×

วิเคราะห์ความเสี่ยง รัสเซียใช้อาวุธเคมีในสงครามยูเครน เป็นไปได้แค่ไหน?

12.04.2022
  • LOADING...
อาวุธเคมี

ปฏิบัติการสงครามของรัสเซียในยูเครน ใกล้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 แล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังตึงเครียดและมีแนวโน้มว่ารัสเซียอาจเปิดฉากขยายการบุกครั้งใหญ่ หลังย้ายแนวรบจากกรุงเคียฟและพื้นที่ตอนเหนือมาทางภาคตะวันออก รวมถึงภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซีย

 

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทางทหารของ NATO และชาติตะวันตกกำลังจับตามอง คือยุทธวิธีในการรบของรัสเซีย โดยที่ผ่านมามีหลายฝ่ายกังวลว่า รัสเซียอาจขยายจากการใช้อาวุธหนักอย่างจรวด ปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศ ไปสู่การ ‘ทำสงครามนอกแบบ’ หรือ ‘Unconventional Warfare’ โดยเฉพาะการใช้อาวุธเคมีที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้เป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเครมลินปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีความตั้งใจที่จะใช้อาวุธเคมีในสงครามครั้งนี้ แต่หากย้อนไปดูในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่ารัสเซียถูกเชื่อมโยงในเหตุโจมตีหรือลอบสังหารด้วยอาวุธเคมีมาแล้วหลายกรณี ซึ่งล่าสุดคือกรณีของผู้แทนเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีรายงานว่า เกิดอาการคล้ายถูกวางยาพิษเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่มีฝ่ายใดยืนยันว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่

 

แล้วทำไมผู้นำชาติตะวันตกถึงคิดว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธเคมีในยูเครน?

  • สิ่งที่ทำให้ผู้นำชาติตะวันตกสงสัยว่ารัสเซียอาจมีแผนใช้อาวุธเคมี มาจากประวัติของรัฐบาลรัสเซีย ที่ถูกโยงในเหตุการณ์ใช้อาวุธเคมีกับผู้ที่ถูกมองเป็นศัตรูของรัฐ

 

  • กรณีที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก เกิดขึ้นในปี 2018 หลังรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่าวหารัสเซียว่า ใช้โนวิช็อก (Novichok) ซึ่งเป็นสารเคมีทําลายประสาท (Nerve Agent) ที่พัฒนาโดยสหภาพโซเวียตเมื่อหลายสิบปีก่อน ในการวางยาพิษต่อ เซอร์เก สกริปาล อดีตสายลับ 2 หน้าชาวรัสเซียที่อาศัยในสหราชอาณาจักร 

 

  • อีกเหตุการณ์คือกรณีของ อเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านและคู่ปรับที่มักวิพากษ์วิจารณ์ปูติน ซึ่งถูกวางยาพิษในปี 2020 ด้วยสารโนวิช็อก ต่างชนิดกับสกริปาล 

 

  • ขณะที่รัฐบาลเครมลินปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 เหตุการณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาติตะวันตกจับตามองถึงความเป็นไปได้ที่รัสเซียยังไม่กำจัดหรือละทิ้งโครงการอาวุธเคมีจากยุคสหภาพโซเวียต

 

  • นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่กองทัพรัสเซียเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือกองทัพรัฐบาลซีเรียในภารกิจสงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2011 โดยองค์กรห้ามอาวุธเคมี (OPCW) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ยืนยันว่ากองทัพซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีกับประชาชนของตนเอง ซึ่งรัฐบาลรัสเซียปฏิเสธการมีส่วนร่วมกับการโจมตีเหล่านี้

 

  • สำหรับสงครามในยูเครนนั้น ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลเครมลินมีการกล่าวหาสหรัฐฯ และยูเครน ว่าร่วมกันพัฒนาอาวุธเคมีหรืออาวุธชีวภาพในการต่อสู้กับกองทัพรัสเซีย แต่ชาติตะวันตกมองว่า ข้อกล่าวหาของรัสเซียอาจเป็นการหาข้ออ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธเคมี 

 

  • ซึ่ง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “รัฐบาลเครมลินนั้นมีประวัติอันยาวนานในการกล่าวหาผู้อื่นต่อสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่หรือกำลังจะทำ” 

 

  • ขณะที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องการวางแผนใช้อาวุธเคมีในสงครามยูเครน โดยชี้ว่าเป็นความพยายามใส่ร้ายรัสเซียของชาติตะวันตก

 

  • ที่ผ่านมา รัสเซียและยูเครน มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention: CWC) ซึ่งห้ามมิให้มีการใช้สารเคมีในการทำสงคราม ซึ่งรวมถึงสารที่มีการใช้งานอย่างถูกกฎหมาย เช่น คลอรีน ซึ่งใช้สำหรับฆ่าเชื้อในน้ำ

 

  • ขณะที่ OPCW ซึ่งติดตามผลการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ได้มีการตรวจสอบในปี 2017 พบว่า รัสเซียได้ทำลายคลังอาวุธเคมีทั้งหมดตามที่ประกาศไว้แล้ว

 

ทำไมรัสเซียถึงจะใช้อาวุธเคมีในยูเครน?

