×

1 ปีหลัง ‘กบฏซูเปอร์ลีก’ สู่การเปลี่ยนแปลงของแชมเปียนส์ลีกที่ต้องจับตามอง

19.04.2022
  • LOADING...
กบฏซูเปอร์ลีก

วานนี้ (18 เมษายน) คือวันครบรอบ 1 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในโลกฟุตบอล เมื่อ 12 สโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำของยุโรปและของโลกประกาศการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาในนาม ‘ซูเปอร์ลีก’ (The Super League) หรือในชื่อที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันจากกระแสข่าวที่มีมาตลอดว่ายูโรเปียนซูเปอร์ลีก (European Super League)

 

การประกาศครั้งนั้นสร้างความตกตะลึงให้แก่โลกลูกหนังทั้งใบเพราะไม่คิดว่าจะมีวันนี้จริงๆ ที่สโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำซึ่งประกอบไปด้วย เอซี มิลาน, แอตเลติโก มาดริด, บาร์เซโลนา, อินเตอร์ มิลาน, ยูเวนตุส, เรอัล มาดริด บวกกับ 6 สโมสรใหญ่ของอังกฤษอันได้แก่ อาร์เซนอล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และท็อตแนม ฮอตสเปอร์ จะท้าทายอำนาจการปกครองที่เป็นของฟีฟ่าและยูฟ่ามาโดยตลอด

 

เป้าประสงค์สำหรับสโมสรเหล่านี้คือการสร้างรายการแข่งขันใหม่ที่น่าดึงดูดมากกว่ารายการที่มีอยู่เดิมอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ด้วยเชื่อว่าการที่สโมสรระดับชั้นนำแข่งขันกันเองนั้นย่อมน่าดูกว่าการที่สโมสรระดับ Elite เหล่านี้แข่งขันกับสโมสรอื่นที่เป็นรอง และแน่นอนเรื่องของผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างมากมายมหาศาล และจะได้รับตลอดไปด้วยเพราะสโมสรที่เป็น ‘สมาชิกผู้ก่อตั้ง’ จะรักษาสถานะสมาชิกของลีกตลอดไป

 

อย่างไรก็ดี การประกาศครั้งนี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่โลกฟุตบอล ไม่เพียงเฉพาะฟีฟ่าและยูฟ่าที่ประกาศจะ ‘ลงโทษอย่างหนัก’ แฟนฟุตบอลของสโมสรเหล่านี้ต่างโกรธแค้นกับการกระทำของผู้บริหารสโมสรที่นำเอาสโมสรฟุตบอลซึ่งเป็นมากกว่าแค่สมบัติของนายทุนไปกระทำการอุกอาจคิดจะหาเงินอย่างเดียว

 

‘ฟุตบอลเป็นของแฟนบอล’ คือข้อความที่ทรงพลังและชัดเจนจากคนที่สโมสรอาจมองเห็นเป็นแค่ ‘ลูกค้า’

 

ซูเปอร์ลีกยังเป็นการทำลายวงการฟุตบอลจนถึงจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้อย่างความรู้สึก ความฝัน ซึ่งการได้เข้าร่วมแข่งขันรายการสโมสรยุโรปสำหรับสโมสรฟุตบอลระดับกลางไปจนถึงเล็กแล้วคือสิ่งที่พวกเขาอยากสัมผัสสักครั้ง ขณะที่เม็ดเงินสนับสนุนจากรายการเหล่านี้ที่จะถูกแบ่งให้กับสโมสรต่างๆ ผ่านองค์กรอย่างยูฟ่าเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเกมฟุตบอลก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

การต่อสู้จึงเกิดขึ้น เราได้เห็นภาพของการลุกฮือประท้วงอย่างหนักของแฟนฟุตบอลโดยเฉพาะในกลุ่มแฟนบอลอังกฤษที่ยืนหยัดต่อสู้กับเจ้าของสโมสรอย่างดุเดือด จนที่สุดแล้วกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การตัดสินใจค่อยๆ ถอนทัพของสโมสรที่เข้าร่วม

 

ก่อนที่ซูเปอร์ลีกจะตายใน 56 ชั่วโมงต่อมา

 

การคืนชีพของซูเปอร์ลีกในอีกรูปแบบ

 

แต่ถ้าถามว่าตกลงซูเปอร์ลีกนั้นตายไปแล้วจริงๆ ใช่หรือไม่? คำตอบในเวลานี้ดูเหมือนจะ ‘ไม่’ ท่ามกลางความกังวลของคนในวงการมากมาย

 

เพราะซูเปอร์ลีกในวันนั้นดูเหมือนกำลังจะกลายร่างใหม่อยู่ใต้องค์กรอย่างยูฟ่าแทน ในชื่อการแข่งขันดั้งเดิมอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันใหม่ที่ปรับเยอะและหนักที่สุดนับตั้งแต่การรีแบรนด์ครั้งแรกในปี 1992 จากยูโรเปียนคัพดั้งเดิม

 

และหากยังจำกันได้การประกาศว่าจะมีการปฏิรูปแชมเปียนส์ลีกก็มีขึ้นในวันที่ 19 เมษายน หนึ่งวันหลังการประกาศตั้งซูเปอร์ลีกของเหล่าสโมสรระดับท็อป

 

ฟุตบอลแชมเปียนส์​ลีกรูปแบบใหม่จะเริ่มใช้ในฤดูกาล 2024/25 หรือในอีก 3 ฤดูกาลข้างหน้า จะใช้รูปแบบการแข่งขันที่เรียกว่า ‘Swiss Model’ โดยจะมีจำนวนทีมทั้งหมด 36 ทีมด้วยกัน และใช้ระบบแข่งขันแบบลีก เพียงแต่จะมีการจัดโปรแกรมสลับไปโดยแต่ละทีมจะได้ลงแข่งขันทั้งหมด 10 นัดในรอบแรก หลังจากนั้น 8 ทีมที่ทำผลงานดีที่สุดจะได้ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ ​(ส่วนอันดับ 9-16 จะต้องเพลย์ออฟกับอันดับ 17-24)

 

ยูฟ่าคาดหวังว่าจะสามารถ ‘เคาะ’ รูปแบบใหม่นี้ได้ในการประชุมใหญ่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 10 พฤษภาคม

 

สำหรับการแข่งขันรูปแบบใหม่นี้ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักและมีประเด็นที่แฟนฟุตบอลตั้งคำถามอย่างมากในเรื่องของการให้สิทธิ์ 2 ทีมที่จะผ่านเข้าสู่การแข่งขันด้วยวิธีพิเศษ คือการดูจาก ‘ค่าสัมประสิทธิ์ผลงานการแข่งขันในรายการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา’ (UEFA Club Coefficient) มากกว่าจะตัดสินจากอันดับคะแนน

 

พูดให้เห็นภาพขอยกสมมติในกรณีที่ประเทศหนึ่งได้โควตาทั้งหมด 5 ทีม อันดับที่ 1-4 ได้ไปอยู่แล้วตามปกติ แต่โควตาสุดท้ายอันดับที่ 5 ไม่ได้เข้าแข่งเพราะไม่มีผลงานในรายการของยูฟ่ามาก่อน ทำให้อันดับ 6 ที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันเป็นประจำได้สิทธิ์เข้าร่วมแทนผ่าน ‘ประตูหลัง’

 

ไม่นับที่บางประเทศแชมป์เอฟเอคัพจะได้สิทธิ์เข้าร่วมแต่บางประเทศไม่ได้เข้าร่วม

 

เพื่อฟุตบอลหรือเพื่อเงิน?

 

สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดการต่อต้านเพราะเชื่อว่านี่เป็นการ ‘โปร’ สโมสรใหญ่ที่ยูฟ่าเองก็พยายามที่จะหาทางประนีประนอมและทำให้สโมสรใหญ่เหล่านี้ยอมลงแข่งขันในรายการของพวกเขาต่อไปมากกว่าที่จะแยกตัวออกไปก่อตั้งรายการแข่งขันเอง

 

โดยแม้คนที่เป็นผู้นำของกลุ่มสโมสรฟุตบอลยุโรปหรือ European Club Association (ECA) ในเวลานี้คือ นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง เคยบอกว่าไม่มีโอกาสที่ซูเปอร์ลีกจะกลับมาอีกครั้ง แต่ทางฝ่ายของ ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด, โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสรบาร์เซโลนา และ อันเดรีย อักเนลลี ประธานสโมสรยูเวนตุส ยืนกรานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาว่าซูเปอร์ลีกไม่เคยไปไหน

 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าบรรดาขาใหญ่ในพรีเมียร์ลีก ที่แม้จะมีการประนีประนอมยอมให้แฟนฟุตบอลได้มีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นในการเจรจาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังพร้อมที่จะร่วมวงทันทีหากมองเห็นว่ามี ‘ความเป็นไปได้’ ที่ซูเปอร์ลีกจะเกิดขึ้น ซึ่งโควตาพิเศษก็เป็นการประลองอำนาจกันระหว่างยูฟ่าและ ECA นั่นเอง

 

ก่อนหน้านี้หลังเหตุการณ์กบฏซูเปอร์ลีก ยูฟ่ามีโอกาสที่จะจัดการอย่างเด็ดขาดต่อ 12 สโมสรที่ก่อการแต่การลงโทษก็ไม่ได้รุนแรงสมกับการกระทำผิด ในขณะที่ ECA ได้ตัดสมาชิกภาพของ 12 สโมสรเหล่านี้ แต่หลังจากที่ยูฟ่าพยายามจะหาทางให้โอกาสแก่สโมสรในระดับลีกรองมากขึ้นในแชมเปียนส์ลีก ECA ก็เปิดประตูต้อนรับ 12 สโมสรกบฏกลับมาเพื่อคานอำนาจและสร้างแรงกดดัน

 

ทั้งนี้ตามรายงานจาก The Times ซึ่งอ้างอิงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกระบวนการยืนยันว่า ‘ยังไม่มีการสรุป’ ในเวลานี้ โดยที่ระหว่างวันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคมที่จะมีการลงมติของคณะกรรมการบริหารยูฟ่าเกี่ยวกับการปฏิรูปแชมเปียนส์ลีกทุกอย่างยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอด

 

2 ทีมที่จะได้สิทธิ์ผ่านค่าสัมประสิทธิ์อาจจะลดเหลือ 1 ทีมหรืออาจจะถูกตัดออกไปเลย

 

อีกสิ่งที่ต้องจับตามองคือ ‘จำนวนเกม’ ที่จะแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม เพราะแม้จะมีการประกาศว่าแต่ละทีมจะลงเล่นทั้งหมด 10 นัดแต่ในระบบ Swiss Model สามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนนัดได้ตามที่ต้องการ ซึ่งตามรายงานข่าวแล้วอาจจะมีการปรับลดเหลือ 8 นัด ซึ่งจะมากกว่าระบบเดิมที่แข่งรอบแบ่งกลุ่ม 6 นัด

 

ส่วนหลังจากการลงมติในวันที่ 10 พฤษภาคมแล้ว เรื่องใหญ่ที่สุดที่จะต้องพูดถึงกันคือเงินส่วนแบ่งรายได้ในรูปแบบใหม่ว่าจะจัดสรรกันอย่างไร โดยยูฟ่าประเมินว่าเงินรายได้จากการแข่งขันรูปแบบใหม่จะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 40 เปอร์เซ็นต์หรือราว 5 พันล้านยูโรต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งจะมาจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและการค้า

 

แน่นอนว่าตรงนี้จะเป็นสมรภูมิที่บรรดาสโมสรใหญ่รอคอยโอกาสที่จะได้ฟาดฟันกับยูฟ่าอีกรอบเพื่อให้ได้ผลประโยชน์กลับมาให้มากที่สุด ซึ่ง ECA แม้จะไม่ได้อยู่ใต้การครอบงำของสโมสรอย่างเรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา หรือยูเวนตุสเหมือนในอดีต แต่อิทธิพลของสโมสรเหล่านี้ยังมีสูงเสมอเมื่อพูดกันในเรื่องของผลประโยชน์

 

การตัดสินใจในวันที่ 10 พฤษภาคมของยูฟ่าจึงถูกมองว่าจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของวงการฟุตบอลยุโรปไปอย่างน้อยหลังจากนี้อีกร่วมทศวรรษเลยทีเดียว

 

โดยที่ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าจะไม่มี ‘Super League Return’ อีก เพราะทุกคนรู้แล้วว่าบรรดาสโมสรใหญ่เหล่านี้พร้อมจะเคลื่อนไหวทุกรูปแบบหากนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่พวกเขาคิดว่าควรจะได้รับมากกว่าสโมสรอื่น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X