สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 แล้ว แต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธอานุภาพสูงแบบ ‘ไฮเปอร์โซนิก’ โจมตียูเครน โดยทางการรัสเซียออกมายอมรับว่าได้ใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกโจมตียูเครนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มสงครามเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ก็ออกมายืนยันข้อมูลว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธที่เร็วเหนือเสียง 5 เท่า โจมตียูเครน
รายการ KEY MESSAGES จะพาทุกท่านไปรู้จักกับอาวุธ ‘ไฮเปอร์โซนิก’ อาวุธอานุภาพสูงที่ประเทศมหาอำนาจทั่วโลกเร่งพัฒนาขึ้นเพื่อมีไว้ครอบครอง ก่อนที่มันจะถูกนำมาใช้ทำสงครามจริงในสมรภูมิครั้งนี้
อาวุธไฮเปอร์โซนิกคืออะไร?
ย้อนไปก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายประเทศมหาอำนาจพูดถึงความพยายามในการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก หรืออาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาวุธไฮเปอร์โซนิกจะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ในยุทธศาสตร์การรบ และมีผลต่อดุลอำนาจทางทหารอย่างมีนัยสำคัญ หากใครได้ครอบครอง
โดยอาวุธไฮเปอร์โซนิก หรืออาวุธความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Weapon) บินด้วยความเร็วอย่างน้อย 5 มัค (Mach) หรือ 5 เท่าของความเร็วเสียง อธิบายหน่วยมัค (Mach) ง่ายๆ คือ ความเร็วที่เท่ากับความเร็วของเสียงในอากาศ ซึ่ง 1 มัคจะเท่ากับความเร็วของเสียง (1 Speed of Sound) หรือคิดเป็นอัตราส่วนความเร็วที่ 1,225.05 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นอาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีความเร็ว 5 มัค เท่ากับ 6,125.22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากความเร็วแล้ว อาวุธไฮเปอร์โซนิกยังมีความคล่องตัว สามารถหลบหลีกและเปลี่ยนวิถีระหว่างการบินได้ พวกมันแตกต่างจากขีปนาวุธทิ้งตัว (Ballistic Missile) ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียง (อย่างน้อย 5 มัค) เช่นกัน แต่ Ballistic Missile จะเคลื่อนที่ไปตามแนววิถีโค้ง ทำให้มีความคล่องตัวที่จำกัด
อาวุธไฮเปอร์โซนิกมีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง?
อาวุธไฮเปอร์โซนิกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Glide Vehicle) และขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Cruise Missile)
โดยยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Glide Vehicle) จะถูกปล่อยออกจากจรวด จากนั้นยานร่อนจะแยกออกจากจรวด และ ‘ร่อน’ ด้วยความเร็วอย่างน้อย 5 มัค หรือ 6,125.22 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปยังเป้าหมาย
ส่วนขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Cruise Missile)
ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ความเร็วสูงแบบที่ต้องใช้อากาศในการเผาไหม้ (Air-breathing Engine)
ด้วยอานุภาพของอาวุธไฮเปอร์โซนิก ทำให้ประเทศใดก็ตามที่มีอาวุธไฮเปอร์โซนิกอยู่ในครอบครองจะมีความได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากอาวุธประเภทนี้สามารถหลบเลี่ยงระบบป้องกันใดๆ ก็ตามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
โดย พล.อ. จอห์น ไฮเทน อดีตรองประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ กล่าวถึงความน่ากลัวของมัน เมื่อเดือนมกราคม 2020 ว่า
“มันไม่สำคัญว่าภัยคุกคามคืออะไร เพราะหากคุณมองไม่เห็น คุณก็ไม่สามารถป้องกันมันได้อยู่ดี
“และเรา (หมายถึงสหรัฐฯ) ไม่มีระบบป้องกันใดๆ ที่สามารถป้องกันอาวุธดังกล่าวได้
แม้ปัจจุบันมีเรดาร์ภาคพื้นดินบางตัวที่สามารถตรวจจับอาวุธความเร็วเหนือเสียงได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแจ้งเตือนการโจมตีได้”
ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายประเทศมหาอำนาจมีการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิก ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ขณะที่ประเทศอื่นๆ อยู่ระหว่างการวิจัยเกี่ยวกับอาวุธชนิดนี้ และบางประเทศอ้างว่าได้ดำเนินการทดสอบอาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงแล้ว แต่ยังคงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการพิสูจน์
เรามาดูกันว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอาวุธเหล่านี้พัฒนาไปถึงขั้นไหนกันแล้ว
เริ่มที่สหรัฐฯ ในปี 2022 กองทัพสหรัฐฯ ของบประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาอาวุธความเร็วเหนือเสียง และอีก 246.9 ล้านดอลลาร์สำหรับการวิจัยการป้องกันอาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งถ้าดูจากสัดส่วนการของบประมาณจะเห็นว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาวุธให้มีไว้ครอบครองมากกว่าการพัฒนาระบบป้องกัน
อย่างไรก็ตาม อาวุธไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาหรือทดสอบ แต่คาดว่าจะมีอย่างน้อย 1 ระบบเข้าสู่สถานะ ‘ความสามารถในการปฏิบัติการเบื้องต้น’ (Initial Operational Capability) ได้ในปีนี้
ประเทศต่อมาคือ รัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็นชาติที่พัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกได้ก้าวหน้ามากที่สุด โดยรัสเซียติดตามการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และล่าสุดเจ้าหน้าที่กองทัพรัสเซียเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มีนาคมว่า รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเป็นครั้งแรกในยูเครน โดยมุ่งโจมตีเป้าหมายที่เชื่อว่าเป็นคลังแสงใต้ดินทางตะวันตกของยูเครน
แต่หากย้อนไปเมื่อปี 2018 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เคยกล่าวถึงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก Kinzhal ซึ่งเป็นภาษารัสเซียที่แปลว่า ‘มีดกริช’ และยานร่อนไฮเปอร์โซนิก Avangard โดยรายงานระบุว่า Avangard ติดหัวรบนิวเคลียร์ และสื่อหลายสำนักของรัสเซียได้รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า Avangard ถูกนำมาใช้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 นอกจากนี้รัสเซียยังกำลังพัฒนาขีปนาวุธร่อนความเร็วเหนือเสียงที่ปล่อยจากเรือที่เรียกว่า Tsirkon
ขณะที่อีกหนึ่งมหาอำนาจซึ่งก็คือ จีน ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ระบุว่า จีนกำลังเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธร่อนไฮเปอร์โซนิกและยานร่อนไฮเปอร์โซนิก และมีความเป็นไปได้ว่าขณะนี้อาจมีการนำยานร่อนไฮเปอร์โซนิกมาใช้แล้วอย่างน้อย 1 ลำ
โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า จีนได้ทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงหลายร้อยครั้งระหว่างปี 2016-2021 ในขณะที่สหรัฐฯ ทดสอบเพียง 9 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน
ส่วนอีกหนึ่งประเทศที่ใช้ยุทโธปกรณ์ทางทหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอำนาจต่อรอง นั่นก็คือ เกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนืออ้างว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก 2 ลูกในปี 2022 โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม ตามการรายงานของสำนักข่าว Korean Central News ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันข้อกล่าวอ้างดังกล่าว พร้อมอธิบายว่าการยิงดังกล่าวเป็นการทดสอบขีปนาวุธทิ้งตัวเท่านั้น ขณะที่คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ กล่าวว่า การพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงจะช่วยยกระดับการป้องปรามสงครามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้อย่างมาก ซึ่งเป็นท่าทีที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าทำให้เกาหลีใต้ตกอยู่ในความเสี่ยง
ขณะประเทศอื่นๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธความเร็วเหนือเสียงเช่นกัน และมีรายงานว่าอิหร่าน อิสราเอล และเกาหลีใต้ ก็กำลังดำเนินการวิจัยขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับอาวุธประเภทนี้
อาวุธไฮเปอร์โซนิกกลายเป็นเทคโนโลยีทางการทหารล่าสุดที่ทำให้ประชาคมโลกหวั่นใจ มีการวิเคราะห์กันก่อนหน้านี้ว่ามันได้เข้ามาเพิ่มรูปแบบการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ที่ตรวจจับได้ยากขึ้น เพราะด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราไม่รู้เลยว่าไฮเปอร์โซนิก มิสไซล์ ที่ถูกยิงมานั้นติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่
ในขณะที่ประชาคมโลกเรียกร้องต้องการสันติภาพ ประเทศมหาอำนาจก็ยังคงพัฒนาอาวุธไว้ทำลายล้างกัน โดยอ้างเรื่องความมั่นคง ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า สงครามสร้างสันติภาพไม่ได้ แต่กฎหมายที่ยุติธรรมและการพูดคุยกันต่างหากคือหัวใจของสันติภาพ
ตัดต่อ: วชิระ มากทรัพย์