×

พิษน้ำมันพุ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย สำนักวิจัยจ่อปรับ GDP ปีนี้อาจโตต่ำ 3%

14.03.2022
  • LOADING...

ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำสถิติอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในแง่ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้า ขณะที่ผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

แม้ว่าขณะนี้ไทยจะยังมีกลไกของกองทุนน้ำมันในการดูแลไม่ให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงเกินไป แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในยูเครนที่ยังไม่รู้ว่าจะลากยาวเพียงใด ก็ทำให้สำนักวิจัยหลายแห่งเริ่มมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจกันอีกครั้ง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ GDP ไทยในปีนี้อาจขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดเอาไว้

 

3 ฉากทัศน์ของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า วิจัยกรุงศรีได้ประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 

 

กรณีแรก การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังคงมีต่อไปจนสิ้นปี 2022

 

ภายใต้สมมติฐานนี้รัสเซียจะถอนกำลังจากยูเครน แต่ยังสามารถครองอิทธิพลในเขตดอนบาสได้ ทำให้ชาติตะวันตกยังคงมาตรการคว่ำบาตรจนถึงสิ้นปี 2022 ส่วนการค้าสินค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่ราคาน้ำมันพุ่งสูงในไตรมาสแรกของปี 2022 แล้วค่อยๆ ลดลง โดยทั้งปีราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยจะอยู่ที่ 97.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้คำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) พบว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น 1.3% กระทบกำลังซื้อและการบริโภค ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 0.5% โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.0%

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การค้าโลกที่ลดลง 1.1% จะทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 1.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 1.4% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.4%

 

กรณีที่ 2 การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น 

 

ภายใต้สมมติฐานนี้การรบจะยืดเยื้อไปจนถึงช่วงกลางปี ทำให้ชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การอายัดทรัพย์สินของคนรัสเซีย ลดการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย ตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT รวมทั้งลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เป็นต้น รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม การค้าขายสินค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงดำเนินต่อไปได้ จึงไม่เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานในยุโรป แต่ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงตลอดครึ่งปีแรก โดยทั้งปีราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยจะอยู่ที่ 105.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้นจะกระทบต่อการค้าโลกผ่านช่องทาง Trade Disruption และผลของรายได้ ทำให้การค้าโลกลดลง 3.4% ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 2.0% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 1.3% โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.7% จากกรณีก่อนความขัดแย้ง

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ปริมาณการส่งของไทยมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 2.3% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.1%

 

 

กรณีสุดท้าย การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2022 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยุโรป  

 

ในกรณีนี้รัสเซียจะยุติการส่งออกพลังงานไปยุโรป ทำให้น้ำมันดิบหายไป 2.5-3.0 ล้านบาร์เรล จนเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานในยุโรป และราคาพลังงานพุ่งสูงทั่วโลก โดยราคาน้ำมันมีโอกาสแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรก และทั้งปีราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยจะอยู่ที่ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตทั่วโลก และทำให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น

 

ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในยุโรปนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ถึง 4.8% ส่วนเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นกว่ากรณีฐาน 6.8% ปัญหา Stagflation ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ผ่านช่องทางการค้าและตลาดการเงิน โดยการค้าระหว่างประเทศลดลง 3.9% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกว่าในกรณีฐาน 3.6% ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจโลกมากถึง 2.9% 

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ปริมาณการส่งของไทยมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 3.1% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.7%

 

“ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงมีความไม่แน่นอนสูง การสู้รบอาจจะจบได้เร็ว แต่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะกินเวลานาน โดยผลของความขัดแย้งสามารถส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยด้วยช่องทางหลักสองด้าน คือ ด้านเงินเฟ้อและด้านพลังงาน ขณะที่ผลต่อการส่งออกยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ผลทางรายได้ (Income Effect) จะกลับมาส่งผลลบต่อทั้งภาคส่งออกที่คาดว่าจะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของปีนี้ และการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของการฟื้นตัวในที่สุด” สมประวิณกล่าว

 

ราคาน้ำมันเสี่ยงทะลุ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ขณะนี้การคว่ำบาตรระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียมีโอกาสจะลุกลามไปสู่การคว่ำบาตรเรื่องพลังงาน ทั้งการส่งออกแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้ทิศทางราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีโอกาสจะขยับไปถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นไปได้อีก 

