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหลายแห่ง และส่งผลให้ต้องตัดไฟฟ้าทั่วประเทศ
นอกจากนี้ มีการประกาศขึ้นราคาน้ำมันถี่มาก โดยน้ำมันเบนซินปรับตัวขึ้นมาแล้ว 92% และดีเซลเพิ่มขึ้น 76% ตั้งแต่ต้นปี
-
เงินเฟ้อพุ่ง
เมื่อเดือนมีนาคม 2020 ศรีลังกาสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าหลายชนิด เพื่อเก็บสกุลเงินต่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อการชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่การดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การขาดแคลนสินค้าจำเป็นอย่างกว้างขวาง และราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประชาชนจำเป็นต้องเลือกซื้ออาหารราคาถูกลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังตัดค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงเพื่อประหยัด โดยปัจจุบัน ชาหนึ่งถ้วยมีราคา 100 รูปีศรีลังกา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 25 รูปีศรีลังกา ณ เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตามรายงานของเว็บข่าวท้องถิ่น
ขณะที่ค่าหมอและค่ายาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้วิธีรักษาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยที่สูงขึ้นได้
โรงพยาบาลหลายแห่งหยุดการผ่าตัดตามปกติ และซูเปอร์มาร์เก็ตต้องแบ่งสรรปันส่วนการจำหน่ายอาหารหลักอย่าง ข้าว น้ำตาล และนมผง
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางศรีลังกา (CBSL) มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการควบคุมการนำเข้าที่ไม่จำเป็น และการขึ้นราคาน้ำมัน เพื่อลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 15.1% โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อกลุ่มอาหาร พุ่งแตะ 25.7% ซึ่งสูงที่สุดในรอบทศวรรษ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวสูงกว่าเป้าหมายของแบงก์ชาติอย่างมาก โดยธนาคารกลางศรีลังกาตั้งเป้าคงอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 4-6% ในระยะกลาง
-
การลดค่าเงิน
ธนาคารกลางศรีลังกาตัดสินใจลดค่าเงินรูปีลงถึง 15% และกำหนดวงเงินอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 230 รูปีต่อดอลลาร์ จากเดิมซึ่งกำหนดไว้ที่ 200-203 รูปี
ในเดือนธันวาคม CBSL ได้ประกาศมาตรการหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการให้เงินเพิ่มอีก 10 รูปีต่อดอลลาร์ แต่ปรากฏว่าช่วยไม่ได้มาก โดยการส่งเงินกลับประเทศลดลง 61.6% ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ 259 ล้านดอลลาร์ จาก 675 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
-
ไม่มีกิน
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่พุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้หลายคนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ เนื่องจากสินค้าจำเป็นทั้งหมดขาดแคลน อันเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการนำเข้า ซึ่งถูกบีบบังคับโดยวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน
แม่บ้านคนหนึ่งในโคลัมโบบอกกับ AFP ว่า ผู้คนต่อแถวยาวทุกวัน ตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง เพียงเพื่อรับส่วนแบ่งน้ำมันก๊าดที่สามารถนำมาใช้ในการจุดเตาทำอาหารได้ เธอยังกล่าวอีกด้วยว่ามีคนเป็นลม และเธอเองก็รู้สึกไม่สบายเพราะไม่มีอะไรตกถึงท้อง
และนี่คือภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าประเทศแห่งหนึ่งในเอเชียใต้ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่เตือนใจหลายประเทศให้ตระหนักว่า วิกฤตเศรษฐกิจอาจเกิดได้ทุกเมื่อ หากรัฐบาลบริหารงานผิดพลาด ขณะที่ปัญหาท้าทายในโลกยุคหลังโรคระบาดก็เป็นอีกตัวแปรที่ทำให้การแก้ปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: