×

ถอดแนวคิดการลงทุนจากสองยักษ์ใหญ่ BJC Big C และ SCG กับโอกาสก้าวต่อของธุรกิจไทยในตลาดอาเซียน ในงานสัมมนา Krungsri Business Forum 2022 [ADVERTORIAL]

18.03.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ค้นหาโอกาสใหม่ในภูมิภาคอาเซียนยุคดิจิทัลผ่าน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ เทรนด์การแข่งขันในโลกปัจจุบัน, โอกาสการลงทุนในตลาดอาเซียน รวมถึงความท้าทายในการทำธุรกิจที่ต้องจับตา โดยสองผู้นำจากสองอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ กลุ่ม BJC Big C และ SCG จากส่วนหนึ่งในงาน Krungsri Business Forum 2022: What’s Next for Thailand? ในช่วง The NEXT Stage of Sustainability Growth

แม้ว่างาน Krungsri Business Forum 2022: What’s Next for Thailand? ภายใต้หัวข้อ ‘อนาคตธุรกิจไทยกับโอกาสใหม่ในภูมิภาคอาเซียนยุคดิจิทัล’ ที่ธนาคารกรุงศรีจัดขึ้นเพื่อลูกค้าธุรกิจโดยเฉพาะจะปิดฉากลงไปแล้ว แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมายังมีผู้ให้ความสนใจในประเด็นต่างๆ ที่พูดถึงในงานสัมมนาครั้งนั้นอย่างมาก และในหลากหลายประเด็นยังนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจอาเซียน ณ ขณะนี้ โดยเฉพาะ Session: The NEXT Stage of Sustainability Growth ว่าด้วยเรื่องการบุกตลาดอาเซียนของกลุ่ม BJC Big C ที่ได้ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มาร่วมแบ่งปันแนวคิดทำธุรกิจ พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสและทิศทางที่น่าสนใจในตลาดอาเซียน หรือแม้เรื่องการนำ Digital Transformation มาใช้เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจอย่างยั่งยืนของ SCG โดยมี รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG มาแบ่งปันแนวคิด พร้อมขยายภาพกว้างของเทรนด์เศรษฐกิจที่น่าจับตา

  



THE STANDARD ขอหยิบ 3 ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจจากสองยักษ์ใหญ่ต่างอุตสาหกรรมมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์แก่องค์กรและคนทำธุรกิจที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ในภูมิภาคอาเซียนยุคดิจิทัล

 

เทรนด์การแข่งขันในโลกปัจจุบันและการรับมือของกลุ่ม BJC Big C และ SCG

รุ่งโรจน์เผยภาพใหญ่ของเทรนด์ที่โลกกำลังจับตามอง ได้แก่ Digital Transformation, Climate Change และ Wellness โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของโลกร้อน รุ่งโรจน์กล่าวว่า คงจะพูดถึงโลกร้อนอย่างเดียวไม่ได้ ปัจจุบันจึงมีคำว่า ‘ESG’ ซึ่งครอบคลุมครบทุกมิติ ทั้ง Environmental, Social และ Governance ประเด็นสุดท้ายคือ Wellness การดูแลสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี ทั้งหมดนี้จะเป็น New Normal ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

เมื่อมองย้อนกลับมาที่อุตสาหกรรมของ SCG เองว่ามีการรับมือกับเทรนด์ที่ว่ามาอย่างไร รุ่งโรจน์กล่าวว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อมในแต่ละธุรกิจมีความต่างกัน อย่าง SCG มีอุตสาหกรรมซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เคมีคัลส์ และแพ็กเกจจิ้ง ทั้งสามอุตสาหกรรมมี Stage ที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างกัน เมื่อเราคุยกันถึงภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หากบอกว่า SCG ให้ความสำคัญก็ถูก แต่อีกส่วนหนึ่งเราก็เป็นส่วนที่สร้างปัญหาเช่นกัน ดังนั้นในฐานะพลเมืองโลก จึงเป็นเรื่องที่เราเลี่ยงไม่ได้ ต้องมีคำมั่นสัญญาว่าจะไปทิศทางไหน

  



“ทิศทางแรกที่เราจะมุ่งไปคือ Net Zero ทุกอุตสาหกรรมรู้ดีว่าคาร์บอนที่ปล่อยออกไปเท่าไรและเป้าเป็นอย่างไร SCG ตั้งเป้าปี 2050 จะต้องเป็น Net Zero ให้ได้ แน่นอนว่าอาจจะลดการปล่อยไม่ได้ แต่ต้องหาตัวดูดซับเพื่อให้การปล่อยออกสู่โลกเป็นศูนย์ เป้าหมายที่สั้นกว่านั้นคือ ภายในปี 2030 จะต้องลดลงให้ได้ 20% ภายใต้ความท้าทายคือธุรกิจจะต้องเติบโตด้วย เนื่องจากการลดไม่ได้ลดลงต่อหน่วย แต่ลดลงโดยภาพรวม นั่นหมายความว่า ต่อให้ขยายธุรกิจเติบโต 2 เท่า ก็ต้องลดลงให้ได้ 20%

 

“ต่อมาคือเรื่องของสินค้า ต้องกรีนจริงๆ คาร์บอนฟุตพรินต์ต้องลดลง ที่ดีที่สุดคือสินค้าสามารถนำมารีไซเคิลได้และนำไปใช้ใหม่ได้ เรื่องของกระบวนการที่จะนำ Industry 4.0 มาใช้ให้เป็นประโยชน์ก็สำคัญ เช่น ปรับกระบวนการทำงานให้สามารถลดปริมาณขยะลงได้มากที่สุด จากนั้นก็ต้องพยายามไปทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ธุรกิจอื่น เพราะเราไม่สามารถทำคนเดียวได้

 

“ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องความโปร่งใส ไม่ว่าจะเรื่องการลดภาวะเรือนกระจก การนำสินค้าที่มีความเป็นกรีนมาใช้ หรือปรับปรุงกระบวนการผลิต จำเป็นต้องมีตัววัดและต้องเป็นตัววัดที่สามารถเปิดเผยได้ โปร่งใส ทุกองค์กรควรตั้งเป้าและติดตามการทำงานในการลดของเสียให้ได้ดีที่สุด”  

 

 

ด้านอัศวินแสดงทัศนะถึงประเด็นเรื่องเทรนด์ Digital และ Green โดยเล่าผ่านการเติบโตของกลุ่ม BJC Big C ในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงของตลาดในอาเซียนมีความสัมพันธ์กับตลาดโลก ทำให้กระแส Digital และ Green เริ่มชัดเจนในอาเซียน 

 

“สิ่งที่เราพบคือลูกค้าและคู่ค้ามีทางเลือกมากขึ้นในการจับจ่ายสินค้า ดังนั้นกลุ่ม BJC Big C ต้องหาวิธีตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในแง่ของสินค้าและบริการก็ต้องมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าดีขึ้น ปัจจุบันลูกค้ามีทางเลือกในการเลือกสินค้าจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเดินไปที่ร้าน ช้อปผ่านมือถือ เทียบกับเมื่อก่อนกว่าจะค้นหาสินค้าสักชิ้นต้องใช้เวลาอย่างมาก แต่ตอนนี้การเข้าถึงสินค้าและตรวจสอบราคาใช้เวลาไม่กี่วินาที หมายความว่าเรามีคู่แข่งมากขึ้น ต้องนำ Digital Transformation มาพัฒนา Business Model ให้ทัน

“Big C นำ Big Data มาใช้ในการทำธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากสินค้าใน Big C กว่าแสนรายการลูกค้ามากกว่า 15 ล้านคน อายุ เพศ วัย มีความต้องการซื้อของต่างกัน เครือข่ายกระจายสินค้า 2,000-3,000 จุดทั่วประเทศ และมีจำนวนธุรกรรมมากกว่า 1 ล้านธุรกรรมต่อวัน จึงต้องนำ Big Data เข้ามาช่วยในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เราเข้าใจเขามากขึ้นกว่าเขาเข้าใจตัวเอง กลายเป็นเรื่องของ Deep Learning ใครมีพฤติกรรมการซื้อแบบไหน ซื้ออะไรเป็นประจำ แล้วโปรโมชันแบบไหนที่เขาควรจะเห็น ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวให้เร็ว เพราะเป็นหนังหน้าไฟ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ก่อนอุตสาหกรรมอื่นเสมอ

  

“ด้านสิ่งแวดล้อม BJC ทำเรื่องนี้มาตลอด 140 ปี ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจจิ้งที่เราทำก็เป็นเศษแก้ว 80% ของขวดแก้วทั้งหมดสามารถนำมารีไซเคิลได้ รวมถึงอะลูมิเนียม 90% ก็นำมารีไซเคิลได้ การทำเรื่องเหล่านี้เป็น DNA ของกลุ่ม BJC Big C เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยนิยามมันว่าเป็น ESG ยกตัวอย่าง เรื่องการเก็บเศษแก้วทำขวดใหม่ เราทำแอปซีซาเล้งให้ทุกคนที่โหลดแอปสามารถติดต่อหน่วยซาเล้งเพื่อเป็นบริษัทลูกของ BJC เพื่อเข้าไปเก็บขวดแก้วหรือเศษแก้วจากบ้านกลับเข้าสู่กระบวนการ ก็เป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วจับมือกับพาร์ตเนอร์ และในส่วนของ Big C เราอยู่ในตำแหน่งที่อยู่กับคู่ค้ากว่าแสนรายในการคัดเลือกสินค้าที่อยู่ในกระบวนการสร้างความยั่งยืนมาจำหน่าย เราก็ให้โอกาสคู่ค้านำสินค้ามา Display ให้ลูกค้าเห็นและสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดความต้องการสินค้ามากขึ้น และดึงกลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าเหล่านี้มาจับจ่ายที่ Big C 

 

 

“จะเห็นว่าที่ผ่านมากลุ่ม BJC Big C นำเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องการรีไซเคิลและทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราใช้เวลาเพียง 1 ปี สามารถก้าวมาเป็นบริษัทที่มีการพัฒนาความยั่งยืนได้เร็วที่สุด ได้รับเลือกให้เป็น DJSI ประจำปี 2564 โดยเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่มีคะแนนประเมินสูงสุดในธุรกิจค้าปลีกอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคจากทั่วโลก”  

 

แผนการลงทุนและขยายธุรกิจ อะไรคือโอกาสเพิ่มสัดส่วนรายได้และโอกาสของธุรกิจไทยในตลาดอาเซียน 

อัศวินมองว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพสินค้า ของกินของใช้ที่ได้มาตรฐาน ทำให้ยังมีความต้องการในอาเซียน ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่อยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน, พม่า, ลาว, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, เวียดนาม แต่การจะส่งสินค้าไปยังต่างประเทศในวันที่นักท่องเที่ยวยังเข้ามาไม่ได้ แนะให้มองการค้าชายแดนจะมีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่การส่งออกยังติดขัด นี่เป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถไปได้ภายใต้ความเสี่ยงต่ำ และควรจับมือกับภาคธุรกิจที่มีเครือข่ายหรือพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสที่มากยิ่งขึ้น
 

“แต่ถ้าจะขยับไปเล่มเกมการลงทุน ผมเชื่อว่าเริ่มตอนนี้อาจจะช้าไปแล้ว ถ้าจะไปลงทุนในสเกลขนาดใหญ่โดยหวังความเสี่ยงน้อยยาก เพราะตอนนี้ทุกประเทศมีเจ้าถิ่นที่เราต้องไปแข่งขันด้วย แนะนำหากจะไปลงทุนในต่างประเทศต้องจับมือกับพาร์ตเนอร์เท่านั้น BJC เองตอนบุกตลาดเวียดนามก็โดนรับน้อง คิดว่าเป็นคนจีนจะมาฮุบเวียดนาม ต้องทำประโยชน์ให้เค้าเห็น หรือพม่าตอนนี้ก็ไม่เหมาะ เนื่องจากสถานการณ์ภายใน ด้านกัมพูชาก็เป็น Free Market ที่ใช้เงินหลากสกุล การบุกตลาดต่างประเทศในปัจจุบันจึงใช้วิธีการเดิมไม่ได้ ต้องไปเป็นกลุ่มก้อนหรือไปผ่านคนที่มีเครือข่าย เช่น กรุงศรี”

 

 

ในขณะที่รุ่งโรจน์กางแผนการขยายธุรกิจของ SCG ให้เห็นว่ากำลังลงเล่นในตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย พร้อมชี้แนะว่า ต้นทุนที่ดีที่สุดในการแข่งขันในวันนี้คือทรัพยากรบุคคล 

 

“ปีนี้ SCG ลงทุนในเวียดนาม เรามองเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร แพ็กเกจจิ้ง รองเท้ากีฬา ก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อีกสิ่งที่โดดเด่นคือรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มผลิตในประเทศ SCG เลือกลงทุนโครงการปิโตรเคมี คาดการณ์ว่าจะเริ่มผลิตต้นปี 2566 บรรยากาศการลงทุนก็เป็นไปอย่างดี เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมอื่นๆ และยังมีความต้องการอีกมากในตลาดเวียดนาม 

 