 

  • พอล โรเจอร์ส (Paul Rogers) นักวิจัยด้านสันติภาพจากมหาวิทยาลัยแบรดฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร ให้ความเห็นว่า การใช้อาวุธเคมีในสงครามยูเครนนั้น อาจมีประโยชน์ไม่มากนักในการจัดการกับกองทัพยูเครนที่เน้นการตั้งรับและมีอุปกรณ์หรือชุดป้องกันสารเคมี

 

  • แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ คืออาวุธเคมีนั้นสามารถเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนและทำลายขวัญกำลังใจในการต่อต้านกองทัพศัตรู ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อฝ่ายรัสเซีย

 

  • ผู้สังเกตการณ์สถานการณ์ในยูเครนหลายคนกังวลว่า รัสเซียอาจเปิดฉากใช้อาวุธเคมีในการโจมตีหลายเมืองของยูเครน เพื่อทำให้พลเรือนเกิดความตื่นตระหนก 

 

  • โดยสารเคมีที่ถูกจับตามองว่าอาจมีการนำมาใช้ คือก๊าซคลอรีน ที่มีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ และสามารถแทรกซึมเข้าไปใต้ดิน เช่น ในบังเกอร์ที่ประชาชนจำนวนมากใช้หลบระเบิด ซึ่งคุณสมบัติที่น่ากลัวของก๊าซคลอรีน หากมีการสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก คือสามารถทำให้หายใจไม่ออกและเสียชีวิต

 

  • สารเคมีอีกตัวที่กองทัพรัสเซียอาจนำมาใช้ คือก๊าซพิษซาริน ซึ่งเป็นสารเคมีทำลายประสาทที่อันตรายถึงชีวิต แต่สลายไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้กองทัพรัสเซียสามารถบุกเข้ายึดพื้นที่เป้าหมายได้ในเวลาไม่นาน

 

  • ส่วนสารเคมีอื่นๆ เช่น โนวิช็อก นั้นมีโอกาสน้อยที่จะถูกนำมาใช้ เนื่องจากอันตรายของการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมที่คงอยู่และต้องมีการกำจัดการปนเปื้อนในบริเวณกว้างก่อนที่จะบุกเข้ายึดพื้นที่เป้าหมาย

 

  • อย่างไรก็ตาม การที่แนวรบของรัสเซียย้ายมาทางตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทำให้นักวิเคราะห์บางคนมองว่ามีโอกาสน้อยลงที่รัสเซียจะเลือกใช้อาวุธเคมีในการโจมตีกองทัพยูเครน 

 

มีวิธีใดบ้างที่จะป้องกันการใช้อาวุธเคมีในยูเครน?

 

  • เลฟ ซิดเนส (Leiv Sydnes) นักเคมีจากมหาวิทยาลัยเบอร์เกน ของนอร์เวย์ ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่รัสเซียจริงจังกับข้อกล่าวหาเรื่องการพัฒนาอาวุธเคมีของสหรัฐฯ และยูเครน สิ่งที่เหมาะสมและรัสเซียควรจะทำมากกว่าการตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธเคมี คือการเรียกร้องให้ OPCW ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง

 

  • และหากรัฐบาลเครมลินใช้เรื่องนี้เป็นแค่ข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธเคมี ทางชาติตะวันตกหรือยูเครนเองก็สามารถแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการขอให้ OPCW เปิดการสืบสวนในยูเครนได้เอง โดยไม่ต้องรอรัสเซีย เพื่อแสดงความชัดเจนว่า ไม่มีสิ่งผิดปกติและไม่มีอาวุธเคมีใดๆ ซุกซ่อนไว้ 

 

  • แต่จนถึงตอนนี้ ทาง OPCW ยังคงไม่ได้รับการร้องขอจากฝ่ายใดเพื่อให้ดำเนินการสืบสวนในเรื่องนี้

 

วิทยาศาสตร์สามารถช่วยตรวจสอบการโจมตีที่น่าสงสัยได้หรือไม่?

 

  • หากเกิดกรณีการใช้อาวุธเคมีในสงครามยูเครนขึ้นจริง ทาง OPCW จะถูกเรียกให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือข้อกล่าวหาใดๆ เกี่ยวกับการใช้อาวุธเคมี 

 

  • ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่สู้รบได้โดยตรง แต่ทางองค์กรสามารถรวบรวมหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม และรายงานทางการแพทย์ในพื้นที่ได้ เช่น กรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีและถูกนำตัวเข้ารักษาในสถานพยาบาล

 

  • สำหรับอาวุธเคมีหลายชนิดนั้นให้ผลลัพธ์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน และหลงเหลือร่องรอยหลักฐานที่ต่างกันด้วย 

 

  • โดยหากเจ้าหน้าที่สืบสวนสามารถเข้าเก็บหลักฐานในพื้นที่สู้รบได้ทันทีภายหลังเกิดการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ก็อาจเก็บตัวอย่าง เช่น สารเคมีทำลายประสาทที่อยู่ในเลือด หรือร่องรอยสารเคมีที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม

 

  • แต่การโจมตีด้วยสารเคมีบางประเภท เช่น ก๊าซคลอรีน อาจเป็นการยากที่จะพิสูจน์หรือตรวจสอบ เนื่องจากก๊าซสามารถสลายไปได้โดยไม่หลงเหลือร่องรอย

 

  • ตัวอย่างหนึ่งในการตรวจสอบและเก็บหลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมี คือกรณีของสงครามกลางเมืองในซีเรีย ซึ่งทีมสืบสวนของ OPCW ได้รวบรวมหลักฐานจากพื้นที่สู้รบและรายงานว่าพบการใช้ทั้งสารเคมีทำลายประสาทและก๊าซคลอรีน แต่รัฐบาลซีเรียยืนกรานปฏิเสธในเรื่องนี้ 

 

  • แต่การลงพื้นที่ของทีมสืบสวนนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายและมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ทำให้ในปัจจุบันทาง OPCW เน้นการใช้วิธีตรวจสอบและเก็บหลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมีจากระยะไกล เช่น การใช้โดรนทางอากาศหรือภาคพื้นดินในการเก็บตัวอย่างหรือวิเคราะห์หลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุ

 

ภาพ: Photo by Maximilian Clarke / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising