เว็บไซต์ข่าว Al Jazeera รายงานว่า Tesla ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทจะขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นสามัญของบริษัทด้วยวิธีการแตกพาร์อีกหนึ่งครั้ง
รายงานระบุว่า มติที่ประชุมบอร์ดบริหารได้อนุมัติข้อเสนอดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ระบุว่าจะแตกพาร์ด้วยอัตราส่วนเท่าใด โดยก่อนหน้านี้ Tesla เคยแตกพาร์ด้วยอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ในปี 2020
ทั้งนี้ การแตกพาร์ไม่ได้ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่การแตกพาร์มีผลทำให้ราคาต่อหุ้นลดลง ทำให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าซื้อหุ้นได้ด้วยเงินที่น้อยลง
ภายหลังรายงานข่าวครั้งนี้ไม่นาน ราคาหุ้นของ Tesla ในตลาดขยับขึ้นทันที 5% และมาปิดตลาดในแดนบวกถึง 8%
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ Tesla ตัดสินใจแตกพาร์ เพื่อทำให้ราคาต่อหุ้นไปอยู่ที่ราว 200 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมในการเข้ามาคำนวณในดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ที่ใช้การคำนวณจากราคาต่อหุ้นของบริษัทใหญ่ 30 บริษัทในอเมริกา โดยปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่อยู่ในดัชนีดาวโจนส์ ได้แก่ Apple, Cisco, IBM, Intel, Microsoft และ Salesforce
วันเดียวกัน หัวเว่ย เทคโนโลยี่ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน เปิดเผยรายได้ปี 2021 ซึ่งพบว่าปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรก เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างต่อเนื่อง กระนั้นกำไรของบริษัทกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากหัวเว่ยได้หันมาเพิ่มความสามารถในการทำกำไรแทน
โดยรายงานระบุว่า หัวเว่ยทำรายได้ 636,800 ล้านหยวนในปีที่ผ่านมา ลดลง 28.5% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี และเป็นรายได้ที่ลดลงครั้งแรก เมื่อเทียบกับตัวเลขปีอื่นๆ ที่หัวเว่ยเปิดเผยต่อสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2002
ส่วนกำไรสุทธิในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 75.9% เมื่อเทียบรายปี แตะ 1.137 แสนล้านหยวน
ด้าน เมิ่งหว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ยกล่าว ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่เมืองเซินเจิ้นว่า แม้รายได้ของบริษัทจะลดลงในปี 2564 แต่ความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดนั้นเพิ่มขึ้น เรามีศักยภาพในการจัดการกับความไม่แน่นอนมากขึ้น
อ้างอิง: