เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคมของทุกปี ทั่วโลกจะมีการรณรงค์ประเด็นที่น่าสนใจของผู้หญิง สำหรับในประเทศไทย ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ เมื่อวานนี้ (7 มีนาคม) มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้ร่วมกันจัดเสวนาร่วมกับสื่อมวลชน ระดมความคิดเห็นเรื่อง ‘มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี’ ในสถานการณ์ที่ข่าวของดาราดัง แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
โดย จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ในสื่อต่างๆ ระบุว่า จากการทำงานและสังเกตการณ์ของมูลนิธิที่ผ่านมา สื่อมีทั้งสร้างสรรค์และด้อยค่าผู้หญิง หรือฉากไม่เหมาะสมในละครลดน้อยลงเพราะหน่วยงานอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลมากขึ้น แต่ด้านการด้อยค่าไม่ใช่แค่เรื่องแตะเนื้อต้องตัวอย่างเดียว เพราะยังคงมีคำพูดของนักแสดงที่เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ มองผู้หญิงด้อยกว่าตัวเอง
นอกจากนี้ รายการวาไรตี้ รายการตลก ยังมีประเด็นที่ชอบด้อยค่าภรรยาตัวเอง นำมาล้อเลียน มีการพูดสองแง่สองง่ามกับผู้หญิง และมีหลายครั้งที่พิธีกรตลกแตะเนื้อต้องตัวแขกรับเชิญที่เป็นผู้หญิง เมื่อไม่มีการโวยวายก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งไม่ถูกต้อง ขณะที่ถ้าเป็นการรายงานข่าวเรื่องผู้หญิงถูกคุมคามทางเพศ มักจะรายงานแค่ปรากฏการณ์เรื่องนิสัยใจคอ พฤติกรรมของผู้หญิง แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำข่าวสืบสวนหาสาเหตุของปัญหา โดยเฉพาะความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่
ด้าน วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น เอฟเอ็ม 96.5 อสมท. และอดีตกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การส่งเสริมความเท่าเทียมในองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อ ตั้งแต่ตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2489-2542 มีนายกสมาคมที่เป็นผู้หญิงแค่ 3 คน จาก 22 คน เมื่อรวมกันเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีนายกสมาคมที่เป็นผู้หญิง 2 คน จาก 11 คน ยิ่งไปดูลึกถึงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารสื่อหลักๆ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ดังนั้นสื่อคงต้องคิดถึงการเพิ่มบทบาทผู้หญิงให้มากขึ้น แต่น่าสนใจคือสื่อออนไลน์ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่เป็นบรรณาธิการบริหารนั้นครึ่งต่อครึ่ง เช่นสื่ออย่าง The Reporters, The Bangkok Insight และ The Momentum เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่สอง คือ เรื่องบทบาทสื่อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมของหญิง-ชายนั้น ในอดีตต้องยอมรับความจริงว่าการเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงจะเน้นเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศในเชิงของปรากฏการณ์เป็นหลัก ส่วนคอลัมน์หรือรายการในเชิงความคิดสร้างสรรค์อาจจะมีน้อย หรือไม่ก็เน้นไปที่ความสวยความงามหรือข่าวสังคมชั้นสูง แต่เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในสื่อหลายสื่อในปัจจุบัน เช่น ไทยรัฐออนไลน์ หรือแนวหน้า เริ่มมีคอลัมนิสต์ผู้หญิงอยู่หลายส่วน ขณะที่เนื้อหาที่นำเสนอก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การสื่อสารเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิง, ดนตรีต้านการล่วงละเมิด, สอน 3 ท่ามวยไทยเบสิกที่ผู้หญิงควรฝึกไว้ป้องกันตัว
ขณะที่ ณัฐกร เวียงอินทร์ Content Editor ของ The People กล่าวว่า ในหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการให้ความสำคัญกับเรื่องบทบาทผู้หญิงแล้ว ปัจจุบันสื่อไทยมีความสนใจพูดถึงเรื่องราวความหลากหลายทางเพศสภาพมากขึ้น มีความตื่นตัวในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก เราเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม กลุ่ม LGBTQ+ และอีกหลายกลุ่มความเคลื่อนไหวมากมาย ทำให้เราตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมคนผู้คนในแต่ละเพศ การเคลื่อนไหวเช่นนี้ในส่วนหนึ่งจึงเหมือนกับทางฝั่งประชาชนออนไลน์ผู้ใช้สื่อก็มีบทบาทในการให้ข้อมูลให้ความรู้กับสื่อ เพื่อให้การทำงานของสื่อมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสาร ไปจนถึงทัศนคติที่มีต่อการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารนั้นๆ ในทางที่เหมาะสมเช่นกัน
ด้าน ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสื่อไทยจะส่งเสริมบทบาทผู้หญิงอย่างไร โดยระบุว่า ทางออกของสื่อไทยในการนำเสนอประเด็นผู้หญิง สื่อต้องทำงานกับโลกภายในของตัวเอง ใช้หัวใจในการทำงานสื่อ มองให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้หญิง ซึ่งแตกต่างจากปัญหาอื่นของสังคม เพราะความทุกข์ของผู้หญิงถูกระบบโครงสร้างสังคมทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ สื่อต้องใช้ความเป็นธรรม นำความเป็นกลาง ความเป็นธรรม จะทำให้เรามองเห็นผู้หญิงในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ไม่ลดคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือแค่ร่างกาย หากยึดหลักความเป็นธรรมแล้ว การรายงานเรื่องของผู้หญิงจะไม่จบเพียงแค่เหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมบนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ต้องขุดให้ลึกไปจนถึงฐานรากของปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงต่อผู้หญิง
ขณะเดียวกันในวงเสวนายังได้พูดถึงบทบาทของสื่อมวลชนกับการเสนอข่าวการเสียชีวิตของดารานักแสดงหญิงชื่อดัง แตงโม-ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ โดย ดร.ชเนตตี กล่าวว่า สื่อต้องยกระดับข่าวนี้ให้เป็นมากกว่าข่าวอาชญากรรม ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว โดยเพิ่มเติมมุมมองการคุ้มครองสิทธิของผู้สูญเสียชีวิต และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ต้องแก้ไขในระดับโครงสร้างสังคม เพื่อให้บทเรียนเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่กลับมาเกิดซ้ำสอง
เช่นเดียวกับจะเด็จที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า สื่อควรจะเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหายและคนที่เกี่ยวข้อง ลดความเป็นดราม่าที่เน้นเรตติ้งคนดูลง เน้นเจาะลึกไปยังต้นตอปัญหา และตั้งคำถามกับสังคมเรื่องของความปลอดภัยของการเดินทาง ภัยของผู้หญิง ทำอย่างไรไม่ให้ถูกคุกคาม การดื่มแอลกอฮอล์บนเรือผิดหรือไม่
ขณะที่วิเชษฐ์กล่าวว่า สื่อต้องให้เกียรติคนที่เสียชีวิต เพราะคนตายพูดไม่ได้ และต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้มากกว่าความรู้สึก ที่สำคัญจะต้องไม่ตั้งตนเป็นผู้ชี้นำทิศทางหรือกระแสสังคม เรื่องนี้ควรขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการหรือกฎหมายจะต้องหาทางป้องกันปัญหาที่กล่าวมาในทุกมิติด้วย