×

แนวคิดแบบ Isolationism และความหวาดกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์: มุมมองของชาวอเมริกันต่อสงครามยูเครน

14.03.2022
  • LOADING...
แนวคิดแบบ Isolationism และความหวาดกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์: มุมมองของชาวอเมริกันต่อสงครามยูเครน

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นบทบาท ‘ตำรวจโลก’ ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปหลังจากการพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมันและจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำค่ายโลกเสรีก็จำเป็นจะต้องเข้าไปสนับสนุนประเทศต่างๆ เพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตในรูปแบบของสงครามตัวแทนหรือที่เรียกกันว่าสงครามเย็น
  • ความกังวลในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในอีกเหตุผลที่ทำให้ไบเดน, ชาวอเมริกัน และชาติพันธมิตร NATO ไม่กล้าที่จะส่งกองกำลังของตัวเองเข้าไปช่วยปกป้องยูเครน เพื่อปิดโอกาสไม่ให้กองทัพของพวกเขาต้องกระทบกระทั่งโดยตรงกับกองทัพรัสเซีย
  • ผลโพลล่าสุดพบว่า ชาวอเมริกันกว่า 70% เห็นด้วยกับมาตรการจัดตั้งเขตห้ามบินในยูเครน แต่การกำหนด No Fly Zone นั้นจะหมายถึงการใช้กองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาและ/หรือของชาติพันธมิตร NATO โดยตรงในการปกป้องน่านฟ้าของยูเครน ซึ่งก็จะหมายถึงโอกาสที่จะเกิดการปะทะกันโดยตรงของทหารทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในที่สุด

การที่ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ส่งกองกำลังทหารของตัวเองเข้าไปรุกรานประเทศยูเครนนั้นสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนทั้งโลก เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าเราจะได้เห็นการรุกรานเพื่อยึดดินแดนประเทศเพื่อนบ้านอีกในศตวรรษ 21  ซึ่งก็ทำให้ประเทศส่วนใหญ่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจชาวยูเครนที่เป็นเหยื่อโดยตรงของสงคราม และมองไปที่ โจ ไบเดน และสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำของประเทศโลกเสรี ว่าจะมีมาตรการตอบโต้การรุกรานของรัสเซียอย่างไร 

 

ซึ่งจนถึงปัจจุบันไบเดนและชาติพันธมิตรก็ได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจหลายอย่างมากดดันปูตินและรัสเซีย อย่างไรก็ดี ไบเดนก็ยังไม่ได้ใช้มาตรการทางทหารเพื่อช่วยเหลือยูเครนโดยตรง บทความนี้จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ไบเดนยังคงไม่กล้าส่งกองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาเพื่อไปช่วยปกป้องยูเครน และความเป็นไปได้ที่ไบเดนอาจจะใช้ไพ่ใบนี้ในอนาคต

 

ชาวอเมริกันไม่ต้องการสงคราม

เหตุผลหลักที่ไบเดนไม่กล้าส่งกองกำลังทหารเพื่อไปช่วยยูเครน เป็นเพราะกระแสสนับสนุนในการใช้มาตรการทางการทหารยังคงอยู่ในระดับต่ำในหมู่ชาวอเมริกัน ผลโพลล่าสุดก็ยังระบุว่า ชาวอเมริกันกว่า 60 เปอร์เซ็นต์นั้นยังคงไม่สนับสนุนการใช้กำลังทางการทหารกับรัสเซีย

 

ชาวอเมริกันก็เหมือนพลเมืองของโลกชาติอื่นๆ ที่ต้องการสันติภาพมากกว่าสงคราม และพวกเขาก็ไม่ต้องการให้ผู้นำของประเทศนำคนหนุ่มสาวไปเผชิญหน้ากับความสูญเสียในการต่อสู้ โดยเฉพาะในสงครามที่พวกเขามองว่า ‘ไกลตัว’ 

 

ว่ากันตามจริง แนวคิดที่ว่าสงครามในยุโรปเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่าแนวคิดแบบ Isolationism นั้นเป็นแนวคิดที่มีอยู่มาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคก่อร่างสร้างชาติอันเป็นฉันทามติร่วมของประธานาธิบดีคนแรกอย่าง จอร์จ วอชิงตัน และผู้ร่วมสร้างชาติ (Founding Fathers) คนอื่นๆ เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความสูญเสียจากความขัดแย้งในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของโลกเก่าอย่างยุโรป ทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะบริหารประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาด้วยนโยบายวางตัวเป็นกลาง แยกตัวเองออกมา และไม่เอาตัวเองออกไปพัวพันกับความยุ่งเหยิงของความขัดแย้งในยุโรป ซึ่งวอชิงตันให้ความสำคัญกับหลักการ Isolationism มากถึงขนาดที่หลักการนี้เป็นหนึ่งใน Key Message ที่เขากล่าวถึงในสุนทรพจน์อำลาตำแหน่งประธานาธิบดี

 

แนวคิดแบบ Isolationism ที่ฝังลึกอยู่ในดีเอ็นเอของคนอเมริกันนี่เองที่ทำให้ประธานาธิบดี แฟรนคลิน รูสต์เวลต์ ยังคงต้องวางเฉยเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในยุโรป หลังจากที่นาซีเยอรมันบุกยึดดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน รูสต์เวลต์ต้องรอจนกระทั่งแผ่นดินของสหรัฐอเมริกาถูกรุกรานเสียเองในเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ ถึงจะสามารถขอฉันทามติจากชาวอเมริกันในการนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ 

