กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 3.6% โดยลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา 0.8% สาเหตุหลักมาจากวิกฤตสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ก่อนเตือนว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันตรายคุกคามหลายประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ ในรายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ฉบับล่าสุดของ IMF ได้เปรียบเทียบภาวะสงครามในครั้งนี้ว่าเป็นเสมือนคลื่นแผ่นดินไหวที่แรงสั่นสะเทือนกระจายตัวเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับผลกระทบจากสงครามที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้กว้างขวางและยาวไกล ทำตลาดและการค้าต่างๆ รวมถึงภาคการเงินต้องหยุดชะงักลง
ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในครั้งนี้ ถือได้ว่าลดลงอย่างมากจากการเติบโตในปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 6.1% โดยรายงานมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทางธนาคารโลกออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.2%
IMF กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตทางลบของเศรษฐกิจโลกเป็นผลมาจากความเป็นไปได้ที่สงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะกินเวลายืดเยื้อออกไป ทำให้พันธมิตรชาติตะวันตกตัดสินใจยกระดับมาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียให้รุนแรงและเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะในด้านพลังงานและสินค้าเกษตร
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยลบจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้ต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ จนต้องสั่งล็อกดาวน์เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนหลายเมือง
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศจะยิ่งสร้างภาระเรื่องปากท้องให้กับประชาชนจนกลายเป็นชนวนเหตุที่อาจก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายหรือความไม่สงบทางสังคมซ้ำรอยกรณีอาหรับสปริง ที่ราคาอาหารแพงทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาก่อจลาจลโค่นล้มอำนาจรัฐ
รายงานระบุว่า ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งภาวะสงคราม การระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด และอัตราเงินเฟ้อพุ่ง ล้วนส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ทั้งสิ้น
สำหรับการตัดสินใจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดลดครั้งที่สองในรอบปีของ IMF โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา IMF ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไว้ที่ 4.4% และปีหน้าที่ 3.8% ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่จะเกิดสงครามในยูเครน
ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต้องก้าวถอยหลังเพราะการบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ทำให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า สงครามทำให้อัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในหลายประเทศ เนื่องจากการขาดสมดุลในด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าที่ลากยาวต่อเนื่องมาจากช่วงวิกฤตการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงคุกคามอยู่ หลังพบการระบาดระลอกใหม่ในจีน จนทางการต้องสั่งล็อกดาวน์เมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ ทำให้ภาคการผลิตจีนในฐานะโรงงานผลิตของโลกหยุดชะงักตามไปด้วย
IMF คาดการณ์ว่า ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากสงครามก็คือภูมิภาคยุโรป เนื่องจากพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียโดยตรง โดยคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปปีนี้จะหดตัวลงมาอยู่ที่ 2.8% ซึ่งลดลงจากการคาดการ์ก่อนหน้า 1.1% ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มหาอำนาจอันดับหนึ่งของเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.7% ในปีนี้ และ 2.3% ในปีหน้า ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้า 0.3%
ด้านเศรษฐกิจจีน IMF ระบุว่า ตกอยู่ในภาวะพายุฝนฟ้าคะนองปกคลุม เพราะไวรัสโควิด โดย IMF คาดว่าจีนจะเติบโตที่ 4.4% ในปีนี้ ต่ำกว่าเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทางการจีนกำหนดไว้ที่ 5.5%
ในส่วนของเศรษฐกิจรัสเซีย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว 8.5% ในปีนี้ และ 2.3% ในปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ขณะที่เศรษฐกิจยูเครนจะหดตัวมากถึง 35% ในปีนี้ โดย IMF ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้การวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูเครนจากการทำสงครามกับรัสเซีย
ขณะเดียวกัน IMF ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วในปีนี้จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.7% เพิ่มขึ้นจาก 1.1% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน และอัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะอยู่ที่ 8.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.8% ในการประเมินเมื่อเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าจะไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก แต่ IMF ก็ไม่คิดว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญมรสุมหนักจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) กระนั้น ท่ามกลางสงครามที่ไร้กำหนดเวลายุติ ปัญหาเงินเฟ้อ ภาวะโลกระบาด และความไม่แน่นอนของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนความพยายามของธนาคารกลางในหลายประเทศ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบรัดเข็มขัด จะยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อไป
ความเห็นของ IMF ในครั้งนี้ สอดคล้องกับรายงานของทางโกลด์แมน แซคส์ ที่ได้ออกมาคาดการณ์แนวโน้มการเกิดภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ที่มีโอกาส 15% ในการเกิตภาวะถดถอยภายในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และ 35% ภายในช่วง 24 เดือนข้างหน้า ขณะที่โนมูระระบุในรายงานเมื่อวันจันทร์ (18 เมษายน) ที่ผ่านมา ว่าเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านทีมบรรณาธิการเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์ของจีนได้ออกมาแย้งว่า การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนของ IMF ไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจของจีนทั้งหมด ที่มีความเข้มแข็งและแรงต้านทานมากกว่าที่เห็น
ทั้งนี้ Global Times รายงานว่า ก่อนหน้าที่ IMF จะเปิดเผยรายงานคาดการณ์ บรรดาสถาบันการเงินชั้นนำทั้งหลายอย่าง BS Group AG, Barclays Plc, Standard Chartered Plc และ Bank of America ต่างออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนในปีนี้ โดยอยู่ระหว่าง 4.2-5%
แม้การเติบโตในไตรมาสแรกของจีนในปีนี้จะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.8% แต่จีนก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาที่รุนแรง โดยเฉพาะความพยายามสกัดกั้นการระบาดตามมาตรการ Zero COVID ของภาครัฐ ดังนั้น การบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 5.5% จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับจีนแต่ก็เป็นความท้าทายที่เป็นไปได้
นักวิเคราะห์ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจีนโดยรวมรุนแรงน้อยกว่าที่สื่อตะวันตกรายงานเอาไว้มาก โดยเฉพาะกรณีนโยบาย Zero COVID ที่นักวิเคราะห์จีนเห็นว่า แทนที่จะขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามที่ผู้มองโลกในแง่ร้ายอ้าง นโยบายดังกล่าวจะปูทางให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจตระหนักถึงศักยภาพในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ในช่วงที่เหลือของปี
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถหาวิธีสร้างสมดุลระหว่างการกลับมาผลิตใหม่และควบคุมการแพร่ระบาดภายในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน เพื่อช่วยให้ธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติและสนับสนุนการบริโภค หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของการระดมทุน สินเชื่อกู้ยืมเงิน มาตรการผ่อนผันและช่วยเหลือกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และการจัดการแก้ไขภาวะหยุดชะงักของการขนส่ง
นอกจากนี้ หลายหน่วยงานยังมีแผนงานและโครงการส่งเสริมการค้าภายในและระหว่างประเทศของจีนอย่างเต็มที่ ดังนั้น ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวจึงเป็นไปในทางบวก โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รากฐานเชิงบวกในระยะยาวของเศรษฐกิจจีนไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับสถานการณ์โลกที่ซบเซา เศรษฐกิจยังคงมีโมเมนตัมสำหรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่ง
ขณะที่จีนสร้างสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รากฐานและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะช่วยให้จีนมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่งและจะสร้างผลลัพธ์ที่เกินความคาดหมายได้อีกครั้ง
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/04/19/investing/imf-economic-outlook/index.html
- https://www.globaltimes.cn/page/202204/1259781.shtml
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP