ที่ผ่านมา ‘ดับเบิลเดย์’ กลายเป็นแคมเปญที่ใครๆ ก็ทำ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกต่อไป ดังนั้น Shopee จึงตัดสินใจฉีกแนวปั้นแคมแปญใหม่ทุก ‘กลางเดือน’ ดึงเงินจากกระเป๋านักช้อป
แคมเปญทุกวันที่ 15 ของเดือนนั้น Shopee เริ่มทำมาได้มาประมาณ 1 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้โปรโมตมากนัก แต่สำหรับ Shopee 3.15 Consumer Day ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะมีการโปรโมตอย่างจริงจัง โดยดึง ‘ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่’ ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุด ขณะเดียวกันแคมเปญนี้ไม่ได้เกิดที่เฉพาะประเทศไทย แต่ทำพร้อมกันทั้งภูมิภาค
“ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซเพื่อซื้อของตลอดทั้งปี” สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าว พร้อมเสริมว่า ตอนนี้ลูกค้าถูกประตุ้นด้วยแคมเปญ ทำให้ Shopee ต้องหาไม้เด็ดทางการตลาดอื่นๆ เพื่อกระตุ้นลูกค้า ซึ่งต่อไปนี้ Shopee จะมีแคมเปญใหญ่เดือนละ 2 ครั้ง
Shopee ไม่ได้บอกเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมต้องเป็นทุกๆ กลางเดือน โดยสุชญาบอกแต่เพียงว่า การเป็นนักการตลาดต้องทำแคมเปญใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าจดจำ ซึ่ง Shopee ก็หวังว่าแคมเปญดังกล่าวจะเป็นที่จดจำเหมือนดับเบิลเดย์
ขณะเดียวกัน Shopee ได้เผยพฤติกรรมของนักช้อปในช่วงต้นปี 2565 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) ได้แก่
- คำค้นหายอดนิยมบน Shopee ได้แก่ ชั้นวางของ กระเป๋าสะพายข้าง เครื่องดูดฝุ่น
- 3 หมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ 1. เครื่องใช้ภายในบ้าน: วอลล์เปเปอร์ติดผนัง, เจลบอลซักผ้า 2. ความงามและของใช้ส่วนตัว: มาสก์บำรุงหน้า, สครับ 3. มือถือและอุปกรณ์เสริม: สมาร์ทโฟน, หูฟัง
- คำค้นหาบน Shopee: มากกว่า 30 ล้านของคำค้นหาที่ถูกนักช้อปเสิร์ชในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565
- 3 จังหวัดที่นักช้อปช้อปหนัก: นนทบุรี เชียงใหม่ และสงขลา
โดย 11 Flash Deals หนึ่งในช่วง Flash Sale ที่พีคที่สุด มีสินค้าในหมวดหมู่ของใช้ในบ้านถูกจำหน่ายออกไปมากกว่า 400,000 ชิ้น ด้าน ShopeePay มีการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะะในพื้นที่นอกเขตหัวเมือง เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชียงราย และระยอง ซึ่งในปี 2564 ShopeePay มีจำนวนผู้ใช้งานในพื้นที่นอกเขตหัวเมืองเพิ่มขึ้นสูงกว่า 50% (เมื่อเทียบกับปี 2563)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จากภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนของโควิด รวมถึงผลกระทบจากความไม่สงบในยูเครนที่อาจยืดเยื้อ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้คาดว่า ปี 2565 ธุรกิจ B2C อีคอมเมิร์ซ กลุ่มสินค้า แม้อาจขยายตัวราว 13.5% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 5.65 แสนล้านบาท แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงและต่ำสุดเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเฉลี่ย 40% ต่อปี
อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจ หลักๆ แล้วน่าจะไม่ได้เกิดจากค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นการปรับพฤติกรรมและช่องทางการซื้อขายสินค้าจากหน้าร้าน (Physical Stores) มาเป็นออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและของใช้ส่วนตัว ที่เดิมผู้บริโภคซื้อผ่านไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และคอนวีเนียนสโตร์ ก็หันมาซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ในขณะที่ยอดขายในภาพรวมของผู้ประกอบการอาจจะยังโตในกรอบที่จำกัด และเป็นผลของราคาเป็นหลัก
ก่อนหน้านี้ Sea บริษัทแม่ของ Shopee เพิ่งรายงานรายได้ 9.95 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ผลขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.04 พันล้านดอลลาร์ (6.6 หมื่นล้านบาท) จาก 1.61 พันล้านดอลลาร์
Sea ประเมินว่า ยอดขายอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.9-9.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 จาก 5.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถมี EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) เป็นบวกได้ ส่วนธุรกิจเกมอาจมีรายได้ลดลงเป็นครั้งแรก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Shopee ถอนทัพออกจากฝรั่งเศส แม้เพิ่งทำตลาดได้เพียง 5 เดือน ขณะที่บริษัทแม่เผยผลงานปี 2021 ขาดทุน 6.6 หมื่นล้านบาท
- ‘งบโฆษณา’ เม็ดเงินที่ Lazada-Shopee-JD Central โหมทุ่มไม่ต่างจากแคมเปญ Double Day ที่ (ต้อง) มีทุกเดือน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP