สงครามรัสเซียบุกยูเครนสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก รวมถึงในไต้หวัน ที่ประชาชนติดตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความกังวลว่าไต้หวันเองก็อาจเสี่ยงต่อการถูกบุกโจมตีเช่นกัน
การที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน ปฏิเสธที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามของ วลาดิเมียร์ ปูติน ทำให้เกิดความกังวลว่าปักกิ่งกำลังจับตาดูการรุกรานของรัสเซีย โดยมองไปถึงความขัดแย้งในอนาคตหากเข้าควบคุมเกาะไต้หวัน
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ไม่แสดงความวิตกต่อกรณีที่มีการเปรียบเทียบไต้หวันกับยูเครน โดยเธอชี้ว่าไต้หวันและยูเครนมี ‘ความแตกต่างทางพื้นฐาน’ ซึ่งรวมถึง ‘อุปสรรคตามธรรมชาติของช่องแคบไต้หวัน’
แม้นักวิเคราะห์ไต้หวันหลายคนเห็นด้วยกับการประเมินของไช่ แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงบางประการที่ไม่อาจมองข้าม เช่น ผู้นำเผด็จการที่ปลุกระดมลัทธิชาตินิยม การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนตามประวัติศาสตร์ เป็นต้น
กัวหยู่เจิน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซุนยัดเซ็นในกรุงไทเป กล่าวว่า “บทบาทนิ่งเฉยของจีนในวิกฤตยูเครนครั้งนี้น่าอับอายและน่าอึดอัดมาก
“แต่ผมเชื่อแน่ว่าจีนจะศึกษาอย่างน้อยสองสิ่งจากวิกฤตนี้ นั่นคือยุทธศาสตร์ทางทหารของปูติน และการตอบโต้ของสหรัฐฯ และประชาคมระหว่างประเทศ”
ศาสตราจารย์กัวแย้งว่าปัจจัยทั้งสองนี้จะทำให้สีและแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความมั่นใจลดน้อยลงเกี่ยวกับการใช้กำลังในอนาคต
“ผมเชื่อว่าวิกฤตในยูเครนจะลดความทะเยอทะยานของจีนที่จะ… รุกรานไต้หวันแบบเดียวกัน” เขากล่าวกับสถานีโทรทัศน์ ABC ของออสเตรเลีย
แต่การที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในไต้หวันมาตลอดสัปดาห์ แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลที่ซ่อนอยู่
– ไต้หวันต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
ในวันที่รัสเซียเปิดฉากโจมตี กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันประกาศคว่ำบาตรรัสเซียร่วมกับชาติตะวันตก และออกแถลงการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครนนั้นมีความใกล้เคียงกับไต้หวันมากเพียงใด
“รัฐบาลเสียใจอย่างสุดซึ้งที่รัสเซียเลือกที่จะใช้กำลังและการข่มขู่เพื่อข่มเหงผู้อื่น แทนการแก้ไขข้อพิพาทด้วยการเจรจาทางการทูตอย่างสันติ” ถ้อยแถลงระบุ
ในขณะที่รัสเซียยกระดับการโจมตียูเครนในสัปดาห์นี้ อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงอดีตประธานคณะเสนาธิการร่วม ได้เดินทางเยือนไต้หวัน นอกจากนี้ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายที่เผชิญหน้ากับจีน บินถึงไทเปในวันพุธ
รัฐบาลไต้หวันต้อนรับคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ อย่างอบอุ่น เป็นการต้อนรับที่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงความเปราะบางของไต้หวันต่อการรุกรานของจีน พร้อมทั้งสะท้อนถึงความหวังของไต้หวันที่จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
เครื่องบินของกองทัพอากาศจีนรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Identification Zone หรือ ADIZ) ของไต้หวันเป็นกิจวัตรประจำวันจนแทบจะไม่เป็นข่าวพาดหัว
งบประมาณด้านกลาโหมของจีนอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์ เป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายและความได้เปรียบทางเทคโนโลยีของปักกิ่งทิ้งห่างไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี
หวังถิงหยู สมาชิกรัฐสภาจากพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และสมาชิกคณะกรรมการกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศของไต้หวัน กล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว
“ฝ่ายบริหารของไบเดนคิดว่าเสถียรภาพของไต้หวันเป็นสิ่งสำคัญ และพวกเขากำลังส่งสัญญาณไปยังปักกิ่งว่า อย่าแม้แต่พยายามสร้างปัญหาในช่วงเวลาที่สำคัญนี้” เขากล่าวกับ ABC
นักการเมืองฝ่ายค้านจากพรรคก๊กมินตั๋ง (กั๋วหมินตั่ง) (KMT) ซึ่งเปิดรับจีนมากกว่า ได้พบกับคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ เช่นกัน แม้ว่าสมาชิกบางคนของพรรค KMT วิจารณ์รัสเซียด้วยท่าทีที่ไม่แข็งกร้าวมากนักก็ตาม
“สงครามยูเครน-รัสเซียเตือนเราถึงความสำคัญของสันติภาพ และยังทำให้ชาวไต้หวันได้เห็นความโหดร้ายของสงครามด้วย” อีริค จู ประธานพรรคโพสต์ข้อความผ่านทาง Facebook
เขาเรียกร้องให้สมาชิกระดับสูงของพรรค KMT บริจาคเงินเดือนหนึ่งเดือนเพื่อช่วยเหลือชาวยูเครน ซึ่งเป็นคำมั่นที่ประธานาธิบดีและนักการเมืองคนอื่นๆ ของไต้หวันได้ให้ไว้ด้วยเช่นกัน
– ไต้หวันอาจถูกโจมตีได้ตลอดเวลา
เช่นเดียวกับในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และหลายประเทศทางตะวันตก อาคารสำคัญๆ ในเมืองหลวงของไต้หวันต่างเปิดไฟเป็นสีธงชาติของยูเครน ขณะที่สงครามยูเครน-รัสเซียกินพื้นที่ข่าว
แม้การประท้วงต่อต้านการรุกรานของรัสเซียจัดขึ้นเพียงกลุ่มเล็กๆ และส่วนใหญ่จำกัดเฉพาะชุมชนชาวยูเครนที่อาศัยอยู่ในไทเป แต่ก็มีชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งออกมาร่วมประท้วงเช่นกัน
“ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียมีความคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีน” สตีเวน โจว ซึ่งมาร่วมประท้วงที่บริเวณด้านนอกสำนักงานผู้แทนรัสเซียในกรุงไทเปกล่าว
“เราเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนมานานมากแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตได้ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและระมัดระวัง”
หลี่เหยียนเซียน ชายอายุ 70 ปี กล่าวว่า เขามาร่วมการชุมนุมเพราะเขาเกลียดที่เห็นรัสเซีย “กลั่นแกล้งประเทศที่เล็กกว่าและอ่อนแอกว่า”
“ถ้าจีนกล้าบุกไต้หวัน และผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะวิ่งไปที่แนวหน้าและต่อสู้กับพวกเขา” เขากล่าว
“ผมจะไม่ปล่อยให้ชีวิตลูกหลานของเราแย่ลงและแย่ลงภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่”
อย่างไรก็ดี ในการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างที่รัสเซียรวมพลบริเวณชายแดนยูเครนเมื่อเดือนที่แล้วก่อนการบุกรุก พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่จีนจะใช้ความขัดแย้งในยูเครนเป็นโอกาสเข้าโจมตีไต้หวัน
แต่ขณะเดียวกัน ผลสำรวจดังกล่าวได้สะท้อนถึงความเปราะบางของไต้หวัน มากกว่า 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่จัดทำโดย Taiwanese Public Opinion Foundation กล่าวว่า พวกเขารู้สึกผิดหวังที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ไม่ได้วางแผนที่จะส่งทหารอเมริกันไปยังยูเครนหากเกิดสงครามขึ้น
คนทั่วไปมองว่าการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ จำเป็นต่อไต้หวัน หากจีนต้องการเปิดฉากการรุกราน แต่หวังถิงหยูจากพรรค DPP กล่าวว่า นั่นเป็นหน้าที่ของชาวไต้หวันเอง
“การปกป้องประเทศของคุณ เป็นความรับผิดชอบของคุณเอง ไม่ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกมากแค่ไหน ถึงอย่างนั้นคุณก็ต้องสู้” เขากล่าว
– ไทม์ไลน์ของจีนในการ ‘รวมเป็นหนึ่งเดียว’ กับไต้หวัน
สีจิ้นผิงยืนยันว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องควบคุมไต้หวันให้ได้ภายในปี 2049 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เอาชนะฝ่ายชาตินิยมของเจียงไคเชกจนต้องหนีไปไต้หวัน
แม้สีให้คำมั่นว่า “จีนไม่สู้กับจีน” แต่สื่อทางการของจีนกลับฟาดฟันกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนไต้หวันเป็นประจำ รวมถึงผู้นำไต้หวันที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
“แน่นอนว่าปี 2049 มีความหมายต่อพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำระดับสูงทั้งหมดในประเทศจีน แต่มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลยในไต้หวัน” ศาสตราจารย์กัวกล่าว
เขาเชื่อว่าปัญหาหนี้และประชากรสูงอายุจะจำกัดการใช้จ่ายทางทหารของจีนในปีต่อๆ ไป และจะลดทอนความได้เปรียบทางทหารของจีน
แต่ถึงแม้จีนจะบุกไต้หวันจริง ก็ยังคงมีคำถามสำคัญว่า สหรัฐฯ จะเต็มใจทำสงครามหรือไม่
“ปี 2049 ยังห่างไกลเกินไป” ศาสตราจารย์กัวกล่าว
ภาพ: Ceng Shou Yi / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: