×

กนง. หั่น GDP ปีนี้เหลือ 3.2% มองเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยชั่วคราว-เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่าย Stagflation

30.03.2022
  • LOADING...
กนง. หั่น GDP ปีนี้เหลือ 3.2% มองเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยชั่วคราว-เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่าย Stagflation

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% พร้อมหั่นประมาณการ GDP ปีนี้จาก 3.4% เหลือ 3.2% มองเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยชั่วคราว-เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่าย Stagflation 

 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. วันนี้ (30 มีนาคม) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 จะขยายตัวได้ที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.4% และ 4.7% เล็กน้อย 

 

ปิติระบุว่า แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง

 

แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว และผลของการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากเท่าระลอกก่อนหน้า

 

“แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมที่อาจยืดเยื้อ และผลกระทบจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในกลุ่มเปราะบาง ซึ่ง กนง. จะติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” เลขาฯ กนง. กล่าว

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2565 และ 2566 กนง. คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 1.7% และ 1.4% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ได้ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปี 2565 จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก 

 

อย่างไรก็ดี กนง. ยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) เป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง

 

“ในระยะสั้นเงินเฟ้อยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้อีก แต่ กนง. ให้น้ำหนักไปที่เงินเฟ้อระยะปานกลางมากกว่ าซึ่งขณะนี้เรายังมองว่าเงินเฟ้อในระยะปานกลางจะยังอยู่ในกรอบ 1-3% โดยเงินเฟ้อในปีหน้าจะลดลงโดยธรรมชาติตามฐานที่สูงขึ้น เราจึงเลือกที่จะมองทะลุความผันผวนระยะสั้นแล้วให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า” ปิติกล่าว

 

เลขาฯ กนง. ยังพูดถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ช้าลง แต่ขณะนี้ยังชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะ Stagflation เนื่องจาก Stagflation เป็นภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยหรือแทบไม่ขยายตัวเลยท่ามกลางเงินเฟ้อที่หยั่งรากลึก ซึ่งหากพิจารณาตามนิยามข้างต้นจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าข่ายทั้งสองเรื่อง

 

“แม้จะเติบโตลดลงแต่เราก็ยังคาดว่า GDP ไทยปีนี้จะยังโตได้ 3.2% และปีหน้าจะโตได้มากกว่านี้อีก ขณะที่เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจาก Supply Shock ไม่ได้หยั่งรากลึกจึงไม่ใช่ Stagflation ส่วนกรณีของสหรัฐฯ เราก็มองว่าไม่ใช่ Stagflation เช่นกัน เพราะเศรษฐกิจเขาเติบโตร้อนแรงมาก อาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำจนต้องพยายามหาทาง Soft Landing ซึ่งเป็นวัฏจักรตรงข้ามกับเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงพยายามจะเหินฟ้าหรือ Take off อีกครั้ง” ปิติกล่าว

 

ปิติยังกล่าวถึงภาวะการเงินโดยรวมของไทยว่า ปัจจุบันยังมีความผ่อนคลาย โดยสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก 

 

“เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่มีสัญญาณที่น่ากังวล เรายังเห็นเงินไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร แม้ว่าปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ของไทยและสหรัฐฯ จะมีส่วนต่างที่ชัดเจนแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนักลงทุนให้น้ำหนักกับภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่าผลต่างของดอกเบี้ย โดยเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงทะยานขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ อาจจะใกล้จุดพีคแล้วจะเริ่มชะลอลงแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงเรื่องเงินทุนไหลออกที่จะไปกระทบกับค่าเงินบาทน่าจะอยู่ในข่ายที่ดูแลได้” เลขา กนง. กล่าว

 

อย่างไรก็ดี กนง. จะยังคงติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

 

นอกจากนี้ที่ประชุม กนง. ยังเห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และการบรรเทาภาระค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง

 

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อช่วยกระจายสภาพคล่องและช่วยลดภาระหนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว 

 

“เรามองว่ามาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพของประชาชนทำได้ค่อนข้างดี ตรงจุดและมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือ ภาพรวมทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในขณะนี้ยังรองรับแรงกระแทกได้ดี” ปิติกล่าว 

 

ทั้งนี้ กนง. จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายวงกว้างและสร้างความไม่แน่นอนในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X