แนวโน้มของ NFT หรือ Non-Fungible Token เพิ่มความร้อนแรงให้กับวงการศิลปะทั่วโลก จากมูลค่าตลาดที่ทะลุขึ้นไปถึง 24.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 780 ล้านล้านบาท นับเป็นเทรนด์ที่มีการเติบโตสูงถึง 800% ในตลาดโลก
และยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยมีจำนวนผู้ถือครอง NFT เป็นอันดับ 2 ของโลก จึงไม่แปลกที่หลายอุตสาหกรรมเริ่มกระโดดลงมาเล่น แม้แต่ POPS Thailand ผู้ให้บริการ POPS แอปพลิเคชัน ก็มองเห็นโอกาสที่ดี และตัดสินใจเปิดตัว ‘POPS NFT’ ถือเป็น OTT แพลตฟอร์มแรกที่เข้าสู่ตลาด NFT
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ บานิ แทน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค บริษัท พ็อพส์ (ประเทศไทย) จำกัด และอัญชลี ชัยชนะวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัท พ็อพส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง ชัดเจน-วิสุทธิ์ ชาวบางพรม และ ฌอน-สิริณัฏฐ์ ชลวิบูลย์ จากรายการเรียลิตี้ ‘Bromance รักแมนแมน’ คอนเทนต์ใน POPS แอป สองครีเอเตอร์เจ้าของผลงาน NTF บน POPS NFT เริ่มตั้งแต่แนวคิด จุดเด่นของ POPS NFT และแผนการต่อยอดในอนาคต หรือเหตุผลที่เลือกปล่อยผลงานดิจิทัลอาร์ตชุดแรกเป็นคอลเล็กชัน LGBTQ+
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับแอปพลิเคชันสตรีมมิงอย่าง POPS อยู่แล้วคงพอจะรู้คร่าวๆ ว่า POPS Thailand มีจุดเริ่มต้นมาจาก POPS Worldwide ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2550 ด้วยการเป็นผู้ให้บริการเพลงสำหรับเครือข่าย และช่องเพลงแห่งแรกในเวียดนาม และก้าวสู่การเป็นผู้บริหารเครือข่ายสื่อบันเทิงดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนยอดวิวทั้งหมด 243 ล้านยอดวิว และฐานแฟนคลับกว่า 468 ล้านคน กว่า 14 ปีที่ POPS Worldwide เชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ชมอย่างเหนียวแน่น ด้วยการนำเสนอดิจิทัลคอนเทนต์ชื่อดัง ทำให้มีเครือข่ายครอบคลุมคู่ค้าเป็นแบรนด์ชื่อดังและครีเอเตอร์จากทั่วโลก
ปี 2562 POPS Thailand ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยการเป็น Talent Management Agency ที่ดูแลครีเอเตอร์ช่อง YouTube ประเภท Kids & Family ต่อมา POPS Thailand ได้มีการขยายเครือข่ายกลุ่มครีเอเตอร์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงกลุ่มไลฟ์สไตล์ เกม และเพลง โดยมีจำนวนครีเอเตอร์มากกว่า 400 ครีเอเตอร์ และยอดผู้ติดตามรวมสูงถึง 200 ล้านคน และยังได้รับการรับรองเป็น Certified YouTube Partner ดูแลและให้การสนับสนุนเหล่าครีเอเตอร์ในเรื่องการเติบโตของช่อง รวมไปถึงการวางกลยุทธ์ของคอนเทนต์ การสร้างความเป็นเจ้าของคอนเทนต์ และการขยายฐานกลุ่มผู้ชม
บานิ แทน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค บริษัท พ็อพส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บานิเล่าว่า “คุณเอสเธอร์ เหงียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร POPS Worldwide และผู้ก่อตั้ง มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลมาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีก่อนในเวียดนาม เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมเหมือนตอนนี้ หรือในตอนที่ขยายสาขามาที่ประเทศไทย เธอก็มาพร้อมความมุ่งมั่นที่จะสร้างความแปลกใหม่ โดยมองว่าอะไรคือเอกลักษณ์ของประเทศนั้ๆ เพราะเธอไม่คิดว่าไอเดียเดียวจะตอบโจทย์ทุกประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการเป็น Talent Management Agency”
“หน้าที่ของเราคือดูแล YouTuber เหล่านั้น โดยผลักดันให้พวกเขามีฐานแฟนคลับและ Subscriber เราดูแลทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน หาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพวกเขา สร้างรายได้ ชื่อเสียง พร้อมทั้งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเราได้วิเคราะห์จากข้อมูลทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเพื่อนำมาตีโจทย์” บานิกล่าว
อัญชลียังกล่าวเสริมว่า “POPS มีแผนงานที่จะขยายบริการครอบคลุมถึงการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสื่อบันเทิงด้านดิจิทัลที่โดดเด่นอย่างครบวงจร ปัจจุบันทุกคนจะรู้จักว่าเราเป็นแพลตฟอร์มที่พากย์การ์ตูนอนิเมะภาษาไทยที่ดีที่สุด และยังมีคอนเทนต์ประเภทซีรีส์และคอมิก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบและคุ้นเคยกับการดูอนิเมะ ซีรีส์ และการอ่านคอมิกออนไลน์ และเนื่องจากเรายังมีกลุ่มธุรกิจย่อยที่ดูแลครีเอเตอร์และ KOLs เลยมีการคิดกันว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะนำพวกเขามาต่อยอดบนแพลตฟอร์มของเรา ด้วยความที่เราไม่ใช่องค์กรใหญ่ ทุกคนในองค์กรจึงเหมือนครอบครัว เป้าหมายคือการพาทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ทั้งพนักงาน ครีเอเตอร์ ดังนั้นการเข้าสู่ตลาด NFT ด้วย ‘POPS NFT’ จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้าง Ecosystem ของธุรกิจสื่อบันเทิงด้านดิจิทัลของเราให้ครบวงจรและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”
จุดเด่นของ ‘POPS NFT’ และเหตุผลที่เปิดตัวคอลเล็กชัน LGBTQ+ เป็นคอลเล็กชันแรก
นอกจาก POPS Thailand จะเป็นสตรีมมิงแพลตฟอร์มแรกที่เข้าสู่ตลาด NFT ประเทศไทยแล้ว ยังถือเป็นประเทศแรกในทุกสาขาของ POPS Worldwide ที่เข้าสู่ตลาด NFT ซึ่งริเริ่ม ‘POPS NFT’ ด้วยการเปิดตัวโปรเจกต์แรกกับคอลเล็กชัน LGBTQ+ โดยหวังสร้างกลุ่มคอมมิวนิตีของครีเอเตอร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับคอนเทนต์ของ POPS
บานิบอกว่า แม้ NFT จะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ POPS Thailand สนใจ แต่หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้มาจาก ‘ครีเอเตอร์’
“สำหรับเรา ครีเอเตอร์คือจุดศูนย์กลาง ซึ่ง Core Value ของเราคือ การมองหาช่องทางต่อยอดให้กับพวกเขา และอะไรคือโอกาสที่ดีในประเทศไทยเวลานี้ พอเราเห็นตัวเลขการเติบโตของ NFT ก็คิดว่านี่แหละโอกาสทางธุรกิจ แต่แทนที่เราจะกระโดดเข้าไป เราเลือกที่จะหันกลับมาทำงานกับสิ่งที่เรามี เรามีครีเอเตอร์อยู่ในมือ มีจำนวนผู้ติดตามฐานแฟนคลับของกลุ่มครีเอเตอร์ จึงเน้นกลยุทธ์การตลาดด้วยคอมมิวนิตี
“มันเหมือนกับแฟนหนังตัวยงที่ตามเก็บของสะสมเกี่ยวกับหนัง หรือนักสะสมที่ชื่นชอบในตัวศิลปิน เขาก็จะตามเก็บผลงานทุกคอลเล็กชัน POPS NFT ก็ทำหน้าที่แบบเดียวกัน เพราะเราต่อยอดจากคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ครบทุกมิติสำหรับคนดู นอกจากจะได้เสพความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มแล้ว ยังได้ซัปพอร์ตผลงานจากศิลปินที่เขาชื่นชอบ ในอนาคต เรายังวางแผนจะมอบสิทธิพิเศษสำหรับคนที่ซัปพอร์ตผลงาน NFT เช่น อาจจะได้ไปพบปะกับศิลปินแบบเอ็กซ์คลูซีฟอีกด้วย”
อัญชลี ชัยชนะวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัท พ็อพส์ (ประเทศไทย) จำกัด
อัญชลีพูดถึงประเด็นการเปิดตัวคอลเล็กชัน LGBTQ+ นอกเหนือจากการนำ POPS Original รายการที่ได้รับความนิยมอย่าง ‘Bromance รักแมนแมน’ ซึ่งเป็น Dating Reality มาต่อยอด POPS ยังเชื่อในเรื่องความหลากหลาย การมีส่วนร่วม และความเท่าเทียม เราจึงมุ่งมั่นในการสร้างคอมมิวนิตีที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเสริมพลัง และแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างอิสระ การเลือกคอลเล็กชัน LGBTQ+ เป็นคอลเล็กชันแรกก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น
“LGBTQ+ ในประเทศไทยเป็นคอมมิวนิตีที่ใหญ่มาก และซีรีส์ Y ก็ตลาดใหญ่ กระแสคู่จิ้นต่างๆ ก็มาแรง ด้วยความที่เราไม่ได้ทำการตลาดแค่ซีรีส์หรือคู่จิ้น แต่เราสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำเขามาทำ NFT เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมและแฟนคลับของเขา ตัวครีเอเตอร์เองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนคลับ จึงนำคนที่มาร่วมรายการทำเป็น NFT โดยครีเอเตอร์สามารถแสดงความคิด และความเป็นตัวตนผ่านผลงานดิจิทัลสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่มีจำนวนจำกัด บางชิ้นมากับการมอบสิทธิพิเศษ (Utility) จากครีเอเตอร์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้” อัญชลีกล่าว
ฐานแฟนคลับกลุ่ม LGBTQ+ และแฟนคลับของครีเอเตอร์ จะทำให้ POPS NFT มีจุดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไรนั้น บานิอธิบายว่า “เราเชื่อว่ากลุ่มฐานแฟนคลับมีพฤติกรรมที่สามารถขยาย และส่งต่อกระแสความต้องการในสินค้าต่อแฟนคลับอื่นๆ ในคอมมิวนิตี รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ในตลาดรวมมากยิ่งขึ้น POPS NFT จะทำหน้าที่สื่อสารกับกลุ่มฐานแฟนคลับ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง หลังจากนั้นเราจึงขยายการสื่อสารไปในกลุ่มตลาดรวม ด้วยกลยุทธ์การใช้ KOLs และกลุ่ม Micro Influencers”
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้สนับสนุนสามารถเข้าถึงผลงาน NFT ใน POPS NFT ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องคริปโต เพราะ POPS NFT ทำให้ทุกคนซัปพอร์ตผลงานของศิลปินที่ชื่นชอบได้ง่ายๆ เหมือนการช็อปปิงออนไลน์ และจากกลุ่มฐานแฟนคลับของเราค่อนข้างแมส เราจึงอยากให้เขาเข้าถึงผลงานได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจว่ามี NFT ของคนที่เขาชื่นชมได้” อัญชลีกล่าว
โดย POPS NFT ได้พาร์ตเนอร์อย่าง Gameflip ซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลสในด้านเกมมิงชื่อดัง มาเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ดูแลการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ NFT เพื่อสนับสนุนผลงานของครีเอเตอร์
คอลเล็กชัน LGBTQ+ เปิดตัวครั้งแรกใน POP NFT เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 และภายในระยะเวลา 1 เดือนก็ปล่อยผลงาน NFT ไปแล้วถึง 50% จนถึงปัจจุบันมีผลงานถูกจองไปมากกว่า 80% ซึ่งผลงานของครีเอเตอร์บางคนก็ถูกจับจองหมดแล้ว