 

ทั้งนี้ สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทยได้ใช้แบบจำลองจาก Oxford Economics เปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจ (GDP) ในแต่ละประเทศ บนสมมติฐานกรณีราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยทั้งปีขยับขึ้น 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสมมติฐาน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง GDP อย่างไรเมื่อเทียบกับกรณีฐาน

 

ผลที่ออกมาพบว่า ประเทศที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันสูงขึ้น คือ รัสเซีย และประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ขณะที่ประเทศที่ใช้น้ำมันมากๆ อาทิ ไทย อินเดีย ประเทศในอาเซียน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ จะมีเศรษฐกิจที่ชะลอกว่าคาด นั่นคือ ชะลอกว่ากรณีฐานที่ราคาน้ำมัน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แปลว่า ถ้าราคาน้ำมัน 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ เพียงแต่จะขยายตัวช้าลงกว่ากรณีฐาน เช่น ไทย อาจจะชะลอได้ 0.3% จากกรณีฐาน 

 

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียและประเทศกลุ่ม OPEC ซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูง จะไม่เร่งรีบเจรจา หรือเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน จนทำให้ราคาน้ำมันย่อลงในทันที ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบ คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าราคาน้ำมันที่คาดกันว่าจะอยู่ระดับที่สูงเกิน 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทะยานขึ้นไปแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือไม่ โดยคาดว่าจุดพีคจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 

 

“สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจที่ชะลอลงมาจากราคาน้ำมันที่สูง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูง รวมทั้งเงินเฟ้อของไทยก็มีความเสี่ยงจะสูงขึ้น โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยปีนี้มีโอกาสที่จะขึ้นไประดับ 4-5% และมีโอกาสที่เงินเฟ้อของไทยจะทะลุ 5% ได้ จากราคาพลังงาน และราคาอาหารสด ในช่วงไตรมาสที่ 2” อมรเทพกล่าว

 

 

อย่างไรก็ดี กรณีราคาน้ำมันพุ่งสูงเกิน 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คงเป็นสถานการณ์ชั่วคราวในไตรมาส 2 หลังจากนั้นราคาน้ำมันน่าจะย่อลง จากการที่คนเริ่มหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น แม้ GDP ของไทยยังขยายตัวในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา แต่มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

 

“เราเคยมองว่า GDP ไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 3.8% แต่สถานการณ์ในปัจจุบันอาจทำให้ต้องปรับลดตัวเลขลงมา แต่ก็ยังเชื่อว่า GDP จะยังอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3% เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแต่ก็ไม่ได้ถดถอย” อมรเทพกล่าว

 

GDP ไทยมีโอกาสโตต่ำกว่า 3%

ขณะที่ เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า GDP ไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.8-3.7% และหลังการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงต้นปีไม่พบอัตราการเสียชีวิตที่รุนแรง ก็ได้ปรับประมาณการ GDP ให้ระดับ 3.7% ขึ้นมาเป็นกรณีฐาน

 

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เริ่มโน้มเอียงกลับไปที่กรอบล่างอีกครั้ง

 

“ตัวเลขประมาณการในครั้งที่ผ่านมา เราคำนวณโดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเอาไว้ที่ 72-77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เราอยู่ระหว่างทบทวนปัจจัยทางเศรษฐกิจเพื่อปรับประมาณการ GDP ในปีนี้ โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอาจถูกขยับขึ้นมาอยู่แถวๆ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ GDP ในปีนี้มีโอกาสโตได้ต่ำกว่า 3%” เกวลินระบุ

 

เกวลินกล่าวว่า ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยมองว่าในระยะสั้นภาครัฐอาจจะยังใช้กลไกของเงินกองทุนเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลได้อยู่ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อการอุดหนุนในระยะยาวจะไม่สามารถทำได้ ต้องปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าหลายรายการต้องขยับตาม

 

“จุดสำคัญที่ต้องจับตาดูคือปัญหาในยูเครนจะยืดเยื้อหรือไม่ และถึงแม้ว่าปัญหาจะจบได้ด้วยการเจรจา แต่เชื่อว่าการคว่ำบาตรรัสเซียน่าจะมีต่อไป ซึ่งอาจกดดันราคาน้ำมันต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง ทำให้เงินเฟ้อในปีนี้มีโอกาสสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้” เกวลินกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X