×

EIC เล็งปรับเพิ่มประมาณการส่งออกไทยปี 2565 มองแนวโน้มโตดี แม้มีปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครนกดดัน

04.03.2022
  • LOADING...
การส่งออก

การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2565 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้มีสัญญาณชะลอตัวระยะสั้นจากผลกระทบของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนดังกล่าว แต่เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามดู

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การส่งออกในเดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 8% ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 24.7% อยู่มาก ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของการส่งออกของหลายประเทศสำคัญทั่วโลกในเดือนมกราคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลก ขณะที่อัตราการขยายตัวที่ชะลอลงสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้เร่งตัวไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ 

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกระยะต่อไปยังมีแนวโน้มที่ดีจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก แม้มีปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่อาจชะลอการขยายตัวของการค้าโลก

 

EIC ประเมินด้วยว่า ดุลการค้าของไทยอาจปรับลดลงในปี 2565 จากการนำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกในช่วงหลัง ประกอบกับราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่ยังผันผวนและอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากปัญหาทางด้านอุปทานที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก

 

ทั้งนี้  EIC อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขคาดการณ์การส่งออกในปี 2565 ใหม่ โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2565 จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ผลกระทบของการระบาดโอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าคาด และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่อาจเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมใน RCEP ในระยะต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียจากนานาชาติ เป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง และอาจส่งผลกระทบกับการส่งออก รวมถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรม เกษตร และปศุสัตว์ของไทย โดยเฉพาะในด้านต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบ และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของการส่งออกไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X