ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หนังสือหรือนิตสารหลายหัวต้องปิดตำนานลง ซึ่งวิกฤตของสิ่งพิมพ์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศซึ่งคนมีนิสัยรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจก็ได้รับผลจากวิกฤตนี้เช่นกัน
จากผลการสำรวจเมื่อปี 2016 ของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น พบว่า ใน 1 ปี คนญี่ปุ่น 1 คนอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 12-13 เล่ม
พูดง่ายๆ คือเดือนละ 1 เล่มเป็นอย่างต่ำ แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ 1 เดือนอ่านหนังสือมากกว่า 3 เล่ม เท่ากับว่าใน 1 ปีอ่านหนังสือมากถึง 36 เล่ม
ปัจจุบันนี้จำนวนคนอ่านหนังสือลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมาจากหลายๆ สาเหตุ อาทิ หนังสือกระดาษถูกตีพิมพ์น้อยลง คนหันไปอ่านบทความหรือเรื่องสั้นทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น หรือแม้แต่วิถีชีวิตของคนเมืองที่ยุ่งเหยิงจนหาเวลาอ่านหนังสือให้จบเล่มเหมือนสมัยก่อนไม่ได้
จากการสำรวจ หลายคนเมื่อมีเวลาจากการเรียนหรือทำงาน จะใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่นมากกว่าการอ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลาย
อย่างไรก็ตาม ตลาดหนังสือในประเทศญี่ปุ่นยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่เกือบเป็นปกติ เพราะคนรักการอ่านยังให้เหตุผลเหมือนๆ กันว่า หนังสือกระดาษมีชีวิต น่าจับต้องกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และที่น่าสนใจคือ ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงช้าและไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตง่ายๆ หนังสือกระดาษจึงน่าจะสูญพันธุ์ช้าที่สุดในโลก
ร้านหนังสือเก่ามีอยู่มากมายในประเทศญี่ปุ่น อยู่ในรูปแบบร้านค้ารับซื้อขายหนังสือเก่า แผ่นซีดีเก่า หรือแผ่นเกมมือสอง แต่มีตลาดหนังสือมือสองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในโตเกียว ว่ากันว่ามีมนต์ขลังและคลาสสิกที่สุด จนได้รับการขนานนามว่าเป็นถนนหนังสือที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก นั่นคือ จิมโบโช (Jimbocho) หรือ Jimbocho Book Town
ที่ย่านจิมโบโช มีร้านหนังสือเก่าอยู่เรียงรายทั่วไป ข้อมูลล่าสุดคือมีจำนวน 176 ร้าน เป็นร้านขายหนังสือเก่าแก่ดั้งเดิมราวๆ 52 ร้าน ร้านหนังสือที่จิมโบโชมีมากจนถึงกับต้องทำเป็นแผนที่แจกฟรีเพื่อให้คนตามหาร้านหนังสือที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
ในเมื่อคนอ่านหนังสือลดน้อยลง ทำไมตลาดหนังสือถึงยังอยู่ได้?
เหตุผลของคนที่ยังตามหาหนังสือเก่า (หรือหนังสือใหม่ก็ตาม) คือต้องการเก็บสะสมเป็นของที่ระลึก เป็นสมบัติส่วนตัวที่สามารถจับต้องได้ เราจึงไม่แปลกใจว่าทั้งๆ ที่ในยุคสมัยนี้คนฟังเพลงผ่านทางออนไลน์ หรือด้วยการดาวน์โหลดกันหมดแล้ว ทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงยังขายแผ่นซีดีได้อยู่ นั่นก็มาจากเหตุผลเดียวกัน
ตลาดหนังสือเก่าสุดคลาสสิกจิมโบโช ยังมีกลิ่นอายวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นหลงเหลือผ่านตึกอาคารเก่าที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เช่น ร้าน Yaguchi ที่อยู่หัวมุม เปิดบริการขายหนังสือมาครบ 100 ปีพอดีในปีนี้ ตัวอาคารเก่าแก่ตั้งอยู่โดดเด่น นอกจากจะแวะหาหนังสือแล้ว หลายคนต้องถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก ร้านนี้มีหนังสือเก่าเก็บมากมายที่หายากและหนังสือการ์ตูนสมัยวัยเด็ก หนังสือเก่าบางเล่มขายราคา 1 เยนก็มีให้เลือกซื้อ
นอกจากนี้ยังมีร้านหนังสือชื่อดังที่มีมาแต่อดีตอีกหลายร้าน จำหน่ายทั้งหนังสือเก่า หนังสือภาพ หนังสือต่างประเทศ หนังสืออาร์ต และภาพวาดเก่าที่นักสะสมหลายอาชีพต่างพากันตามหา ราคาบางชิ้นพุ่งสูงถึงหลักล้านเลยก็มี
ร้านขายเครื่องเขียน พู่กันเขียนหนังสือ กระดาษ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็มีให้หาซื้อด้วยเช่นกัน
‘ตลาดหนังสือเก่าจิมโบโช’ ยังคงมีลูกค้าแวะเวียนไปหาหนังสือคู่ใจไม่ขาดสาย ถึงแม้ว่าวันนี้หนังสือกระดาษจะล้มหายตายจากกันไปมากมายแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่หนังสือกระดาษยังเหลือทิ้งไว้คือความทรงจำที่จับต้องได้ เมื่อไรที่หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอีกครั้ง ความทรงจำ ณ ห้วงเวลานั้นจะกลับหวนคืนมาให้เราสัมผัสอีกครา