 

ความกังวลเรื่องสงครามนิวเคลียร์ 

สงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นบทบาท ‘ตำรวจโลก’ ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปหลังการพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมันและจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้โลกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำค่ายโลกเสรีก็จำเป็นจะต้องเข้าไปสนับสนุนประเทศต่างๆ เพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตในรูปแบบของสงครามตัวแทนหรือที่เรียกกันว่าสงครามเย็น

 

ในยุคของสงครามเย็นนี้เองที่แนวคิดแบบ Isolationism ลดน้อยลง เพราะชาวอเมริกันเห็นตรงกันถึงความจำเป็นของการไปข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งของชาติต่างๆ เพื่อที่จะจำกัดการขยายวงของค่ายคอมมิวนิสต์

 

สงครามเย็นจบลงด้วยชัยชนะของสหรัฐอเมริกาและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในช่วงยุคต้น 90 อย่างไรก็ดี เราก็ยังได้เห็นถึง ‘เงา’ ของสงครามเย็นที่ยังส่งผลกระทบมาถึงภูมิศาสตร์ทางการเมืองของโลกในศตวรรษ 21 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือสงครามยูเครนที่เรากำลังพูดถึง เพราะหนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ปูตินตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้ายึดยูเครน ก็เป็นจากโลกทัศน์ของคนในยุคสหภาพโซเวียตอย่างเขาที่มองว่ายูเครนและรัสเซียนั้นเป็น ‘ชาติ’ เดียวกันที่ถูกโลกตะวันตกเข้ามาลากเส้นแบ่งเขตแดนหลังความพ่ายแพ้ในสงครามเย็น

 

ในยุคสงครามเย็น ชาติมหาอำนาจต่างๆ (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย) ได้พากันสะสมอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอย่างหัวรบนิวเคลียร์ ทำให้มุมมองของผู้นำของชาติต่างๆ ในการทำสงครามนั้นเปลี่ยนไป กล่าวคือทุกครั้งที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นมา ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์นั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกระทบกระทั่งกันโดยตรง เพราะทุกคนมีความกังวลเหมือนกันว่าความขัดแย้งกันโดยตรงอาจเป็นชนวนให้เกิดสงครามเต็มรูปแบบ รวมไปถึงสงครามนิวเคลียร์ในที่สุด 

 

ความกังวลในเรื่องของสงครามนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในอีกเหตุผลที่ทำให้ไบเดน, ชาวอเมริกัน และชาติพันธมิตร NATO ไม่กล้าที่จะส่งกองกำลังของตัวเองเข้าไปช่วยปกป้องยูเครน เพื่อปิดโอกาสไม่ให้กองทัพของพวกเขาต้องกระทบกระทั่งโดยตรงกับกองทัพรัสเซีย

 

จุดสิ้นสุดอยู่ที่ตรงไหน? 

ไบเดนและชาติพันธมิตรคาดหวังว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะทำให้ประชาชนชาวรัสเซียและมหาเศรษฐีรอบตัวปูติน (Oligarchs) ได้รับผลกระทบอย่างหนักและออกมากดดันให้ปูตินยุติการรุกรานยูเครนเสียที แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามาตรการคว่ำบาตรนั้นจะไม่ได้ผล กองทัพของรัสเซียยังคงยาตราบุกเข้าโจมตีกรุงเคียฟอย่างต่อเนื่อง 

 

ความเป็นไปได้หนึ่งของการยุติสงครามคือ การที่ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ยอมเจรจาสันติภาพกับปูตินและยอมทำตามข้อเรียกร้องของปูตินด้วยการยอมรับว่า แหลมไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย, ยอมให้จังหวัดลูฮันสก์และโดเนตสก์เป็นรัฐอิสระและแก้ไขรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมกับ NATO

 

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของเซเลนสกีนั้นยังคงค่อนข้างแข็งกร้าว และเขาเองก็เคยพูดว่าข้อเรียกร้องของปูตินนั้นถือว่ามากเกินไป เซเลนสกียังคงเรียกร้องให้ชาติตะวันตกสนับสนุนการต่อสู้ป้องกันตัวเองของชาวยูเครนต่อ โดยมาตรการหนึ่งที่เซเลนสกีร้องขอต่อสหรัฐอเมริกาและ NATO คือการจัดตั้ง No Fly Zone ขึ้นมาในน่านฟ้ายูเครน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินรบของรัสเซียบินเข้าอาณาเขตของยูเครน โดยเขาหวังว่าการจัดตั้ง No Fly Zone จะทำให้กองทัพบกของรัสเซียบุกเข้ากรุงเคียฟได้ยากขึ้น (เพราะขาดการสนับสนุนทางอากาศ) และลดความสูญเสียของพลเรือนและระบบสาธารณูปโภคจากระเบิดของเครื่องบิน

 

การจัดตั้ง No Fly Zone อาจเป็นมาตรการต่อไปที่ไบเดนอาจตัดสินใจทำ เพราะผู้นำทางทหารในกระทรวงกลาโหมหลายคนก็เห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือยูเครนทางอากาศ ผลโพลล่าสุดก็พบว่า ชาวอเมริกันกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นเห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง No Fly Zone นั้นจะหมายถึงการใช้กองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาและ/หรือของชาติพันธมิตร NATO โดยตรงในการปกป้องน่านฟ้าของยูเครน ซึ่งก็จะหมายถึงโอกาสที่จะเกิดการปะทะกันโดยตรงของทหารทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในที่สุด

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X