“ในอนาคต POPS มีแผนในการสร้างสรรค์คอลเล็กชันใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนเหล่าครีเอเตอร์ในเครือข่าย กลุ่มนักแสดง นักเขียนการ์ตูน ผู้ผลิตคอนเทนต์ และคอนเทนต์พาร์ตเนอร์ของเรา ข้อได้เปรียบจากการร่วมงานกับ POPS นี้ จะช่วยทำให้ครีเอเตอร์ในเครือ และนักแสดงที่ร่วมงานกับ POPS จากคอนเทนต์ต่างๆ สนใจมาร่วมสร้างสรรค์งานในโปรเจกต์ POPS NFT มากยิ่งขึ้นในอนาคต” บานิกล่าว
ส่วนการคัดเลือกครีเอเตอร์มาร่วมสร้างสรรค์งานในโปรเจกต์ POPS NFT นั้น บานิบอกว่าไม่ได้เลือกจากครีเอเตอร์ที่มีฐานแฟนคลับเยอะสุด หรือกำลังมาแรง แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม เพราะทุกคนคือ Somebody อย่าง ชัดเจน-วิสุทธิ์ ชาวบางพรม เจ้าของผลงาน NFT ในชื่อ ‘Draw Your Dreams’ และ ฌอน-สิริณัฏฐ์ ชลวิบูลย์ เจ้าของผลงาน NFT ในคอลเล็กชันภาพถ่ายชื่อ ‘Sexiness is All About Your Personality’ ซึ่งทั้งสองคนได้มาบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ และการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ POPS NFT
ชัดเจน-วิสุทธิ์ ชาวบางพรม (Draw Your Dreams)
“เป็นโปรเจกต์ที่เราอยากร่วมงานด้วยมาก ๆ NFT เป็นสิ่งใหม่ในตลาดไทยที่กำลังมาแรง และเรามั่นใจว่า POPS จะก้าวไปอีกขั้นของความเป็น Entertainment ที่ครบวงจร และพอรู้ว่าเป็นคอลเล็กชัน LGBTQ+ ที่แรกในไทย เหมือนเป็นช่องทางให้เราได้นำเสนอมุมมอง และความคิดของตัวเองสู่สังคมผ่านผลงานดิจิทัลอาร์ต ซึ่งผลงาน Draw Your Dreams การสร้างความฝันให้เป็นจริง เดิมทีเป็นผลงานที่ทำร่วมกับ คุณปุ้ย ช่างภาพ L’Officiel ที่นำไปจัดนิทรรศการของเขา เราก็เลยนำมาต่อยอดเพื่อถ่ายทอดเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของแต่ละเพศ และเป็นกระบอกเสียงให้ฉุกคิดเรื่องการสมรสเท่าเทียม แม้เพศชายจะไม่สามารถให้กำเนิดได้ แต่การเป็นเกย์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เราสามารถสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันได้ ด้วยความรัก ความแตกต่าง อย่างเท่าเทียม ในอนาคตอยากจะต่อยอดจากคอนเซปต์นี้ เพื่อนำเสนอเรื่องความเท่าเทียมทางสังคม สำหรับคนที่ได้ครอบครองผลงาน NFT ชิ้นนี้ เราจะเซ็นลายเซ็นแรกให้ ถือว่าเอ็กซ์คลูซีฟมากๆ เพราะจะเป็นลายเซ็นแรกในชีวิตเราด้วย”
ฌอน-สิริณัฏฐ์ ชลวิบูลย์ (Sexiness is All About Your Personality)
“ตอนแรกเรายังไม่ค่อยรู้ว่า NFT คืออะไร แต่เพราะอยากร่วมงานกับ POPS และอยากลองถ่ายทอดความเป็นตัวเราเข้าไปสู่ NFT เลยลองคิดคอนเซปต์งานขึ้นมา ซึ่งผลงานชิ้นนี้เราพยายามจะถ่ายทอดความเป็นตัวตนของเรา แสดงความเซ็กซี่จากตัวตน ไม่ใช่เพียงแค่เปลือกนอก แต่เป็นการนำเสนอความเซ็กซี่จากภายใน ความคิด ผ่านเรือนร่าง มัดกล้าม และความอ่อนไหว ผมเป็นนายแบบและแดนเซอร์อยู่แล้ว เลยเลือกถ่ายทอดผ่านท่วงท่าต่างๆ บางคนอาจมองว่าความเซ็กซี่นั้นคือความยั่วเย้าด้านอารมณ์ทางเพศ แต่สำหรับเราความเซ็กซี่คือวิธีคิดและการมองโลกของแต่ละคน เชื่อว่าทุกคนมีความเซ็กซี่ในตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ส่วนใครที่ได้ครอบครองผลงาน NFT ของเราจะได้กางเกงว่ายน้ำตัวแรกของแบรนด์ CN by Sean ที่ผมออกแบบและทำขึ้นมาเอง”
สำหรับผู้ที่สนใจซัปพอร์ตผลงาน NFT ของเหล่าครีเตอร์ในคอลเล็กชัน LBTGQ+ สามารถเข้าไปชมได้ที่ https://pops.tv/th/nft หรือติดตามข่าวสารได้ที่ FB: @POPSTVThailand หรือ IG/TikTok/Twitter: @POPSThailand
อ้างอิง: