วานนี้ (16 เมษายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่า อนุมัติเปิดสายการบินในสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงคมนาคมกว่า 40 ราย จนเป็นเหตุให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้ธงแดงแก่ประเทศไทยเพราะไม่ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย
โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีตั้งแต่ปี 2551-2562 ธุรกิจการบินในไทยเติบโตมากกว่า 280% จาก 58 ล้านคน เป็น 120 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับการบินทั่วโลก ในการออกใบอนุญาตสายการบินจะมีอยู่ 2 ใบคือ ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ หรือ AOL (Air Operating License) โดยจะพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ อาทิ มีทุนจดทะเบียนเท่าไร มีผู้ถือหุ้นเป็นใคร มีเส้นทางหลักและรองอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าสายการบินมีทุนเพียงพอที่จะดำเนินการและสามารถรับผิดชอบผู้โดยสารได้หรือไม่ โดยมีกรรมการพิจารณาคุณสมบัติผู้ขออนุญาต ประกอบด้วย อธิบดีกรมการบินพลเรือน รองอธิบดีฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้อำนวยการสำนักที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกสองท่าน ก่อนนำเสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติต่อไป และถ้าเป็นไปตามคุณสมบัติและระเบียบทั้งหมด รัฐมนตรีก็ต้องอนุมัติ ถ้าเป็นอย่างอื่นก็จะมีความผิดได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของ ICAO
ชัชชาติอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากการที่ตนทำตามขั้นตอนทั้งหมดที่ถูกต้องตามระเบียบแล้ว ประเทศชาติและประชาชนก็ยังได้ประโยชน์ เมื่อผู้โดยสารเยอะขึ้น โลว์คอสต์แอร์ไลน์ก็มากขึ้น ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นจากการแข่งขัน ทำให้มีทางเลือกเยอะขึ้น ขณะเดียวกันการอนุมัติสายการบินก็มีหลายประเภททั้งแบบประจำ แบบเช่าเหมาลำ ใบอนุญาตเฮลิคอปเตอร์ การต่อใบอนุญาตเดิม เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งจากไทยและต่างชาติมากขึ้น
แต่ทั้งหมดนี้ สายการบินก็ยังไม่สามารถขึ้นบินได้ เพราะต้องขออนุมัติใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ AOC (Air Operator Certificate) เป็นใบที่สองเพื่อพิจารณาเรื่องความปลอดภัย ในส่วนนี้จะไม่เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม แต่จะเป็นขั้นตอนของกรมการบินพลเรือน โดยมีอธิบดีกรมการบินพลเรือนเป็นผู้กำกับดูแล
โดยที่ผ่านมามีสายการบินได้รับอนุมัติ AOL ใบแรก แต่ไม่ได้รับอนุมัติ AOC ใบที่สอง ก็มีจำนวนมากเนื่องจากไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณี ICAO ให้ธงแดงไทยนั้นจะมาเกี่ยวข้องกับใบที่สอง AOC ที่จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องความปลอดภัย ในปี 2554 ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบและไม่พบว่ามีปัญหา หลังจากนั้นในสมัยที่ตนยังอยู่ในตำแหน่ง รมว.กระทรวงคมนาคม ทางกรมการบินพลเรือนได้แจ้งว่าพร้อมสำหรับการตรวจสอบจนกระทั่งยุบสภาปลายปี 2556-2557 และเกิดการรัฐประหาร ตนต้องออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ประเด็นสำคัญคือหลังปี 2558 ICAO ได้เปลี่ยนวิธีการตรวจให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งกรมการบินพลเรือนอาจไม่ได้รองรับ หรือเตรียมเรื่องการตรวจใหม่ จึงทำให้ในที่สุด ICAO ให้ธงแดงประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 และส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินการท่องเที่ยวไทย ทำให้สายการบินในไทยไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่ได้
ในส่วนปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชัชชาติกล่าวว่า การบินไทยไม่ได้มีปัญหาจากการออกใบอนุญาต และควรจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เนื่องจากตลาดที่ขยายขึ้น แต่เป็นเพราะปัญหาที่คาราคาซังมาต่อเนื่อง ที่พบว่าการบินไทยมีการขาดทุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551