“อีกประเทศคืออินโดนีเซียมีการเข้าไปร่วมลงทุนในปิโตรเคมี แต่ถือหุ้น 30% ถือเป็นตลาดที่กำลังเติบโตเช่นกัน น่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการเพิ่มยอดขายได้อย่างดี และอีกธุรกิจคือวัสดุก่อสร้าง เป็นธุรกิจรีเทล ปัจจุบันมีเอาต์เล็ตอยู่ประมาณ 30 สาขา ก็น่าจะยังโตต่อได้อีก คาดการณ์ว่ารายได้จากสัดส่วนนี้การลงทุนในต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 30-40%

 

“การลงทุนในตลาดต่างประเทศไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด ไปในลักษณะร่วมทุนก็ได้ เนื่องจากเราไม่ได้ไปเพิ่มการแข่งขันในตลาด แต่เป็นผู้ผลิตเดิมที่อยู่ในการแข่งขันอยู่แล้ว ข้อดีคือสามารถเริ่มงานได้เลย แต่ถ้าหาโอกาสไม่ได้หรือเงินทุนไม่ถึง ก็ร่วมเป็น Supply Chain กับบริษัทนั้น เลือกธุรกิจที่คุ้นเคย โลกยุคใหม่เราแข่งขันด้วยคนและความรู้ ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสร้างองค์ความรู้ให้กับคนของเราให้ได้”


ความท้าทายในการทำธุรกิจปี 2565 พร้อมคำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจ 

ปี 2565 ทุกธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายในทุกรูปแบบ อย่างกลุ่ม BJC Big C เอง อัศวินบอกว่า ความท้าทายเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อก็ต้องหาวิธีรับมือ 

 

“ต้นทุนการผลิตขณะที่รายได้หรือกำลังซื้อของคนไทยยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคยังทำไม่ได้ ธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากไม่แข็งแรงจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ส่วนตัวคาดหวังหน่วยงานที่ดูแลด้านนโยบายการเงินการคลังจะต้องไม่ทำให้สภาพคล่องในระบบตึงตัวขึ้นอีก ต้องทำให้ธุรกิจเข้าถึงสภาพคล่อง เพื่อประคองตัวจนผ่านวิกฤตไปได้ โดยเชื่อว่าการระบาดรอบนี้จะเป็นเวฟสุดท้ายแล้ว หลังจากนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมา 

 


“อีกความท้าทายที่ผมมองว่าน่าจะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจคือ บางครั้งเราก็รู้สึกว่าเราวิ่งเท่าไรก็หยุดไม่ได้ กลัวตกขบวน กลัวว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา และเราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งใหม่ได้ แต่คนอื่นกลับใช้เครื่องมือใหม่ๆ เหล่านั้นเป็นอาวุธในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ แต่สุดท้ายต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะกับธุรกิจเราที่สุด เพราะเทคโนโลยีบางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้”

 

รุ่งโรจน์เสริมในประเด็นเรื่องความรวดเร็วในการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ก้าวเข้าสู่ยุครถไฟฟ้า 

 

“ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกก็เช่นเดียวกัน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการแข่งขัน มองด้านหนึ่งเป็นโอกาสสำหรับองค์กรที่กล้าลงทุนในเทคโนโลยีและกล้าที่จะเปลี่ยน ยุคนี้เรามอง End Game ไม่ได้หรอก เอาแค่มองตอนเริ่มต้นให้เห็นและต้องยืดหยุ่น รู้จักปรับตัวที่จะรับการเปลี่ยนแปลง 

“ฝากถึงนักลงทุนให้โฟกัสเรื่อง ‘ข้อมูลและลูกค้า’ ข้อมูลที่ทันเวลาและนำมาใช้ในการตัดสินใจได้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อมีข้อมูลแล้วและรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร จะทำให้เราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น นั่นคือพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ดี”

 

 


แนวคิดการดำเนินธุรกิจของสองอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่าง SCG และกลุ่ม BJC Big C แผนการลงทุนด้านเทคโนโลยี การเลือกตลาดการลงทุน และวิธีการแทรกซึมเข้าไปเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่สามารถลงแข่งขันได้ทันที น่าจะทำให้นักธุรกิจและผู้ที่กำลังอ่านเกมทิศทางการลงทุนในตลาดอาเซียนตอนนี้มองเห็นภาพชัดขึ้น อย่างน้อยก็รู้ว่าการมีพาร์ตเนอร์ที่ดีจำเป็นอย่างมากกับเศรษฐกิจยุคนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X